สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมการภายใต้ระเบียบ REACH ของอียู

ข่าวทั่วไป Monday August 6, 2007 09:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--6 ส.ค.--กรมการค้าต่างประเทศ
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่าตามที่อียูได้ประกาศบังคับใช้ระเบียบควบคุมสารเคมีหรือระเบียบ REACH ตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2550 โดยสาระสำคัญประกอบด้วยการจดทะเบียนสารเคมี การประเมินความเป็นอันตรายของสาร และการขออนุญาตผลิต/ จำหน่ายสารเคมี ซึ่งภายใต้หัวข้อ TITLE II Registration of Substance, CHAPTER I General Obligation to register and information requirements Article 5 ระบุว่า No Data, No Market ดังนั้น
สารเคมีที่ผลิตและจำหน่ายในอียูจะต้องเป็นสารที่ได้รับการจดทะเบียนในอียูก่อนเท่านั้น เพื่อให้สามารถส่งออกสารเคมีหรือสินค้าที่มีสารเคมีเป็นส่วนประกอบในการผลิตไปอียูได้ สิ่งที่ผู้ประกอบการไทยต้องเตรียมการคือ จัดหาตัวแทน หรือ Only Representative ในอียู ที่รู้เรื่องสารเคมีและกระบวนการตามระเบียบ REACH จัดเตรียมข้อมูลความเป็นอันตรายของสารที่ใช้หรือผลิต ข้อมูลการจำแนกประเภทสารเคมี จัดทำรายงานความปลอดภัยของสารเคมี จัดทำแฟ้มทางเทคนิครวมทั้งวิเคราะห์องค์ประกอบของสารเคมี ทั้งนี้ เพื่อจัดส่งข้อมูลต่างๆ ดังกล่าวให้ตัวแทนนำไปดำเนินการจดทะเบียน อย่างไรก็ดี ในเรื่องการจดทะเบียนสารเคมีที่มีปริมาณ 1-100 ตันต่อปีต่อราย ผู้ประกอบการยังมีเวลาดำเนินการจนถึง 31 พฤษภาคม 2561 หรืออีก 11 ปีข้างหน้า และขณะนี้กรมการค้าต่างประเทศอยู่ระหว่างประสานสำนักงานพาณิชย์ในต่างประเทศ ณ กรุงบรัสเซลส์ เพื่อขอความอนุเคราะห์ข้อมูลบัญชีรายชื่อพร้อมช่องทางติดต่อของตัวแทนในอียู
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการยังสามารถศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้จากเอกสารแนวทางหรือคู่มือปฏิบัติตามระเบียบ REACH (Guidance Document) ซึ่งขณะนี้เสร็จสิ้นแล้วบางส่วน ประกอบด้วย RIP (Reach Implement Project) 3.1 การเตรียมเอกสารสำหรับการจดทะเบียน RIP 3.8 สารเคมีในผลิตภัณฑ์ RIP 3.10 การตรวจพิสูจน์และการกำหนดชื่อเรียกสารเคมี RIP 4.1-4.2 และ 4.4 คู่มือสำหรับเจ้าหน้าที่ในประเทศสมาชิกอียู โดย ECHA (European
Chemical Agency) ได้สรุปรวมคู่มือทั้งหมดเผยแพร่ในเว็บไซด์ http://echa.europa.eu/reach_en.html
อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่าภายใต้ระเบียบ REACH ผู้ประกอบการไทยไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงมากนัก เนื่องจากเป็นข้อกำหนดสำหรับผู้ผลิตและผู้นำเข้าของอียู อย่างไรก็ดี ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์และสินค้าที่ใช้สารเคมีเป็นส่วนประกอบในการผลิตและส่งออกไปอียู ควรต้องทราบข้อกำหนดต่างๆ ตามระเบียบ REACH ด้วย โดยจะต้องจัดเตรียมข้อมูลเกี่ยวกับการใช้สารเคมีให้ตัวแทนใน อียูดำเนินการ ทั้งนี้ ในแต่ละปีไทยส่งออกสินค้าเคมีภัณฑ์ไปอียูโดยเฉลี่ยมูลค่า 3,400 ล้านบาท (2547-2549) ใน ปี 2549 ส่งออก 1,700 ล้านบาท ในปี 2550 (มค.-พค.) ส่งออกมูลค่า 3,900 ล้านบาท ขยายตัว 1.3 เท่าเมื่อเทียบกับ ช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ