ดัชนีอุตฯ มกราคม 2554 ทะยานรับปัจจัยในประเทศ ยังผวาราคาน้ำมัน การเมืองยืดเยื้อ

ข่าวทั่วไป Thursday February 17, 2011 13:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยผลการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทย (Thai Industries Sentiment Index: TISI) ในเดือนมกราคม 2554 ที่ได้จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,006 ตัวอย่าง ครอบคลุม 39 กลุ่มอุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมฯ ว่าค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวเพิ่มขึ้น อยู่ที่ระดับ 112.7 จากระดับ 109.7 ในเดือนธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นการปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 3 เดือนติดต่อกัน ค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี ค่าดัชนีที่ปรับเพิ่มขึ้นเกิดจากองค์ประกอบของดัชนีด้านยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลดีต่อค่าดัชนีความเชื่อมั่นเดือนมกราคม 2554 ได้แก่ อุปสงค์ภายในประเทศที่เพิ่มขึ้น จากปัจจัยด้านราคาสินค้าเกษตร ส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกร โดยเฉพาะยางพารา นโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร การอ่อนค่าของเงินบาทที่ส่งผลดีต่อภาคการส่งออกและภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ตามผู้ประกอบการยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับราคาพลังงานในอนาคต อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ราคาวัตถุดิบที่อาจส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการ และสถานการณ์ทางการเมืองที่อาจจะยืดเยื้อซึ่งจะกระทบกับเศรษฐกิจและความเชื่อมั่นโดยรวม ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 116.3 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 115.5 ในเดือนธันวาคม 2553 เนื่องจากผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ว่า ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการจะปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมจำแนกตามขนาดของกิจการ ดัชนีความเชื่อมั่นของ อุตสาหกรรมขนาดย่อม และอุตสาหกรรมขนาดกลาง ปรับตัวเพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ปรับตัวลดลง อุตสาหกรรมขนาดย่อม เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 105.4 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 102.6 ในเดือนธันวาคม 2553 โดยองค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ซึ่งการผลิตของอุตสาหกรรมขนาดย่อมส่วนใหญ่เป็นการผลิตเพื่อการจำหน่ายในประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมขนาดย่อมที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมก๊าซ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 110.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.5 ในเดือนธันวาคม 2553 โดยองค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลาง เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 114.6 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.8 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดกลางที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 114.2 ลดลงจากระดับ 116.2 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับลดลงได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 116.7 ปรับตัวลดลงจากระดับ 120.7 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมเหล็ก อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 124.2 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 124.5 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อในต่างประเทศ ยอดขายในต่างประเทศ ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ด้านดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมรายภูมิภาค พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคกลาง ปรับตัวลงเล็กน้อย ขณะที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ ปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนธันวาคม 2553 ภาคกลาง ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 111.1 ปรับตัวลดลงเล็กน้อยจากระดับ 111.4 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ โดยผู้ประกอบการมีความกังวลในเรื่องยอดคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่สั้นลง อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในช่วงขาขึ้น และความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมือง การชุมนุมในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่อาจจะยืดเยื้อ อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่าผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคกลางที่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอ (ต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาฝ้าย) อุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง อุตสาหกรรมรองเท้า อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ (ยอดการส่งออกเครื่องประดับประเภทเงินและทองไปสวิสเซอร์แลนด์ ฮ่องกงและออสเตรเลียลดลง) อุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ (ชิ้นส่วนรถจักรยานยนต์มียอดขายในประเทศลดลง)อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (วัตถุดิบที่ใช้ในการผลิต เช่น เหล็ก ทองแดง ราคาสูงขึ้น) อุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (สภาพอากาศที่เย็น ส่งผลให้ยอดขายในประเทศลดลง) อุตสาหกรรมยา อุตสาหกรรมสมุนไพร อุตสาหกรรมพลังงานทดแทน อุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ขณะเดียวกันดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 118.0 ลดลงจากระดับ 119.2 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต และต้นทุนประกอบการ ภาคเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 116.1 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 111.5 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาวะอุตสาหกรรมในภาคเหนือยังคงขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ประกอบกับอยู่ในช่วงฤดูการท่องเที่ยวและสภาพอากาศที่หนาวเย็นทำให้มีนักท่องเที่ยวไปเที่ยวในภาคเหนือเพิ่มมากขึ้น สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ (ยอดคำสั่งซื้อในประเทศเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ (สารกำจัดศัตรูพืชและปุ๋ยชีวภาพมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 117.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 113.9 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 111.7 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 108.3 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ การอุปโภคบริโภคในภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงขยายตัวได้ดี กำลังซื้อที่มีมากขึ้นของผู้บริโภค จากราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ประกอบกับการค้าชายแดนยังคงขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามค่าดัชนีอยู่ในระดับสูงกว่า 100 แสดงว่า ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมีความเชื่อมั่นในระดับที่ดี สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม (ผลิตภัณฑ์ประเภทเสื้อยืด เสื้อผ้าสำเร็จรูปมียอดขายในประเทศเพิ่มขึ้น) อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ (การส่งออกปูนเม็ดไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม เพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมน้ำตาล (ยอดขายน้ำตาลทรายในประเทศที่เพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 105.4 ปรับตัวลดลงจากระดับ 113.2 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ภาคตะวันออก ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 120.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 118.1 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ภาคการผลิต การบริโภคและภาคการท่องเที่ยว ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคตะวันออกที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงกลั่นปิโตรเลียม (ความต้องการภายในประเทศเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 122.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 118.8 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ และภาคใต้ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 103.9 โดยปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 95.0 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ปัญหาอุทกภัยที่คลี่คลายลง รายได้ภาคเกษตรยังคงขยายตัวได้ดีจากยางพารา ส่งผลต่อความต้องการสินค้าประเภทยานยนต์ที่เพิ่มขึ้น ภาคการท่องเที่ยวยังคงขยายตัวได้ดี สำหรับอุตสาหกรรมสำคัญในภาคใต้ที่ค่าดัชนีปรับเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ (ยอดการส่งออกไม้ยางพาราอบแห้งไปประเทศจีนเพิ่มขึ้น) และอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง (ยอดคำสั่งซื้อยางแผ่นจากจีนเพิ่มขึ้น) ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 108.9 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 104.4 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการจำแนกตามตลาดส่งออก (กลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ กับกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ) พบว่าดัชนีความเชื่อมั่นกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่และกลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศปรับตัวลดลง โดยกลุ่มที่เน้นตลาดในประเทศ เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 112.9 ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 107.8 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการ ?อุตสาหกรรมในกลุ่มนี้ที่ค่าดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม อุตสาหกรรมปูนซีเมนต์ อุตสาหกรรมแก้วและกระจก อุตสาหกรรมเซรามิก อุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้ อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ อุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร อุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมน้ำตาล อุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม อุตสาหกรรมก๊าซ อุตสาหกรรมผู้ผลิตไฟฟ้า อุตสาหกรรมเคมี อุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง อุตสาหกรรมพลาสติก อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมอลูมิเนียม อุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ และอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 117.0 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 116.0 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ และดัชนีความเชื่อมั่นฯ กลุ่มที่เน้นตลาดต่างประเทศ เดือนมกราคม 2554 อยู่ที่ระดับ 112.2 ปรับตัวลดลงจากระดับ 117.0 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิตและผลประกอบการ อุตสาหกรรมสำคัญที่ค่าดัชนีปรับตัวลดลง ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 113.7 ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 113.6 ในเดือนธันวาคม 2553 องค์ประกอบดัชนีคาดการณ์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต และผลประกอบการ สำหรับด้านสภาวะแวดล?อมในการดําเนินกิจการ พบว่า ผู้ประกอบการมีความกังวลในประเด็นผลกระทบจากสถานการณ์ราคาน้ำมันมากที่สุด รองลงมาคือ สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ สถานการณ์ทางการเมือง และอัตราแลกเปลี่ยน ตามลำดับ โดยมีความกังวลเพิ่มขึ้นในปัจจัย สถานการณ์ราคาน้ำมัน สภาวะเศรษฐกิจโลก อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ และสถานการณ์ทางการเมือง และข้อเสนอแนะของผู้ประกอบการ ต่อภาครัฐในเดือนนี้ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเห็นสอดคล้องกัน คือให้ภาครัฐออกมาตรการควบคุมสินค้าด้อยคุณภาพที่นำเข้ามาจากต่างประเทศอย่างจริงจัง เร่งสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง รวมถึงชะลอการปรับราคาก๊าซ LPG ในภาคอุตสาหกรรม อีกทั้งส่งเสริมโครงการขนาดใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยไปลงทุนในต่างประเทศ และส่งเสริมให้เกิดการค้าการลงทุนตามแนวเส้นทางคมนาคมขนส่งในภูมิภาค

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ