กรุงเทพฯ--15 ก.พ.--พม.
เมื่อวันที่ ๑๔ ก.พ.๕๔ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พร้อมด้วยผู้บริหารกระทรวง สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรปราการ เดินทางไปรับตัวเด็กหญิงอนุวรรณ สังข์ทอง (น้องปูเป้) อายุ ๑ ปี ๕ เดือน อาศัยอยู่บ้านเลขที่ ๑๙๘ หมู่ ๓ ตำบลบางปูใหม่ อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งมีอาการผิดปกติแต่แรกเกิด ผิวหนังหยาบกร้านลอกเป็นแผ่น ลักษณะคล้ายเด็กดักแด้ มารักษาตัวที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กรุงเทพฯ โดยรมว.พม.กล่าวว่า หลังทราบข่าวว่า มีเด็กป่วยเป็นโรคดักแด้อีกราย อยู่ที่จังหวัดสมุทรปราการ จึงได้มอบหมายให้พัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดสมุทรปราการ ไปตรวจสอบ พบว่า เด็กป่วยเป็นโรคพันธุกรรมเกี่ยวกับยีนส์ด้อยของบิดามารดา ซึ่งแฝงอยู่ จึงทำให้ลักษณะแขน ขา ไม่สามารถเหยียดตึง ดวงตาเบิกโพรง ผิวหนังลอกตามร่างกาย ปรากฏเป็นบาดแผลหลายแห่ง โดยเมื่อวาน (๑๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔) ได้เดินทางลงไปเยี่ยมเยียนให้กำลังใจครอบครัว และร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ และหน่วยงานเอกชน มอบเงินสงเคราะห์ครอบครัว และเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับเด็ก รวมจำนวน ๒๘,๐๐๐ บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครอบครัว และยังประสานทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ให้ช่วยรับเข้ารักษาอาการ เช่นเดียวกับด.ช.แตงโม ซึ่งมีอาการเป็นโรคเด็กดักแด้เช่นเดียวกัน และเข้ารับการรักษาไปแล้วก่อนหน้านั้น
นายอิสสระ กล่าวต่อว่า หลังประสานกับทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ได้แล้ว ในวันนี้ จึงได้เดินทางมารับตัวด.ญ.ปูเป้ โดยระหว่างทางได้รับการประสานว่า ทูลกระหม่อมหญิงจะทรงรับไว้เป็นคนไข้ในพระอนุเคราะห์เช่นเดียวกับ ด.ช.แตงโม จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดี และต้องขอบคุณสื่อมวลชนที่ช่วยนำเสนอข่าว จนเด็กได้รับการช่วยเหลือ ทั้งนี้ อยากฝากว่า หากพบเด็กที่มีอาการแบบเดียวกันนี้ ไม่ควรรักษาด้วยตนเอง แต่ควรให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางทำการรักษา โดยสามารถติดต่อมาได้ที่ ๑๓๐๐ ศูนย์ประชาบดี สายด่วนช่วยคุณได้
ด้านศาสตราจารย์แพทย์หญิงศิริวรรณ วณานุกูล หัวหน้าหน่วยตจวิทยา ฝ่ายกุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า โรคดักแด้นี้ หรือในทางการแพทย์เรียกว่า Harlequin ichthyosis เกิดจากความผิดปกติของยีนส์ จึงทำให้การสร้างเซลล์ผิวหนังผิดปกติ โดยมีระดับความรุนแรงต่างกัน สามารถพบได้ทั้งในเพศหญิงและเพศชาย ซึ่งการตรวจรักษาตั้งแต่ในครรภ์นั้นทำได้ยาก จะรู้ได้เฉพาะเมื่อมีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นโรคนี้ ก็จะมีความเสี่ยงสูง ในกรณีด.ญ.ปูเป้ มีอาการรุนแรงน้อยกว่า ด.ช.แตงโม ในเบื้องต้นพบการติดเชื้อ โดยจะให้การรักษาโดยยารับประทานและทาครีมทางผิวหนังเช่นเดียวกัน และจะได้ติดต่อผู้เชี่ยวชาญด้านพันธุศาสตร์เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับอาการนี้ต่อไป.