ยาคุมฉุกเฉิน “ป้องกันการตั้งครรภ์ แต่ไม่ได้ป้องกันเอดส์” สมาคมเภสัชฯเตือนหากใช้พร่ำเพรื่อ มีอันตรายกว่าที่คิด

ข่าวทั่วไป Wednesday February 16, 2011 09:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล สมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เป็นห่วงวัยรุ่นไทย นิยมกินยาคุมฉุกเฉินแบบพร่ำเพรื่อ ชี้หากนำมาใช้ผิดๆ อันตรายกว่าที่คิด เพราะยาคุมฉุกเฉินแค่ช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ ไม่ได้มีฤทธิ์ป้องกันเอดส์หรือโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์อย่างที่หลายคนเข้าใจผิด และละเลยการใช้ถุงยางอนามัย ทำให้เสี่ยงต่อภาวะติดเชื้อเอดส์ และ โรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ เช่น หนองใน ซิฟิลิส ภญ.รศ.ดร.บุษบา จินดาวิจักษณ์ อุปนายกสมาคมเภสัชกรรมโรงพยาบาล (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า ในทุกปี ปัญหาการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์เป็นสาเหตุนำไปสู่การทำแท้ง ที่ไม่ปลอดภัยของผู้หญิงอย่างน้อยจำนวน 20 ล้านคน ซึ่งกว่า 100,000 คนต้องเสียชีวิตลงในที่สุดเพราะเกิดอาการแทรกซ้อนต่างๆ และแม้ว่าหลายหน่วยงานจะมีการรณรงค์ให้ความรู้ถึงอันตรายและข้อจำกัดในการใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แต่ปัจจุบันยังพบว่ามีการใช้ยาคุมฉุกเฉินกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในกลุ่มวัยรุ่นและกลุ่มวัยทำงาน โดยพบว่าส่วนใหญ่ถูกนำไปใช้ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยรุ่น หลายคนนำไปใช้เหมือนยาคุมกำเนิดธรรมดา หรือกินทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าวิตกและอันตรายมาก เพราะยาคุมชนิดนี้ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อคุมกำเนิดแบบฉุกเฉินทันทีทันใด โดยตัวยาสำคัญในยาคุมกำเนิดฉุกเฉินเป็นฮอร์โมนเดี่ยวและเป็นฮอร์โมนเพศหญิง มีชื่อว่า เลโวนอร์เจสเตรล ขนาดเม็ดละ 750 ไมโครกรัม ซึ่งสูงกว่าปริมาณที่มีในยาคุมชนิดธรรมดา 5 เท่า โดยที่ยาคุมชนิดธรรมดาจะเป็นชนิดฮอร์โมนรวม มีฮอร์โมนเพศหญิง 2 ชนิด แต่ละเม็ดมี เลโวนอร์เจสเตรล 150 ไมโครกรัม และ เอสโตรเจน 30 ไมโครกรัม ภญ.รศ.ดร.บุษบา กล่าวเพิ่มเติม การใช้ยาคุมฉุกเฉินควรใช้เฉพาะกรณีฉุกเฉินเท่านั้น หากจำเป็นจริงๆ ก็ไม่ควรใช้เกิน 2-3 ครั้งต่อเดือน สำหรับการใช้เฉพาะในกรณีฉุกเฉินนั้น หมายถึงกรณีมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้วางแผนป้องกันการตั้งครรภ์ไว้ก่อน หรือพลาด เช่น รับประทานยาคุมกำเนิดอยู่แล้วแต่ขาดยาไปอย่างน้อย 2 วัน หรือใช้ถุงยางอนามัยแล้วถุงยางเกิดฉีกขาดหรือมีรูรั่ว อีกกรณีหนึ่งที่มีการนำยาคุมกำเนิดฉุกเฉินมาใช้คือกรณีที่ถูกข่มขืน โดยประสิทธิภาพของยาคุมกำเนิดฉุกเฉินจะดีที่สุดเมื่อรับประทานยา 2 เม็ด และเริ่มเม็ดแรกภายใน 24 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 95% หากช้ากว่านี้แต่ไม่เกิน 48 ชั่วโมง จะป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 85% หรือถ้าช้ากว่านี้อีกแต่ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์จะลดลงเหลือเพียง 75% ดังนั้นหากเริ่มยาเม็ดแรกช้ากว่า 72 ชั่วโมง จะมีโอกาสตั้งครรภ์สูงขึ้นอย่างมาก ส่วนยาเม็ดที่สองให้รับประทานหลังจากยาเม็ดแรก 12 ชั่วโมง หลังจากนั้น 2-3 วันจะมีเลือดคล้ายระดูออกมา ทั้งนี้หากไม่มีเลือดคล้ายระดูภายใน 1 สัปดาห์หลังรับประทานยาเม็ดที่สอง ให้สงสัยว่าตั้งครรภ์ ควรไปพบแพทย์ ไม่ควรรับประทานยาซ้ำเพราะไม่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ การรับประทานยาซ้ำก็ไม่สามารถทำให้แท้ง และไม่ทำอันตรายต่อทารกในครรภ์ สามารถรับประทานยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน 2 เม็ดพร้อมกันเลยก็ได้ ที่สำคัญต้องรับประทานภายใน 72 ชั่วโมงหลังการมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะให้ประสิทธิภาพการคุมกำเนิดได้ 75% เช่นกัน แต่อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้มากกว่าการรับประทานยาครั้งละ 1 เม็ด ห่างกัน 12 ชั่วโมง แต่ไม่ควรรับประทานยาเพียงเม็ดเดียวเพราะให้ประสิทธิภาพต่ำกว่าการรับประทานยา 2 เม็ด ข้อสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ประสิทธิภาพยาคุมกำเนิดจะลดลงได้หากมีโรคประจำตัวและมีการรับประทานยาบางชนิดร่วมด้วย เช่น ยากันชัก ยารักษาวัณโรค ยาปฏิชีวนะ ดังนั้นจึงมีโอกาสตั้งครรภ์ได้มากขึ้นกว่าคนที่ไม่ได้ใช้ยาเหล่านี้ “อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรใช้ยาคุมกำเนิดฉุกเฉินบ่อยๆ ในแต่ละเดือน เพราะจะมีการเสียเลือดมากและเกิดภาวะซีด ซึ่งไม่เหมาะที่จะใช้ในการคุมกำเนิดแบบปกติ หากจะมีเพศสัมพันธ์ก็ควรวางแผนป้องกันการตั้งครรภ์ไว้ก่อน การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดธรรมดาเป็นวิธีที่สะดวกและประสิทธิภาพดี ที่นิยมใช้คือยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ซึ่งมี 2 แบบ แบบหนึ่งเป็นแผง 21 เม็ด อีกแบบเป็นแผง 28 เม็ด มีวิธีใช้คือ รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนวันละเม็ดติดต่อกัน 21 วัน หยุด 7 วัน ปัจจุบันมียาคุมชนิดใหม่ที่ให้รับประทานยาเม็ดฮอร์โมนวันละเม็ดติดต่อกัน 24 วัน หยุด 4 วัน ซึ่งป้องกันการตั้งครรภ์ได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การป้องกันการตั้งครรภ์ยังทำได้โดยให้คุณผู้ชายใช้ถุงยางอนามัย ซึ่งมีข้อดีอีกประการหนึ่งคือ ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น เอดส์ ได้ด้วย อย่างไรก็ตามที่ผ่านมามีหลายคนละเลยการใช้ถุงยางอนามัย เพราะเข้าใจผิดว่า ยาคุมฉุกเฉินจะช่วยป้องกันเอดส์ได้ด้วย อันที่จริงแล้วยาคุมฉุกเฉินไม่ได้มีฤทธิ์ป้องกันเอดส์หรือโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์แต่อย่างใด” ภญ.รศ.ดร.บุษบา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ