วว. จับมือ ปตท. คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันอย่างก้าวกระโดด ด้วยเทคนิคการย้อมสีแห่งแรกของไทย

ข่าวทั่วไป Monday February 14, 2011 10:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--วว. วว. จับมือ ปตท. คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันอย่างก้าวกระโดด ด้วยเทคนิคการย้อมสีแห่งแรกของไทย พร้อมโชว์ความเก๋างานวิจัยสาหร่ายครบวงจรสายการผลิตระดับอุตสาหกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมกับบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โชว์งานวิจัยคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายน้ำมันด้วยเทคนิคการย้อมสีแห่งแรกของไทย ระบุเป็นการวิจัยสาหร่ายผลิตน้ำมันอย่างก้าวกระโดด เพื่อเป็นพลังงานทดแทนในอนาคตรวดเร็วขึ้น พร้อมโชว์ความเก๋าคลังสาหร่ายน้ำจืดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของเอเชีย พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่เพื่อสุขภาพ ช่วยบำบัดน้ำเสียและลดโลกร้อน ครบวงจรสายการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ดร.วีระชัย วีระเมธีกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) เปิดเผยว่า“ตอนนี้เราได้ประสบผลสำเร็จในการใช้เทคนิคย้อมสีไนล์ เรด (Nile Red staining) เพื่อคัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันได้รวดเร็วเป็นแห่งแรกของประเทศไทย โดยปัจจุบันพบว่ามีสาหร่ายสายพันธุ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมของไทยแล้วกว่า 40 สายพันธุ์ และจากนี้จะนำสาหร่ายสายพันธุ์ดังกล่าวมาขยายผลในระบบการเพาะเลี้ยงกลางแจ้งต่อไป ทั้งนี้และทั้งนั้นก็เพื่อวิจัยพัฒนาไปสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์ได้จริง ส่วนปัญหาที่หลายๆ คนเป็นห่วงในการใช้พืชอาหารมาทำพลังงานทดแทนที่ส่งผลทำให้ราคาสินค้าเกษตร เช่น ปาล์ม มันสำปะหลัง อ้อย มีราคาสูงขึ้นนั้น ในการใช้สาหร่ายสำหรับทำพลังงานทดแทนจะไม่กระทบกับราคาสินค้าเกษตรโดยตรง” ดร.กันย์ กังวานสายชล นักวิจัย ฝ่ายวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและเชื้อเพลิงทางเลือก สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี ปตท. และผู้จัดการเครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ วว. คัดเลือกสายพันธุ์สาหร่ายที่ผลิตน้ำมันและพัฒนาการเพาะเลี้ยงในระดับขยายเชิงพาณิชย์กลางแจ้งแล้ว ในส่วนของน้ำมันที่ได้ ปตท. จะนำไปวิเคราะห์คุณสมบัติและพัฒนาออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆตามความเหมาะสมในการใช้งานต่อไป ทั้งนี้ ปตท. สนับสนุนทุนวิจัยจำนวน 140 ล้านบาทในการดำเนินโครงการ ภายใต้การดำเนินงานของ เครือข่ายวิจัยพลังงานจากสาหร่ายขนาดเล็กแห่งประเทศไทย (คพท.) โดยมีระยะเวลาดำเนินงาน 7 ปี (พ.ศ.2551-2558) มีเป้าหมายเชิงพาณิชย์เพื่อให้ต้นทุนของน้ำมันจากสาหร่ายน้อยกว่า 150 เหรียญต่อบาเรล และเป้าหมายเชิงเทคนิคให้สาหร่ายมีผลผลิตสูงกว่า 30 กรัมต่อตารางเมตต่อวัน และมีปริมาณน้ำมันประมาณ 40% หรือสามารถคิดเป็นผลผลิตน้ำมันสาหร่ายประมาณ 6 ตันน้ำมันต่อไร่ต่อปี ไม่รวมผลิตภัณฑ์พลอยได้ จำพวกโปรตีนคุณภาพสูง สารสกัดจำพวกกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย ซึ่งในเบื้องต้นมีการประเมินต้นทุนการผลิต ซึ่งมวลสาหร่ายอยู่ที่ประมาณ 200 บาทต่อกิโลกรัมน้ำหนักแห้ง โดยมีปริมาณน้ำมันที่ 20-30% ของสาหร่ายแห้ง ซึ่งยังคงเป็นต้นทุนการผลิตน้ำมันที่สูงอยู่ นางเกษมศรี หอมชื่น ผู้ว่าการ วว. กล่าวเพิ่มเติมว่า วว. สั่งสมประสบการณ์วิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายมาเป็นเวลากว่า 25 ปี มีคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ติดอันดับ 1 ใน 3 ของเอเชียรองจากประเทศญี่ปุ่นและจีน มีคลังสาหร่ายเก็บรักษาสายพันธุ์สาหร่ายที่แยกจากระบบนิเวศต่างๆ ของประเทศไทยกว่า 1,000 สายพันธุ์ และมีระบบการเพาะเลี้ยงสาหร่ายระดับขยายกลางแจ้งต้นแบบ ตั้งแต่ขนาด 100 — 10,000 ลิตร รวมทั้งมีนักวิชาการและทีมงานที่เชี่ยวชาญซึ่งมีประสบการณ์ในการวิจัยพัฒนาด้านสาหร่าย ทั้งในระดับห้องปฏิบัติการและภาคสนามมากกว่า 25 ปี ทำให้มีข้อได้เปรียบสูงด้านการคัดเลือกหาสายพันธุ์ที่เหมาะสมที่สุดในการต่อยอดงานวิจัยแขนงต่างๆ โดยมีผลงานเป็นรูปธรรมทั้งด้านองค์ความรู้และผลิตภัณฑ์แปรรูปหลากหลายชนิด ซึ่งมีการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาคเอกชนในการนำไปผลิตในเชิงพาณิชย์ อันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างยั่งยืน “วว.ดำเนินการวิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายตามอนุสัญญาระหว่างประเทศต่างๆ และประสบผลสำเร็จในการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายชนิด ได้แก่ 1.อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ ในการเป็นที่ตั้งของคลังสาหร่ายขนาดใหญ่ เพื่อการอนุรักษ์นอกถิ่นกำเนิด และใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน และพัฒนาสาหร่ายมุกหยกเพื่อเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ 2.อนุสัญญาว่าด้วยการต่อต้านการเป็นทะเลทราย โดยการพัฒนาสาหร่ายเป็นผลิตภัณฑ์การเกษตรในรูปแบบปุ๋ยชีวภาพและวัสดุปรับปรุงดิน และ 3.อนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยการผลิตพลังงานจากสาหร่ายด้วยกระบวนการผลิตโดยใช้ของเสีย ได้แก่คาร์บอนไดออกไซด์ น้ำเสีย และการผลิตผลิตภัณฑ์ร่วมเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์” ผู้ว่าการ วว. กล่าว สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผลงานวิจัยและพัฒนาด้านสาหร่ายของ วว. ได้ที่ ศูนย์บริการลูกค้า วว. โทร. 0 2579 3000 หรือที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 ในวันและเวลาราชการ www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ