กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ในฐานะเจ้าภาพหลักโครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ ร่วมกับ ? สภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กุล่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมฯ และสถาบันเหล็กและเหล็กกล้าแห่งประเทศไทย โดยการสนับสนุนของมูลนิธิซีเมนต์ไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จัดงานเปิดตัวโครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 17 กุมภาพันธ์ 2554 ที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม ส.อ.ท. 1 สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เดินหน้าลุย!! ภารกิจเพื่อสังคม ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลในจังหวัดภาคใต้ ดึงพื้นที่เสี่ยงภัย จ.ปัตตานี นำร่องโครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สภาอุตสาหกรรมฯ ได้จัดตั้งสายงานเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบ และดูแล ส่งเสริมอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จ.ยะลา จ.ปัตตานี และ จ.นราธิวาส ขึ้น เนื่องด้วยเห็นความสำคัญของพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่นับวันยิ่งมีปัญหาความขัดแย้งที่ทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น นอกจากสายงานเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้ จะมีหน้าที่ในการดูแลภาคอุตสาหกรรมใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้แล้ว อีกหนึ่งภารกิจหลักที่สำคัญไม่น้อยไปกว่ากันคือ ความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่ว่าจะเป็นในด้านของคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่ทรัพยากรธรรมชาติต่างๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตของประชาชนในพื้นที่
และจากปัญหาความเสื่อมโทรมของปะการังในจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้เอง ส.อ.ท. จึงได้จัดโครงการ “บ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้น เนื่องด้วยเห็นปัญหาอันจะส่งผลลบต่อประเทศในสามส่วนหลักด้วยกัน คือ 1.ในแง่ของความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและสิ่งแวดล้อม เพราะปะการังถือได้ว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อชีวิตสัตว์ทะเล ทั้งในแง่ของการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยและการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ตามธรรมชาติ ดังนั้น ปริมาณของสัตว์ทะเลและความหลากหลายทางชีวภาพจึงอิงอยู่กับความอุดมสมบูรณ์ของปะการังโดยตรง เมื่อปะการังเสื่อมโทรมทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลและสิ่งแวดล้อมจึงลดน้อยลงตามไปด้วย 2.ในแง่ของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ปัญหาความเสื่อมโทรมของปะการังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยอ้อมคือ จากการที่ความอุดมสมบูรณ์ของสัตว์น้ำลดลงทำให้ประเทศไทยต้องนำเข้า
สัตว์ทะเลจากต่างประเทศเพื่อตอบสนองความต้องการภายในประเทศเป็นจำนวนมาก ทั้งความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อใช้ในการผลิตและแปรรูป และความต้องการของภาคครัวเรือนเพื่อใช้ในการบริโภค ศักยภาพและการเติบโตอย่างยั่งยืนทางเศรษฐกิจของประเทศจึงมีส่วนเกี่ยวข้องกับความอุดมสมบูรณ์ของปะการังอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และ 3.ในแง่คุณภาพชีวิตของชาวบ้านในท้องที่ เดิมบริเวณภาคใต้ของไทยถือเป็นแหล่งการทำประมงชั้นเลิศของประเทศ เพราะเป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ขนาบด้วยทะเลทั้งสองฝากฝั่ง ทั้งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน ดังนั้นชาวบ้านและผู้อยู่อาศัยบริเวณชายฝั่งทะเลภาคใต้จำนวนมากจึงประกอบอาชีพประมงและมีลักษณะเป็นการทำประมงพื้นบ้าน อย่างไรก็ดี ปัจจุบันปัญหาความเสื่อมโทรมของปะการังทำให้ผลิตภาพการประมงไทยลดลง และส่งผลให้รายได้ของผู้ปะกอบอาชีพประมงลดลงตามมา
นายพยุงศักดิ์ กล่าวว่า ส.อ.ท. เลือกจังหวัดปัตตานี เป็นจังหวัดนำร่องในการดำเนินโครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ เพราะถือเป็นจังหวัดหนึ่งที่กำลังประสบปัญหาทรัพยากรปะการังเสื่อมโทรม และได้รับผลกระทบทั้งสามประการดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งปัญหาความเสื่อมโทรมของปะการังกำลังบั่นทอนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลของจังหวัดปัตตานี บั่นทอนศักยภาพทางเศรษฐกิจ ในฐานะที่เป็นจังหวัดที่มีภาคการประมงเป็นหลักในภาคเกษตรกรรม และบั่นทอนแหล่งรายได้สำคัญในการดำรงชีพของผู้ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านซึ่งส่งผลเสียต่อสวัสดิภาพความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตตามมา แม้ที่ผ่านมาจะมีหน่วยงานต่างๆ เข้ามาจัดทำโครงการปะการังเทียมขึ้นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับการที่จะฟื้นคืนทรัพยากรทางทะเลให้กลับมาอุดมสมบูรณ์เหมือนเก่า
“ส.อ.ท. เป็นอีกหน่วยงานหนึ่งที่ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการเสริมสร้างประสิทธิภาพการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล พร้อมเห็นถึงความสำคัญของการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ของการสร้างปะการังเทียมให้ดียิ่งขึ้น และสิ่งที่สำคัญยิ่งคือ เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ 84 พรรษา สภาอุตสาหกรรมฯ จึงได้ร่วมกับหน่วยงานภาคี จัดทำโครงการ “บ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ” ขึ้น โดยมีรูปแบบเป็นโครงการสร้างและจัดวางปะการังเทียมบริเวณจังหวัดปัตตานีจำนวน 2 แห่ง ได้แก่ บริเวณอำเภอหนองจิก และอำเภอยะหริ่ง ทั้งนี้ โครงการบ้านปลาฯ ของสภาอุตสาหกรรมฯ นี้ได้อาศัยโครงการ KU Fish Home เป็นต้นแบบ ซึ่งโครงการ KU Fish Home นั้นมีการคิดค้นและพัฒนาแนวทางการดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมในท้องถิ่นโดยอาศัยการส่งเสริมให้ชาวบ้านในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมได้โดยสะดวกและยังอาศัยนวัตกรรมใหม่ของการทำปะการังเทียมโดยใช้เหล็กมาประกอบเป็นโครงสร้างปะการังเทียม จึงทำให้ปะการังเทียมมีน้ำหนักเบา จมตัวยาก และสามารถจัดเรียงรูปแบบได้ตามต้องการ นอกจากนี้ โครงการบ้านปลาฯ ยังจัดให้มีการประเมินผลอย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาดำเนินโครงการซึ่งจะช่วยให้เกิดการบริหารจัดการโครงการอย่างมีประสิทธิภาพและสามารถนำไปเป็นต้นแบบพัฒนาต่อยอดโครงการปะการังเทียมในพื้นที่อื่นๆ ได้ต่อไปในอนาคตอีกด้วย”
นายพยุงศักดิ์ ยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า โครงการบ้านปลาเฉลิมพระเกียรติ โดยสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมกับหน่วยงานภาคีต่างๆ นั้น ถือเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ ส.อ.ท. ได้ดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ของ ส.อ.ท. ในส่วนของ “การพัฒนาอุตสาหกรรมให้อยู่ร่วมกับสังคมอย่างยั่งยืน” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์ที่ได้ประกาศถึงเจตนารมณ์ไว้อย่างชัดเจนว่า “อีกหนึ่งภารกิจสำคัญของ ส.อ.ท. นั้น คือการ?รณรงค์ส่งเสริมให้ภาคอุตสาหกรรมดำเนินธุรกิจอยู่ร่วมกับชุมชนอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงความปลอดภัย ความรับผิดชอบต่อสังคม สุขภาพ และสิ่งแวดล้อม” นอกจากนี้ กิจกรรมดังกล่าวยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ภาคใต้ของสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ ที่แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อธรรมชาติและสังคมในการแก้ไขปัญหาความเสื่อมโทรมของปะการังในจังหวัดปัตตานี รวมทั้งเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจ สังคม และคุณภาพชีวิตของคนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น อันจะนำไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติในท้องถิ่นต่อไป
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
โทรศัพท์ 0-2345-1013 , 1017 โทรสาร 0-2345-1296-8