สื่อดิจิทัลคณิตศาสตร์ประถมศึกษา ช่วยครูสอนวัยซนเรียนคณิตศาสตร์คู่ความสนุก

ข่าวทั่วไป Monday February 14, 2011 14:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--สสวท. สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) โดยสาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา ได้พัฒนาสื่อดิจิทัล ขึ้นมากว่า 50 รายการ เพื่อให้ครูคณิตศาสตร์ระดับประถมศึกษา นำไปใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในห้องเรียน ทำให้การเรียนการสอนมีความน่าสนใจ สนุกสนาน อันจะส่งผลให้นักเรียนเข้าใจเนื้อหาคณิตศาสตร์ที่กำลังเรียนอยู่นั้นมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น สื่อดิจิทัล เรื่อง นาฬิกาจำลอง นำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเวลา การอ่าน และการบอกเวลาได้เป็นอย่างดี ครูสามารถปรับเปลี่ยนเข็มสั้น เข็มยาวได้เองตามความต้องการ และให้นักเรียนบอกเวลาตามที่ครูกำหนด นอกจากนี้ยังสามารถให้นักเรียนออกมาแสดงเวลาตามที่กำหนดให้ก็ได้สื่อดิจิทัล เรื่อง เงิน นำไปใช้จัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องเงิน การอ่าน และการบอกจำนวนเงินครูสามารถกำหนดจำนวนเงินและให้นักเรียนอ่านจำนวนเงินได้ตามต้องการ และสามารถให้นักเรียนออกมาแสดงจำนวนเงินตามที่ครูกำหนดก็ได้ สื่อดิจิทัล เรื่อง วงล้อมหาสนุก สื่อนี้ใช้ประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องความน่าจะเป็น เพื่อให้นักเรียนได้เข้าใจกับคำว่า เกิดขึ้นอย่างแน่นอน อาจจะเกิดขึ้นหรือไม่เกิดขึ้นก็ได้ หรือไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน ครูสามารถให้นักเรียนทำการทดลองจากสื่อตัวนี้ได้โดยไม่เสียเวลาในการจัดกิจกรรมมากนัก ซึ่งจะทำให้นักเรียนได้รับความสนุกสนาน และสนใจที่จะเรียนคณิตศาสตร์มากยิ่งขึ้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 26-27 มกราคม 2554 ที่ผ่านมา สสวท. ได้จัดการประกวดกิจกรรมการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา โดยใช้สื่อดิจิทัล รอบที่ 2 ณ ห้อง Smart Class Room 1 อาคาร 15 ปี สสวท. โดยมีคุณครูคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ที่ผ่านการคัดเลือกจากรอบที่ 1 จำนวน 10 คน มาสาธิตการจัดกิจกรรมการเรียนการรู้ตามแผนการจัดการเรียนรู้ที่คุณครูได้ออกแบบไว้ โดยมีนักเรียนที่ทางคณะกรรมการจัดเตรียมไว้ให้ประมาณ 30 คน เข้ามาเรียนรู้ให้เวลาคุณครูจัดกิจกรรม คนละ 45 นาที เกณฑ์ในการตัดสิน คณะกรรมการพิจารณาจากการสาธิตการสอนได้ตามเนื้อหาและเวลาที่กำหนดไว้ในแผน ฯ เทคนิค วิธีการสอน และความสามารถในการใช้สื่อดิจิทัลของครูผู้สอน ปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้สอนกับผู้เรียน เช่น การสื่อสาร การตั้งคำถามกับผู้เรียน การมีส่วนร่วมของผู้เรียน ผลการจัดกิจกรรมสามารถทำให้ผู้เรียนบรรลุผลตามตัวชี้วัดและจุดประสงค์ที่ตั้งไว้ รวมทั้งการตอบข้อซักถามของกรรมการ สื่อดิจิทัล ที่คุณครูทั้ง 10 คน เลือกมาจัดกิจกรรมเพื่อเข้าประกวด ได้แก่ นาฬิกา การหาพื้นที่ของรูปสี่เหลี่ยมมุมฉาก ลูกคิดครูเชอรี่ ทายทศนิยมสองตำแหน่ง และความสัมพันธ์ระหว่างเศษส่วนกับทศนิยม ซึ่งคุณครูแต่ละท่าน ต่างก็เตรียมกลเม็ด เทคนิค ลูกเล่นต่าง ๆ มาใช้สอนเด็ก ๆ วัยซนอย่างเต็มที่ บางกิจกรรม เด็ก ๆ พากันติดใจ ไม่อยากให้หมดเวลาสอนก็มีผลที่ได้นั้นปรากฏว่า รางวัลชนะเลิศ ไม่มีผู้ได้รับรางวัลนี้ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1นางอำพร วัฒนาพันธุ์ โรงเรียนบ้านทับใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 นางสาวอุทุมพร พรายอินทร์ โรงเรียนวัดทัพหลวง จังหวัดอุทัยธานีรางวัลชมเชย นางกมลวรรณ อู่วิเชียร โรงเรียนบ้านดอนสมบูรณ์ จังหวัดบุรีรัมย์นางนภกัญ ศรีอ่อนหล้า โรงเรียนวัดจันทาราม จังหวัดราชบุรี นางสาวฉันทนา บุญส่ง โรงเรียนบ้านอ่างกระป๋อง จังหวัดตราด นางสาวศิรินทิพย์ คำพุทธ โรงเรียนโพนบกผดุงศาสตร์ จังหวัดสกลนคร นางสาวสุขฤทัย มีสุข โรงเรียนวัดลาดปลาดุก จังหวัดนนทบุรี นางสุวรรณี ศิลาหม่อม โรงเรียนวัดชลธาราสิงเห จังหวัดนราธิวาส นายทศพล ทาวรรณะ โรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย จังหวัดเชียงใหม่ และนางจรรยา เนตรหิน โรงเรียนกลาโหมอุทิศ จังหวัดนนทบุรี นางอำพร วัฒนาพันธุ์ ครูคณิตศาสตร์ ชั้น ป. 2 โรงเรียนบ้านทับใต้ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ ได้ใช้สื่อดิจิทัลของ สสวท. อยู่หลายเรื่อง เมื่อเห็นประกาศรับสมัครเข้าประกวดจึงสนใจที่จะเข้าร่วม ภาคเรียนนี้ นักเรียนต้องเรียนเรื่องนาฬิกาอยู่พอดี จึงได้ส่งเรื่องนี้เข้าประกวด โดยนำแผนเดิมที่เคยมีอยู่แล้วมาปรับปรุงใหม่ แล้วส่งเข้าประกวด เทคนิคการสอนคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา โดยใช้สื่อดิจิทัลของอาจารย์อำพร ก็คือ “เน้นปฏิบัติ ค่อยเป็นค่อยไป” กล่าวคือ สอนทีละน้อย แต่ละครั้งเนื้อหาไม่ต้องมาก พยายามให้นักเรียนปฏิบัติ จะได้ทำได้ สอนทีละเรื่อง เช่น สอนการบอกเวลาเป็นนาฬิกา (ชั่วโมง) ก่อน แล้วค่อยเป็นบอกนาที จากนั้นค่อยบอกเวลาเป็นนาฬิกาและนาทีรวมกัน โดยสอนทีละคาบ ไม่ได้อยู่ในคาบเดียวกัน ส่วนการเตรียมความพร้อมก่อนมาประกวดนั้น ได้ซ้อมกับนักเรียนในชั่วโมงเรียนคณิตศาสตร์ เพื่อทบทวนเนื้อหาอีกครั้ง ประโยชน์ของสื่อดิจิทัลที่ สสวท. จัดทำขึ้นนี้ ทำให้นักเรียนเข้าใจการสอนง่ายขึ้น เพราะเด็ก ๆ ได้ปฏิบัติด้วยตัวเองทุกคน นางจรรยา เนตรหิน ครูคณิตศาสตร์ ชั้น ป. 6 โรงเรียนกลาโหมอุทิศ จังหวัดนนทบุรี รางวัลชมเชย ซึ่งมีเทคนิคแพรวพราว มีการนำเพลง “ตบมือตามโจทย์” ที่แสนจะทันสมัยถูกใจวัยซน ซึ่งได้คิดและผลิตขึ้นมาเอง มาประกอบกิจกรรมการสอนโดยการใช้สื่อดิจิทัล เรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างเศษส่วนกับทศนิยม เรียกรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ จากเด็ก ๆ ได้ตลอดทั้งกิจกรรม คุณครูจรรยา เล่าว่า ตัวเองยังมีใจรักในการสอนคณิตศาสตร์อยู่ ในขณะที่เพื่อน ๆ รุ่นเดียวกันขอเกษียณอายุราชการก่อนกำหนดไปหมดแล้ว เพราะสอนแล้วสนุก มีความสุข สอนแล้วเห็นนักเรียนมีส่วนร่วมและสนุกในการเรียนก็มีความสุขไปด้วย “สื่อดิจิทัลคณิตศาสตร์ประถมศึกษาของ สสวท. ช่วยครูคณิตศาสตร์ได้เยอะ ช่วยลดเวลาทำสื่อการสอน เด็กก็ชอบ แต่ครูต้องศึกษาการใช้โปรแกรม และเตรียมการสอนก่อน ไม่จำเป็นต้องใช้สอนในห้องคอมพิวเตอร์ก็ได้ หากโรงเรียนมีคอมพิวเตอร์จำกัด ก็สามารถใช้สื่อกับเครื่องฉายโปรเจคเตอร์เพียง 1 ตัว และคอมพิวเตอร์ 1 เครื่องก็เพียงพอแล้วสำหรับโรงเรียนที่ขาดแคลนห้องคอมพิวเตอร์” นางสุวรรณี ศิลาหม่อม ครูคณิตศาสตร์ ชั้น ป. 2 โรงเรียนวัดชลธาราสิงเห จังหวัดนราธิวาส รางวัลชมเชย เล่าว่า ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดนี้ เพราะอยากได้รับคำติชมแนะนำจากกรรมการว่ากิจกรรมที่ตนเองนำไปใช้กับนักเรียนนั้นเป็นอย่างไร และที่สำคัญคือ อยากได้เกียรติบัตรจาก สสวท. ที่เลือกนำเสนอสื่อเรื่องลูกคิดครูเชอรี่ ก็เพราะใช้ได้กับเนื้อหา ป. 2 ตนเองนั้นเป็นแกนนำของเขตพื้นที่การศึกษาเรื่องคณิตศาสตร์อยู่แล้ว จะนำเอาเทคนิคที่ได้ไปขยายผลต่อให้ครูคณิตศาสตร์ 118 โรงเรียนในเขตพื้นที่การศึกษาที่ตนเองสังกัดอยู่ต่อไป “ตนเองนั้น มีความสนใจเป็นอย่างยิ่งในการนำสื่อต่าง ๆ ไปใช้ประกอบการสอนอย่างหลากหลาย และได้ทำสื่อการสอนเองด้วย โดยใช้วัสดุในท้องถิ่นที่หาง่าย ถ้าหากได้ไปร่วมการอบรมหรือประชุมวิชาการที่ใด ก็มักจะนำความรู้ที่ได้ไปดัดแปลงผลิตสื่อให้เหมาะสมกับเด็ก ๆ ในโรงเรียนท้องถิ่นของตนอยู่เสมอ ซึ่งมองเห็นว่าสื่อดิจิทัลที่ สสวท. ผลิตขึ้นนั้น มีประโยชน์ทุกเรื่อง และสามารถนำไปใช้ประกอบกิจกรรมการเรียนการสอนที่โรงเรียนได้เป็นอย่างดี” ในการใช้สื่อดิจิทัลคณิตศาสตร์ประถมศึกษาของ สสวท. นั้น อาจารย์สมเกียรติ เพ็ญทอง นักวิชาการสาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. กล่าวว่า “การใช้สื่อดิจิทัล มีวิธีการใช้ที่หลากหลาย ตามความสะดวก และตามสภาพของทรัพยากรที่มีอยู่ คือ สามารถนำไปใช้ได้ทั้ง การสาธิตผ่านจอใหญ่ ให้ผู้เรียนทั้งชั้นเรียนรู้พร้อมกัน หรือผู้สอนและผู้เรียนใช้คอมพิวเตอร์คนละเครื่อง หรือผู้เรียนใช้สื่อดิจิทัลเองที่บ้านหรือที่โรงเรียน” ผู้สนใจสื่อดิจิทัลคณิตศาสตร์ประถมศึกษาของ สสวท. ลองเข้าไปที่เว็บไซต์ สสวท. www.ipst.ac.thและเข้าไปในส่วนของสาขาคณิตศาสตร์ประถมศึกษา เลือกเมนูสื่อการสอนมีสื่อดิจิทัลหลายเรื่องให้ได้นำไปทดลองใช้ เมื่อทดลองใช้แล้วได้ผลเป็นประการใด แจ้งมาให้ สสวท. ทราบได้ทางอีเมล์ spent@ipst.ac.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ