สืบตำนานสานประเพณี “บุญลานข้าว” สสส.หนุนใช้วัฒนธรรมพื้นบ้านสร้างสุข

ข่าวทั่วไป Wednesday February 16, 2011 14:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--บรอดคาซท์ วิตามิน บี การทำนาในอดีตชาวนาจะมีพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับขั้นตอนของการทำนาตอนตลอดระยะเวลาของการเพาะปลูก ซึ่งพิธีกรรมและความเชื่อเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตของคนโบราณ ที่ใช้พึ่งพาและประโยชน์จากธรรมชาติด้วยความเคารพ แต่เมื่อแนวคิดระบบการทำการเกษตรสมัยใหม่เริ่มรุกเข้ามา ประเพณีและวัฒนธรรมพื้นบ้านที่เกี่ยวกับการทำนาเริ่มถูกลบเลือน มีการใช้ปุ๋ยใส่ยาจำนวนมหาศาล หวังเพียงว่าจะขายข้าวได้เงินเยอะๆ แต่สุดท้ายแล้วสุดสิ่งที่ผลิดอกออกผลมากที่สุดก็คือดอกเบี้ยจากหนี้สินที่ต้องไปกู้ยืมมาลงทุนเพาะปลูก สิ่งแวดล้อมที่เคยดีก็เสียไป ซ้ำร้ายสุขภาพยังทรุดโทรมจากสารเคมีที่ปนเปื้อนในดินและน้ำ เกษตรกรใน ตำบลป่ามะคาบ อำเภอเมือง จังหวัดพิจิตร ซึ่งมีอาชีพทำนาเป็นหลักต่างก็หนีไม่พ้นปัญหาเหล่านี้ จึงได้รวมตัวกันโดยร่วมกับ องค์การบริหารส่วนตำบลป่ามะคาบ, ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนตำบลป่ามะคาบ, ชมรมเกษตรกรรมธรรมชาติจังหวัดพิจิตร และมูลนิธิร่วมพัฒนาพิจิตร จัดทำ“โครงการดินดี ข้าวดี ชีวีมีสุข” ขึ้นเพื่อฟื้นฟูวัฒนธรรมการทำการเกษตรอย่างเคารพธรรมชาติ ผลิตข้าวอย่างปลอดภัยต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค และถ่ายทอดภูมิปัญญาพื้นบ้านสู่เด็กและเยาวชน โดยได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ล่าสุดได้ร่วมกันจัดกิจกรรมสืบสานตำนานฟื้นประเพณีพื้นบ้าน “บุญลานข้าว” ที่หายสาบสูญไปนานกว่า 30 ปีให้กลับคืนมาอีกครั้ง โดยเรียกชื่อใหม่ว่า “บุญคูณลานข้าว” เพื่อให้กับเกษตรและชาวนารวมถึงเด็กและเยาวชนในพื้นที่เห็นความสำคัญและรู้คุณค่าของการทำนาที่ไม่ทำลายธรรมชาติ นายณรงค์ แฉล้มวงศ์ อายุ 67 ปี ปราชญ์ชาวบ้านและประธานชมรมเกษตรธรรมชาติจังหวัดพิจิตร กล่าวว่า ในอดีตชาวนาจะมีพิธีกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวกับการทำนาทุกขั้นตอนตั้งแต่ก่อนปลูกข้าว ข้าวตั้งท้อง เกี่ยวข้าว เก็บข้าวเข้ายุ้ง ตักข้าวออกไปขาย ซึ่งประเพณีการทำบุญลานข้าว ก็เป็นอีกประเพณีที่เกิดขึ้นภายหลังจากการเก็บเกี่ยวที่แสดงให้เห็นถึงความเคารพในแม่โพสพหรือเคารพในธรรมชาติ “แม่โพสพก็เปรียบเสมือนตัวแทนของธรรมชาติ ถ้าเราไม่เคารพในธรรมชาติ และไปทำร้ายเราก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรจากธรรมชาติ เป็นภูมิปัญญาของคนโบราณที่สอนให้เรารู้จักที่จะเคารพดิน เคารพน้ำ เคารพป่า คนโบราณทำไมทำนาได้เงินแค่เกวียนละเจ็ดร้อยบาทเขาก็ยังมีอยู่กินมีอยู่ได้ แต่ปัจจุบันเกวียนละเป็นหมื่นบาท แต่ทำเท่าไหร่ก็ไม่พอ ยิ่งทำยิ่งจน เพราะการทำนาสมัยใหม่ดูถูกแม่โพสพ คิดว่าทำเพื่อขาย คิดแต่ตัวเลขว่าจะทำอย่างไรให้ได้ผลผลิตออกมาเยอะๆ สุดท้ายก็มีแต่หนี้จากค่าปุ๋ยค่ายาค่าแรง” พ่อณรงค์ระบุ สำหรับพิธีบุญลานข้าวชาวนาจะนำข้าวที่เกี่ยวได้มากองรวมกันไว้กลางลานซึ่งในสมัยก่อนจะใช้ในการนวดข้าว จากนั้นก็จะจัดเตรียมเครื่องเซ่นสังเวยอาทิ หมู ไก่ ผักผลไม้ฯลฯ ด้านหมอขวัญผู้ประกอบพิธีก็จะบอกกล่าวถึงบุญคุณของพระแม่โพสพให้ได้รับรู้ และอัญเชิญเทพเทวดาที่สถิตอยู่ ณ สถานที่ต่างๆ รอบตัวของชาวนา ไม่ว่าจะเป็นในน้ำ ในป่า ในต้นไม้ ในสวรรค์ชั้นฟ้า ในดิน ในบ้านเรือน เพื่อลงมารับเครื่องสังเวยในพิธีบวงสรวง และประสิทธิ์ประสาทพรอวยชัยให้กับผู้เข้าร่วมพิธี นางสาวณัฏฐวี มังคะตะ หัวหน้าโครงการฯ เผยว่าชาวนาในปัจจุบันต่างก็ต้องการที่จะได้ผลผลิตเยอะๆ มุ่งหวังแต่เรื่องเงินเรื่องเศรษฐกิจแต่ลืมว่าการทำนาเป็นอาชีพบุญ เพราะในสมัยโบราณการทำนาจะไม่ฆ่าสัตย์ตัดชีวิต ทำแบบพอกินเหลือจึงขาย หรือใช้เพื่อแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ แล้วชาวนาก็จะมีความเชื่อและถือว่าแม่โพสพเป็นผู้มีประคุณหล่อเลี้ยงชีวิต “แต่พอมีเทคโนโลยีเข้ามาก็ทำให้ประเพณีเหล่านี้ค่อยๆ หายไป วิถีชีวิตก็เปลี่ยนไปด้วยเพราะจากเดิมที่เคยทำเกษตรผสมผสานหลากหลานอย่างพึ่งพาธรรมชาติก็เปลี่ยนมาเป็นเกษตรสมัยใหม่ เน้นปลูกข้าวเพียงอย่างเดียว ต้องการเร่งให้ได้ผลผลิตจำนวนมากๆ ผลเสียที่เห็ดได้ชัดคือ หนี้สินมากขึ้น และความเอื้อเฟื้อแบ่งบันกันน้อยลง ทางทีมงานชาวบ้านก็เลยมานั่งคุยกันว่าน่าจะรื้อฟื้นประเพณีบุญลานข้าว ให้คนในชุมชนของเราได้รู้จักบุญคุณของแผ่นดิน บุญคุณของแม่ธรณี แม่โพสพ แม่คงคา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนได้เห็นและตระหนักถึงคุณค่าของธรรมชาติคุณค่าของแผ่นดินว่า การทำนานอกจากข้าวจะหล่อเลี้ยงชีวิตของเราแล้ว เรายังต้องเคารพธรรมชาติ ใช้ชีวิตร่วมกับธรรมชาติโดยไม่ทำลายซึ่งกันและกัน” นางสาวณัฏฐวีกล่าว คุณครูนิกูล ทองหน้าศาล ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดเนินสมอ กล่าวว่าครอบครัวของตนเองก็มีอาชีพทำนาและได้รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับบุญคุณของพระแม่โพสพจากพ่อและแม่ จึงพานักเรียนมาร่วมงาน เพื่อให้นักเรียนได้รู้จักประเพณีดังกล่าวถือเป็นการร่วมฟื้นฟูและถ่ายทอดภูมิปัญญาวัฒนธรรมข้าว “ทุกวันนี้สิ่งที่ทำมาอย่างต่อเนื่องมานานกว่า 4 ปีคือพยายามปลูกฝังให้นักเรียนทุกคนรู้จักคุณค่าของข้าว ต้องทานข้าวให้หมด อย่าให้เหลือ ตักข้าวมาทานแต่พออิ่ม และก่อนรับประทานอาหารทุกครั้ง จะให้นักเรียนทุกคนร่วมกันท่องบทขอบคุณข้าวโดยพร้อมเพรียงกัน” ผอ.โรงเรียนวัดเนินสมอกล่าว ทางด้านเด็กๆ เข้าร่วมกิจกรรมประเพณีบุญลานข้าวต่างก็กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่าไม่เคยเห็นประเพณีแบบนี้มาก่อน “เมื่อมาร่วมกิจกรรมเห็นแล้วก็รู้สึกว่าทุกคนควรเห็นคุณค่าของข้าวมากขึ้นกว่าเดิม ซึ่งทุกวันนี้ที่โรงเรียนก่อนรับประทาน ก็จะให้นักเรียนทุกคนร่วมกันท่องบทขอบคุณข้าวโดยพร้อมเพรียงกันอาหาร เพื่อให้ทุกคนนึกถึงคุณค่าของข้าว” เด็กหญิงปิยวรรณ แพพ่วง จากโรงเรียนป่ามะคาบบอก เด็กหญิงณัฐพร แซ่อึ้ง จากโรงเรียนป่ามะคาบ กล่าวว่า “รู้สึกดีใจที่ได้มาร่วมโครงการนี้ เพราะเป็นกิจกรรมที่มีคุณค่าอย่างมาก ทำให้ได้รับทราบและเห็นคุณค่าของข้าว รู้ว่าอาชีพทำนาเป็นอาชีพที่เหน็ดเหนื่อยกว่าที่จะได้ข้าวมาให้ทุกคนได้รับประทาน” ด้าน เด็กหญิงอรัญญา ภูมะลา จากโรงเรียนวัดเนินสมอ เล่าว่า “ที่โรงเรียนก็มีการปลูกฝังให้ทุกคนเห็นคุณค่าของข้าว มีการท่องบทขอบคุณข้าวทุกครั้งก่อนรับประทานอาหาร รุ่นพี่ทุกคนจะได้รับมอบหมายจากคุณครูให้คอยบอกกล่าว และสอนลูกน้องให้รู้จักคุณค่าของข้าว” “เราอยากให้คนในตำบลป่ามะคาบหันมาทำการเกษตรแบบพึ่งพาธรรมชาติ พึ่งพาตนเองมากขึ้น และสามารถอยู่ได้ด้วยการลดต้นทุนการผลิต พึ่งพาตัวเอง พึ่งพากันเอง ทั้งเรื่องของปุ๋ย เมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อลดต้นทุนการผลิต โดยนำเอาเรื่องของวัฒนธรรมมาเชื่อมโยงกับการเรียนการสอนของเด็กๆ ในพื้นที่ เป็นเครื่องมือส่งผ่านภูมิปัญญาในการทำการเกษตรไม่ต้องพึ่งพายาและสารเคมี การอนุรักษ์ดินและน้ำไปยังผู้ปกครอง เพื่อปลูกฝังจิตสำนึกให้เด็กรุ่นใหม่เห็นว่าอาชีพทำนานั้นมีความสำคัญและรู้คุณค่าของแผ่นดิน” หัวหน้าโครงการกล่าวสรุป. ขอบพระคุณในความอนุเคราะห์เผยแพร่ข่าวประชาสัมพันธ์ ข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ : เหมวดี พลรัฐ ดวงเนตร ชีวะวิชวาลกุล บริษัท บรอดคาซท์ วิตามิน บี จำกัด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ