กพร.จับมือมูลนิธิอุตฯเครื่องนุ่งห่ม ปั้น 2 หลักสูตร หวังสร้างฐานการผลิตเครื่องนุ่งห่มแน่นปึ้ก !!!

ข่าวทั่วไป Tuesday February 15, 2011 13:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--กระทรวงแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ร่วมกับ มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย ยกระดับแรงงานสายการผลิต 1 คนทำงานได้หลายทักษะ นำร่อง 13 จังหวัด เชื่อช่วยสร้างผลิตภาพ ลดต้นทุน เพิ่มรายได้ นายนคร ศิลปอาชา อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน เผยในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือ โครงการพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มผลิตภาพแรงงาน ในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม ระหว่าง กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กับ มูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยว่า อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มเป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญ ต่อเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศปีละหลายแสนล้านบาทในรูปของการส่งออก แต่ในความเป็นจริงอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทยกลับประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานในระดับกึ่งฝีมือเป็นอย่างมาก ซึ่งการพัฒนาศักยภาพแรงงานกึ่งฝีมือให้เป็นสามารถปฏิบัติงานได้มากกว่า 1 ทักษะ(Multi skills) จะช่วยลดขั้นตอนในการทำงาน ลดต้นทุนในการผลิต เพิ่มผลิตภาพแรงงาน สร้างแรงจูงใจในการทำงานให้กับพนักงาน ทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น ด้านนายสุชาติ จันทรานาคราช ประธานกรรมการบริหารมูลนิธิพัฒนาอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวว่า เพราะการแข่งขันที่สูงขึ้นทำให้ลูกค้าต่างคาดหวังกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งจากการวิเคราะห์ความต้องการแรงงานของอุตสาหกรรม สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มพบว่า ความต้องการแรงงานมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี การพัฒนาศักยภาพแรงงานให้สามารถปฏิบัติงานได้มากกว่า 1 ทักษะ (Multi skills) จะส่งผลให้ไลน์การผลิตดำเนินไปอย่างต่อเนื่องเป็นระบบ ไม่สะดุดกลางครัน ยอดการผลิตเพิ่มสูงขึ้นและประหยัดเวลามากขึ้น ซึ่งผลดีจะส่งต่อทั้งเจ้าของกิจการ ตัวสินค้า และพนักงาน นายนคร เพิ่มเติมว่า เราทั้ง 2 หน่วยงานได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม 2 หลักสูตร คือ หลักสูตรการบริหารการเปลี่ยนแปลง และหลักสูตรการบริหารโครงการเพื่อมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ โดยมีเป้าหมายอยู่ที่ 1,800 คน จากสถานประกอบการ 36 แห่ง ในพื้นที่จังหวัดกรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร นครปฐม นครราชสีมา ขอนแก่น อุบลราชธานี ลพบุรี ชัยภูมิ หนองบัวลำภู และเชียงใหม่ ซึ่งโครงการดังกล่าวจะสามารถช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานของอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มได้อย่างยั่งยืน ข่าวโดย : ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 022454035 ฝ่ายประชาสัมพันธ์ กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน กระทรวงแรงงาน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ