กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--มทร.ธัญบุรี
หากพูดถึงพลังงานจากแสงอาทิตย์หลายคนคงนึกถึงแผงโซล่าเซลล์ และหากพูดถึงพลังงานลม ก็แน่นอว่าเราคงนึกถึงกังหันลมกัน ซึ่งทั้งสองอย่างต่างก็เป็นอุปกรณ์ที่ถูกประดิษฐ์ขึ้นสำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานที่ต่างกันออกไป
ทว่า เมื่อไม่นานมานี้ ที่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เปิดเผยว่า ขณะนี้ ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ ได้สร้าง เครื่องต้นแบบโมบายจากพลังงานแบบผสมผสานได้สำเร็จ เครื่องต้นแบบดังกล่าวเป็นผลงานของทีมวิจัยอันประกอบด้วย นายกฤษฎา พรหมพินิจ นายบุญยัง ปลั่งกลาง นายกฤษณ์ชนม์ ภูมิกิตติพิชญ์ และนายสมชัย หิรัญวโรดม
ซึ่งเครื่องต้นแบบดังกล่าวได้รับการเปิดเผยจากผู้วิจัยว่า เครื่องต้นแบบโมบายแบบผสมผสานดังกล่าว นั้นหมายถึงการผสมผสานระหว่าง พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และเครื่องกำเนินดีเซล โดย ผู้วิจัยได้อธิยายเพิ่มเติมว่า การผลิตไฟฟ้าแบบผสมผสาน คือ การรวมแหล่งพลังงานที่ได้จากเซลล์แสงอาทิตย์และผสมกับแหล่งพลังงานทดแทนอื่นๆ โดยมีเครื่องกำเนิดไฟฟ้าเป็นแหล่งจ่ายพลังงานเสริม กล่าวคือ
ในเวลากลางวัน เมื่อพลังงานจากแสงอาทิตย์หรือพลังงานลมเพียงพอต่อความต้องการ ระบบจะจ่ายพลังงานไปยังโหลดโดยตรงและประจุไฟแบตเตอรี่ที่บางเวลา เมื่อต้องการใช้ไฟจากแบตเตอรี่จะแปลงไฟฟ้าผ่านเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าสองทางสำหรับจ่ายพลังงานไฟฟ้ากระแสสลับ
ส่วนเวลากลางคืน ระบบไฮบริดจ์จะจ่ายไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า โดยใช้ไฟฟ้าที่ประจุอยู่ในแบตเตอรี่ และถ้ากังหันลมสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ พลังงานลมจะสามารถจ่ายพลังงานไปยังระบบได้ตลอดเวลา
และถ้าแบตเตอรี่ไม่สามารถจ่ายพลังไปยังโหลด ระบบควบคุมจะสั่งการสตาร์ทเครื่องกำเนิดทันที เพื่อจ่ายพลังงานให้กับโหลดและประจุแบตเตอรี่ที่บางเวลา อย่างไรก็ตาม ถ้าแบตเตอรี่ประจุเต็มและโหลดไม่มีความต้องการ ระบบจะสั่งการให้สวิตช์ตัดแหล่งจ่ายพลังงานลมและเซลล์แสงอาทิตย์ออกจากระบบ เพื่อความปลอดภัยของกังหันลมจึงมีการ Dump Load สำหรับกรณีดังกล่าว
สำหรับต้นแบบโมบาย ที่ประดิษฐ์ขึ้น เครื่องนี้ ประกอบด้วยระบบวัดบันทึกแสดงผลแบบ Real-time สามารถควบคุมการทำงานทั้งหมดแบบอัตโนมัติ ในการออกแบบเครื่องนั้นประกอบด้วย แผงเซลล์แสงอาทิตย์พิกัดขนาด 2kWp ,กังหันลมขนาด 1 kW แบตเตอรี่ขนาด24 kWh และเครื่องกำเนิดไฟฟ้าดีเซลขนาด5 kW หลังจากผ่านมาทดสอบมาอย่างยาวนานแล้วพบว่า ระบบสามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้โหลดได้อย่างต่อเนื่อง แลทำงานได้เสถียรภาพ และสามารถจ่ายพลังงานไปยังโหลดโดยไม่มีช่วงการขาดพลังงาน
สำหรับวัตถุประสงค์ในการผลิต ผู้วิจัยกล่าวว่า เพื่อนำไปใช้ในพื้นที่ห่างไกล ไฟฟ้าเข้าไม่ถึง ดังนั้นเครื่องโมบายไฮบริดจ์ จึงถูกสร้างขึ้นในรูปแบบของห้องคอนเทนเนอร์(Container) ที่สามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก
นับว่าเป็นเทคโนโลยีที่รวมเอาประโยชน์จากพลังงานทั้งสามแหล่งมาไว้ด้วยกันได้อย่างลงตัวทีเดียว และขณะนี้เครื่องต้นแบบโมบายไฮบริดจ์ ขณะนี้เครื่องถูกนำมาใช้ภายในมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี หากผู้ใดสนใจ ก็สามารถติดต่อสอบถามไปได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 086-899-2996