กรุงเทพฯ--14 ก.พ.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันประจำสัปดาห์นี้ ระบุว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องจากสัปดาห์ก่อนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 96.70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับตัวลดลง 0.40 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลงประมาณ 4.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้เมื่อวันศุกร์ที่ 11 ก.พ. 54 ราคาน้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน และดีเซล ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.20-1.00 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล จากข่าวประธานาธิบดีอียิปต์นาย Hosni Mubarak ลาออกจากตำแหน่งเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ทำให้ผู้ค้าน้ำมันคลายกังวลต่อเหตุการณ์ไม่สงบซึ่งอาจส่งผลให้ปริมาณน้ำมันตึงตัว ประกอบกับกลุ่ม OPEC ผลิตน้ำมันในเดือน ม.ค. 54 เพิ่มขึ้นประมาณ 400,000 บาร์เรลต่อวันจากเดือน ธ.ค. 53 อยู่ที่ระดับ 29.72 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบ 2 ปี และปริมาณสำรองน้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน และดีเซลเชิงพาณิชย์ของสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 4 ก.พ. 54 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนทุกชนิด เช่นเดียวกับปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินและดีเซลของสิงคโปร์สัปดาห์ล่าสุดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำนักวิเคราะห์ที่สำคัญของโลก อาทิ International Energy Agency, Energy Information Administration และ OPEC คาดการณ์ความต้องการใช้น้ำมันในปี 2554 จะเพิ่มขึ้นจากปี 2553 ปริมาณ 1.4-1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายใหม่ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 5 ก.พ. 54 ปรับตัวลดลง 36,000 ราย สู่ระดับ 383,000 ราย ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือน ก.ค. 51 และตลาดหุ้น Dow Jones ของสหรัฐฯ ปิดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 43.97 จุด หรือ 0.36% มาอยู่ที่ 12,273.26 จุด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันจะไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนมากนักโดยมีความเป็นไปได้ที่จะอ่อนตัวลงเล็กน้อยเนื่องจากความวิตกต่อสถานการณ์ตึงเครียดในอียิปต์คลี่คลาย กอปรกับคาดการณ์อากาศในยุโรป และสหรัฐฯ จะอบอุ่นขึ้น อย่างไรก็ดีให้ติดตามดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะรายงานในสัปดาห์นี้ เช่น ดัชนีราคาผู้บริโภค และดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตในเดือน ม.ค. 54 ของสหรัฐฯ และจีน รวมถึงยอดค้าปลีกของอังกฤษ และดัชนีอุตสาหกรรมการผลิตของสหภาพยุโรปในเดือน ธ.ค. 53 ล่าสุดกระทรวงเศรษฐกิจเยอรมนี รายงานว่าผลผลิตภาคอุตสาหกรรมของเยอรมนีในเดือน ธ.ค. 53 หดตัวลง 1.5% จากเดือนก่อน โดยลดลงต่อเนื่องจากเดือน พ.ย. 53 ที่หดตัวลง 0.6% ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์/อุปทานน้ำมัน และกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา