กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--สมาคมกุ้งตะวันออกไทย
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย เปิดเผยถึงกรณีมีการนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงกุ้งของไทยว่า ผู้ที่ทำให้ฟาร์มกุ้งไทยสะอาดขึ้นคือวอลมาร์ท และทำให้พื้นที่ป่าชายเลนไทยเพิ่มขึ้น ถือเป็นความสำเร็จของวอลมาร์ทเผยแพร่ไปทั่วโลกว่า ทางกลุ่มผู้เลี้ยงกุ้ง โดยสมาคมและชมรมผู้เลี้ยงกุ้งต่างๆ ประกอบด้วย สมาคมกุ้งตะวันออกไทย สมาคมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำไทย และชมรมผู้เลี้ยงกุ้งจังหวัดต่างๆ อีก 7 จังหวัด ได้ร่วมกันทำจดหมายเปิดผนึกถึง อธิบดีกรมประมง ให้พิจารณาตอบโต้ และให้ชาวโลกได้ทราบความจริงในข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับความก้าวหน้า และคุณภาพกุ้งไทยว่า ไม่ใช่มาจาก วอลมาร์ท (Wal Mart) อย่างที่ถูกบิดเบือนคลาดเคลื่อนไปจากความจริงอย่างมาก และนำไปแอบอ้าง เพียงเพื่อหวังประโยชน์ทางธุรกิจ แบบชุบมือเปิบ เพื่อให้เป็นที่ยอมรับและได้รับการชื่นชมยกย่องจากทั่วโลกว่าเป็นผลงานของตนอย่างไร้ยางอาย นำมาซึ่งภาพพจน์ที่ไม่ดีต่ออุตสาหกรรมกุ้งไทย ที่อาจส่งผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมการเพาะเลี้ยงกุ้งของไทย โดยจะเข้ายื่นจดหมายดังกล่าวในวันที่ 23 สิงหาคม ศกนี้
สำหรับข้อมูลที่คลาดเคลื่อนในประเด็นแรก วอลมาร์ทระบุว่า ประเทศไทยใช้เทคโนโลยีการเลี้ยงกุ้งที่ล้าหลัง ต่ำกว่ามาตรฐาน และพยายามสื่อว่า เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายย่อย ร้อยละ 80 ยังมีการใช้ยาปฏิชีวนะ (Antibiotics) อยู่ เหมือนตบหน้า ไม่ให้เกียรติกรมประมง ทั้งที่ในความเป็นจริง การเพาะเลี้ยงกุ้งทะเลของไทยได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีที่ผ่านมา จนเป็นที่ยอมรับของทั่วโลกว่า กุ้งไทยมีคุณภาพสูง มีความปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ประกอบกับ กรมประมงมีระบบมาตรฐานที่ควบคุมอย่างเข้มงวด ทั้งระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมเพื่อการเพาะเลี้ยงกุ้งอย่างยั่งยืน (CoC) ระบบการเพาะเลี้ยงกุ้งที่ดี (GAP) และยังมีการเลี้ยงในระบบปิด ด้วยวิธีโปรไบโอติกฟาร์มมิ่ง จึงไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาปฏิชีวนะแต่อย่างใด การที่วอลมาร์ทออกมาบอกว่า เป็นผู้ยกระดับมาตรฐานการผลิตกุ้งไทย จึงไม่เป็นความจริง และเป็นไปไม่ได้ เพราะผู้ที่ทำให้กุ้งไทยประสบความสำเร็จและก้าวหน้ามาจนถึงทุกวันนี้ คือ “กรมประมง”
ประเด็นที่สอง มีการอ้างว่า การเพิ่มจำนวนของพื้นที่ป่าชายเลนของไทยนั้น ก็ไม่ใช่ผลงานของวอลมาร์ท การที่พื้นที่ป่าชายเลนของไทยเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เช่น ปี 2539 ป่าชายเลนมีพื้นที่ 1,046,043 ไร่ ปี 2543 เพิ่มขึ้นเป็น 1,525,997 ไร่ (เพิ่มขึ้น 479,954 ไร่ หรือ +ร้อยละ 46) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นผลงานที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจกันอนุรักษ์ รณรงค์ปลูกป่าชายเลนของคนไทย ทั้งพี่น้องเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งไทย ชมรมผู้เลี้ยงกุ้ง สถาบันการศึกษา และองค์กรต่างๆ ในประเทศ ที่ตระหนักเห็นถึงความสำคัญของระบบนิเวศป่าชายเลน และดำเนินกิจกรรมดังกล่าวมาโดยตลอด เป็นเวลานานเกือบ 20 ปี ที่สำคัญการเลี้ยงกุ้งทะเลแบบพัฒนาของไทย ถือเป็นระบบที่เป็นมิตรกับป่าชายเลนมากที่สุด เมื่อเทียบกับระบบการเลี้ยงต่างๆของประเทศผู้ผลิตกุ้งโลก
นอกจากนี้ การให้ข้อมูลที่ทำให้เข้าใจว่า มีกลุ่มบริษัทที่ค้าขายกับวอลมาร์ท นำมาตรฐานเข้ามาใช้ในการเลี้ยงกุ้งที่จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้การเลี้ยงกุ้งของไทยประสบความสำเร็จ และสะอาดขึ้นนั้น กรมประมง เกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งและส่วนเกี่ยวข้อง ต่างก็ทราบดีว่าไม่เป็นความจริง และการอ้างว่ามีการใช้เงินจำนวน 2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อซื้อฟาร์มกุ้ง 150 ฟาร์ม โดยใช้เงินเพียงฟาร์มละ 13,400 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 455,000 บาทนั้น ยิ่งไม่ถูกต้อง และไม่น่าจะเป็นไปได้ ที่เป็นไปได้คือซื้อบ่อกุ้งได้เพียง 150 บ่อเท่านั้น นับเป็นความพยายามบิดเบือนข้อมูลสร้างภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์ส่วนตนที่น่ารังเกียจ ทั้งที่ความจริงแล้ว ความสัมพันธ์ของกลุ่มบริษัทดังกล่าวกับผู้เลี้ยงกุ้งจำนวนมากของไทยมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีเลย นายบรรจง กล่าว
“การเข้ายื่นจดหมายเปิดผนึก ให้ท่านอธิบดีกรมประมง เพื่อให้พิจารณาดำเนินการตอบโต้ หรืออื่นๆ เพื่อสร้างความถูกต้องให้เกิดขึ้น และนำมาซึ่งความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของการเพาะเลี้ยงกุ้งไทยสืบไป” นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวทิ้งท้าย
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ นายกสมาคมกุ้งตะวันออกไทย (โทร. 081-6366362)