กรุงเทพฯ--1 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานขณะนี้มี 12 จังหวัดได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง เบื้องต้นสั่งการหน่วยงานในสังกัด และประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยด่วนแล้ว
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ขณะนี้สถานการณ์ภัยแล้งได้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ หลายจังหวัด ทำให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก โดยระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2549 ถึงวันที่ 31 มกราคม 2550 กรมป้องกันฯได้สำรวจ พบว่ามีพื้นที่ประสบภัยแล้ง 12 จังหวัด 99 อำเภอ 15 กิ่งอำเภอ 689 ตำบล 5,959 หมู่บ้าน ได้แก่ กำแพงเพชร สุโขทัย ลำปาง แพร่ ตาก ขอนแก่น หนองคาย มุกดาหาร อำนาจเจริญ หนองบัวลำภู บุรีรัมย์ และสระแก้ว ราษฎรได้รับความเดือดร้อน จำนวน 2,619,420 คน 574,082 ครัวเรือน พื้นที่ทางการเกษตรได้รับผลกระทบ 214,615 ไร่
สำหรับการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง กรมป้องกันฯได้สั่งการหน่วยงานในสังกัดติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมประสานไปยังจังหวัดและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนโดยขณะนี้กรมป้องกันฯได้ร่วมกับหน่วยงานต่างๆ จัดหาน้ำเพื่อการเกษตรพร้อมสนับสนุนเครื่องสูบน้ำ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในพื้นที่เพาะปลูก 255 เครื่อง และเพื่อการบริโภคในหมู่บ้านต่างๆ 11 เครื่อง สร้างทำนบ/ฝายเก็บกักน้ำ(ชั่วคราว) 1,901 แห่ง และขุดลอกแหล่งน้ำ 97 แห่ง รวมทั้งแจกจ่ายน้ำเพื่ออุปโภค/บริโภค จำนวน 16,200,500 ลิตร รวมใช้งบประมาณในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งไปแล้ว จำนวน 60,212,414 บาท นอกจากนี้ กรมป้องกันฯได้ประสานงานให้ทุกจังหวัด จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งปี 2550 ในระดับจังหวัด/อำเภอ/ กิ่งอำเภอ พร้อมดำเนินมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภัยในช่วงมีนาคม — พฤษภาคม 2550 โดยตั้งศูนย์แจกจ่ายน้ำประจำหมู่บ้าน แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการน้ำระดับจังหวัด พร้อมทั้งเชิญชวนภาคเอกชนขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณประโยชน์ที่ตื้นเขิน ดำเนินการปลูกพืชตามแผนการเพาะปลูกพืชในฤดูแล้งปี 2550 ประสานงานสำนักฝนหลวงเร่งปฏิบัติการฝนหลวงทันทีเมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย จัดทำโครงการฝึกอบรมส่งเสริมอาชีพ ระยะสั้น แจ้งเตือนประชาชนให้ระมัดระวังป้องกันโรคที่เกิดช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งประสานให้กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดและฝ่ายปกครองกำหนดมาตรการป้องกันและปราบปรามโจรผู้ร้ายในฤดูแล้ง และดึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วม ดำเนินตามมาตรการเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาภัยแล้งที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ได้แก่ จัดทำบัญชีหมู่บ้านและชุมชนเสี่ยงภัยแล้ง จัดทำแผนเฉพาะกิจและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง และให้จังหวัดพิจารณาจัดตั้งงบประมาณรายจ่ายให้เพียงพอต่อการเผชิญเหตุสาธารณภัยที่อาจจะเกิดขึ้น รวมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนใช้น้ำอย่างประหยัดและสำรองน้ำเพื่อให้มีน้ำใช้เพียงพอตลอดช่วงฤดูแล้ง ทั้งนี้หากพื้นที่ใดประสบปัญหาภัยแล้ง สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนสาธารณภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานและ ให้การช่วยเหลือโดยด่วนต่อไป