กรุงเทพฯ--17 เม.ย.--สวทช.
ร้านจำหน่ายเครื่องเงินครบวงจร “วัวลายศิลป์” ค้นพบวิธีลดต้นทุนและลดการนำเข้าเม็ดเงินบริสุทธิ์จากต่างประเทศ โดยการสนับสนุนด้านเทคโนโลยีจากโครงการ iTAP สวทช. ด้วยกระบวนการแยกโลหะเงินออกจากขดลวดที่เป็นของเหลือทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม จนได้เนื้อเงินบริสุทธิ์ถึง 98% คาดในอนาคตอาจพัฒนาสู่อุตสาหกรรมหัตถกรรมเครื่องเงินด้วยการขายเป็นวัตถุดิบ เพื่อลดต้นทุนในกลุ่มเดียวกัน
ปัจจุบันจังหวัดเชียงใหม่มีตลาดเครื่องเงินขนาดใหญ่เกิดขึ้นมากมาย อีกทั้งยังมีการพัฒนาเครื่องเงินในรูปแบบใหม่ที่หลากหลายเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเพิ่มมากขึ้น “ถนนวัวลาย” ชื่อนี้เป็นที่รู้จักกันดีของนักท่องเที่ยวที่ต้องการซื้อเครื่องประดับเงิน เนื่องจากที่นี่เป็นแหล่งผลิตเครื่องเงินคุณภาพเยี่ยมที่มีมาช้านานด้วยการถ่ายทอดการจัดทำจากรุ่นสู่รุ่นมาจนทุกวันนี้
“ร้านวัวลายศิลป์” เป็นหนึ่งในร้านที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องเงินมายาวนานกว่า 50 ปี ด้วยช่างผู้ชำนาญและมีฝีมือ โดยเฉพาะกรอบรูปกับวัสดุที่ใช้ในการผลิตด้วยเงินแท้ 100 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ผลิตภัณฑ์เครื่องเงินของร้านมีความคงทน สวยงาม และเป็นที่รู้จักกันทั้งในและต่างประเทศ
นายสุชาย จันตะศิลป์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด ร้านวัวลายศิลป์ กล่าวว่า ปัจจุบันร้านวัวลายศิลป์มีผลิตภัณฑ์จำหน่าย 2 ประเภท คือ ประเภทเครื่องเงิน ที่รับสั่งทำและจำหน่ายทั้งผลิตภัณฑ์ใหม่และของโบราณ นอกจากนี้ยังมีเครื่องประดับ เช่น สร้อยคอ ต่างหู แหวน กำไลข้อมือ ปิ่นปักผม ฯ พวกเครื่องใช้ อาทิ ขันน้ำ จาน ช้อน ส้อม ถาดผลไม้ แก้วน้ำ กระเป๋า กรอบรูป กล่องบุหรี่ กล่องนามบัตร รวมทั้งของที่ระลึก เช่น รูปนักษัตร์ราศีต่างๆ ตลับนามบัตร ส่วนอีกประเภทหนึ่งคือ แผ่นภาพโลหะ สลักภาพลวดลายที่สวยงาม เช่น ภาพชีวิตช้าง ภาพดอกไม้ ภาพตัวละครในวรรณคดี และจากความน่าเชื่อถือที่ได้สั่งสมมานานทั้งด้านคุณภาพและความสวยงามของผลิตภัณฑ์ ทำให้ร้านวัวลายศิลป์ได้รับรางวัลผลิตภัณฑ์ 5 ดาวระดับภาคเหนือของหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ปี 2546 และรางวัลมาตรฐานการผลิตประจำปี 2546 จากกรมอุตสาหกรรม
สำหรับกระบวนการผลิตเครื่องเงินนั้น ทางร้านได้นำเข้าเม็ดเงินบริสุทธิ์จากประเทศโปแลนด์ในราคากิโลกรัมละประมาณ 14,000-19,000 บาท เพื่อมาทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ จำหน่าย ซึ่งในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมานี้เม็ดเงินบริสุทธิ์ที่นำเข้าจะมีราคาไม่แน่นอนขึ้นลงเร็วมาก ส่งผลให้ราคาสินค้าสูงตามไปด้วย
“กระทั่งมาพบวัตถุดิบที่เป็นขดลวดซึ่งมีส่วนผสมของเงินและดีบุกที่เป็นของเหลือทิ้งอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ในนิคมอุตสาหกรรมจังหวัดลำพูน จึงลองทดสอบนำมาแยกดู ปรากฏว่ามีเนื้อเงินผสมอยู่กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่ยังใช้ไม่ได้ ตีขึ้นรูปแล้วแตก สีไม่เนียน เป็นเกล็ด ไม่สวยงาม และมีสีเหลืองของดีบุกผสมอยู่ จากนั้นได้ทดลองอีกครั้งด้วยวิธีการหลอม แต่ผลที่ออกมาก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ”
จนในที่สุดได้มีโอกาสไปร่วมประชุมที่กระทรวงอุตสาหกรรม ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเจ้าหน้าที่ของ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และตกลงใจเข้าร่วมกับโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้โครงการ “การพัฒนากระบวนการแยกโลหะเงินออกจากของเสียประเภทโลหะผสมเงินและดีบุก” โดยมีเป้าหมายเพื่อพัฒนากระบวนการแยกโลหะเงินออกจากของเสียประเภทโลหะผสมเงินและดีบุก ให้ได้เม็ดโลหะเงินที่มีความบริสุทธิ์มากกว่าร้อยละ 96 โดยน้ำหนัก
“ภายหลังจากที่ตัดสินใจเข้าร่วมกับโครงการiTAP และได้ ผศ.ดร.ธรณินทร์ ไชยเรืองศรี ผู้เชี่ยวชาญจากภาควิชาเคมีอุตสาหกรรม คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มาเป็นที่ปรึกษา ทางผู้เชี่ยวชาญได้ช่วยคิดค้นกระบวนการแยกโลหะเงินมาประมาณ 3-4 วิธี แล้วทดลองปฏิบัติดูจนพบวิธีที่ดีที่สุดทั้งรวดเร็วและประหยัด อีกทั้งได้เงินบริสุทธิ์ถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ถือว่าน่าพอใจอย่างมาก สีที่ได้ก็ใกล้เคียงกับที่เราสั่งนำเข้ามา ขณะที่คุณสมบัติตรงตามความต้องการ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนที่เรารับซื้อมาบวกกับต้นทุนที่ใช้ในการแยก รวมกันแล้วถูกกว่าการนำเข้าอย่างมาก เป็นการช่วยลดต้นทุนการผลิต ที่สำคัญคือเราสามารถควบคุมต้นทุนได้ ปัจจุบันเราใช้เงินบริสุทธิ์ที่แยกได้ตรงนี้มาทดแทนการนำเข้าได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ ส่งผลให้ร้านมีกำไรเพิ่มมากขึ้น”
จากผลสำเร็จในจุดนี้ จึงวางแผนในอนาคตว่าเราจะขอความสนับสนุนจากทางโครงการ iTAP โดยการพัฒนาในเรื่องของเตา ซึ่งจะเปลี่ยนจากเดิมที่เราใช้เตาถ่านมาเป็นเตาแก๊สประหยัดไฟ ที่จะช่วยให้เรามีค่าใช้จ่ายลดลง ประหยัดเวลาและผลิตชิ้นงานได้รวดเร็วกว่าที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ร้านวัวลายศิลป์มีจุดเด่นอยู่ที่การมีผลิตภัณฑ์ขายอย่างครบวงจร ในขณะที่บางร้านไม่มี นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นยังมีลวดลายที่สวยงามซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นลายโบราณ ส่วนในเรื่องของคุณภาพนั้นเราเอาใจใส่เป็นพิเศษ ผลิตภัณฑ์ทุกชิ้นจะผลิตอย่างพิถีพิถัน ประณีต งดงาม ลูกค้าซื้อไปแล้วพึงพอใจ โดยกลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นคนไทยประมาณ 70 เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นลูกค้าต่างชาติที่สั่งซื้อเข้ามาเพื่อนำไปจำหน่ายต่อ และกลุ่มนักท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาซื้อที่ร้านโดยตรง สำหรับยอดขายที่ผ่านมายังขึ้นๆ ลงๆ ขึ้นอยู่กับสภาวะเศรษฐกิจ ในปีที่ผ่านมามีผลประกอบการประมาณ 2-3 ล้านบาท
ด้าน นางสมศรี พุทธานนท์ ที่ปรึกษาเทคโนโลยี โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) สวทช. เครือข่าย ภาคเหนือ กล่าวถึงสาเหตุที่เข้ามาให้การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีว่าทางโครงการเห็นว่าทางร้านวัวลายศิลป์มีแนวคิดที่ดี โดยคิดที่จะนำของเสียจากโรงงานอุตสาหกรรมมาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม ด้วยการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย ซึ่งผลที่ได้นั้นเป็นที่พึงพอใจอย่างมาก สามารถสกัดได้เนื้อเงินบริสุทธิ์มากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ ทั้งยังช่วยลดต้นทุนการผลิต และถ้าในอนาคตสามารถสกัดออกมาได้มากๆ อาจจะขายเป็นวัตถุดิบให้กับอุตสาหกรรมกลุ่มหัตถกรรมเงินด้วยกัน ทำให้ต้นทุนในกลุ่มลดลงอีกด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจผลิตภัณฑ์ของร้านวัวลายศิลป์ สามารถติดต่อได้ที่ 106-110 ถนนวัวลาย ตำบลหายยา อำเภอเมืองจังหวัดเชียงใหม่ 50100 โทรศัพท์ 053-275171 โทรสาร.053-201415
สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจเข้ารับการช่วยเหลือและสนับสนุนจากโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP.) สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สวทช. สำนักงานกลาง (กทม.) หมายเลข 0-2564-8000 หรือ สวทช. เครือข่าย ภาคเหนือ ที่หมายเลข 053-226-264 หรือ ที่เว็บไซต์ www.nstda.or.th และ www.nn.nstda.or.th
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net