กรุงเทพฯ--17 ก.พ.--มายแบรนด์ เอเจนซี่
ตึกแถวในตลาดอัมพวาผ่านแดดฝนและขาดการบูรณะซ่อมแซมมาร่วม 50 ปี เมื่อได้รับการปรับปรุงจะเปิดมุมใหม่ด้านการท่องเที่ยว และเป็นตัวอย่างของการจัดการเมืองท่องเที่ยวยั่งยืนอย่างเป็นระบบด้วยตระหนักถึงคุณค่าการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมให้คงอยู่สืบไป และมีความมุ่งมั่นที่จะมีส่วนร่วมในการพัฒนาและยกระดับคุณค่าของเมืองอัมพวาให้เด่นชัดขึ้น บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงริเริ่มโครงการพัฒนาสีสันแห่งความยั่งยืน เพื่อนำเสนอแนวคิดและแนวทางใหม่ๆในการฟื้นฟู สร้างสรรค์ พัฒนาด้านสถาปัตยกรรมของเมืองอัมพวา ให้มีเอกลักษณ์เหมาะกับวิถีชีวิตชุมชนริมคลอง เพื่อสร้างความภูมิใจให้กับชาวอัมพวา และสร้างความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว
หลังจาก บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้ลงนามความร่วมมือกับเทศบาลตำบลอัมพวา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ชาวชุมชนอัมพวา และเจ้าของอาคาร ได้ร่วมกันดำเนินโครงการฟื้นฟู บรูณะทาสีกลุ่มอาคารพาณิชย์ริมฝั่งคลองอัมพวาด้านเทศบาลเมืองอัมพวา โดยทีโอเอได้สนับสนุนงบประมาณทาสีทั้งสิ้นกว่าสองล้านบาท ทาสีตึกภายนอกรวม 115 คูหา แบ่งเป็น 3 เฟสการดำเนินงาน ในพื้นที่รวมกว่า 14,500 ตารางเมตร ภายใต้หลักวิชาการด้านสถาปัตยกรรมบนรากฐานของประวัติศาสตร์ในพื้นที่
จตุภัทร์ ตั้งคารวคุณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ทีโอเอ เพนท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่าโครงการพัฒนาสีสันแห่งความยั่งยืนใช้งบประมาณในการทาสีให้กับเมืองอัมพวากว่า 2 ล้านบาท ก่อนที่จะเริ่มโครงการได้นำผู้รู้ด้านสถาปัตยกรรม นักออกแบบสี จัดเวทีพูดคุยกับชาวบ้านสอบถามความต้องการ ศึกษาประวัติศาสตร์ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ เพื่อให้การทาสีเมืองครั้งนี้อยู่บนพื้นฐานของความต้องการของชาวบ้านเป็นหลัก ซึ่งความคืบหน้าของการทาสีได้ดำเนินการไปแล้วกว่า 80 เปอร์เซนต์ คาดว่าภายในสิ้นเดือนมกราคมนี้ การทาสีตึกแถวอัมพวาจะเสร็จเรียบร้อย หลังดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว
“ความตั้งใจของทีโอเอในโครงการครั้งนี้ คือต้องการมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและเติมคุณค่าใหม่ๆด้านการท่องเที่ยวให้กับอัมพวา โครงการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัท ในฐานะพลเมืองของประเทศที่ควรจะมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ฟื้นฟูสถานที่สำคัญๆของประเทศ ประกอบกับบริษัทที่เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสี บริษัทมั่นใจว่า สามารถนำความรู้ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ด้านสีมาสนับสนุนการพัฒนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะตลาดน้ำอัมพวามีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์น่าสนใจ ซึ่งหากได้มีการเติมคุณค่าใหม่โดยอาศัยสีเข้าช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวแล้ว จะทำให้เกิดการพัฒนาการท่องเที่ยวที่เรียกว่า Architect-Tourism ซึ่งเป็นที่นิยมในต่างประเทศ และอัมพวาจะเป็นแห่งแรกที่มีการใช้สีมาเพื่อการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวตามแนวคิดข้างต้น” จตุภัทร์ กล่าว
รศ.ปิยานันต์ ประสารราชกิจ ที่ปรึกษาฝ่ายออกแบบสี บริษัท ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) จำกัด ให้ข้อมูลด้านการออกแบบอาคารว่า อาคารตึกแถว 2 ชั้น บริเวณตลาดอัมพวามีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียบง่าย แต่ละคูหาจะมีครีบกั้นด้านข้าง ประตูหน้าบ้านมีทั้งที่เป็นบานเฟี้ยมเหล็กและไม้ บนชั้นสองของอาคารบานหน้าต่างพร้อมช่องแสงจะวางอยู่กลางพื้นที่ของคูหา วงกบและวงกรอบของบานหน้าต่างทำด้วยไม้ ในขณะที่ลูกฟักของหน้าต่างมีทั้งที่เป็นกระจก กระจกสีและลูกฟักไม้
ปัจจุบันสภาพอาคารบริเวณเปลือกนอกไม่ว่าจะเป็นส่วนผิวผนัง หรือวงกบบานประตูหน้าต่างมีสภาพเก่า หลุดร่อน สีเดิมของอาคารทาสีเหลืองอมส้ม สีฟ้า และสีเขียวหลากหลายโทน ทาในแบบต่างคนต่างทา ทำให้สีโดยภายรวมของตึกขาดความกลมกลืนไม่มีโครงสีที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจนของสถานที่ ดังนั้นขั้นตอนของการออกแบบทาสีตึกแถว จึงเริ่มศึกษาประวัติศาสตร์ของพื้นที่ เพื่อนำมากลั่นกรองเป็นโครงสี สรุปชุดสีออกมา 7 ชุด เพื่อให้เจ้าของอาคารและผู้พักอาศัยมีส่วนร่วมในการเลือกสี
รศ.ปิยานันต์ กล่าวว่า จากการระดมความคิดเห็นและศึกษาความเป็นมาของเมืองจึงลงตัวที่ใช้สีเขียวในการทาตึก เพราะสืบค้นข้อมูลทางประวัติศาสตร์ เมืองอัมพวาเป็นสถานที่ประสูติของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาล2 เมื่อวันพุธที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2310 จึงเห็นควรว่าจะใช้สีเขียวในการทาสีตึกเพราะเป็นสีประจำวันประสูติของรัชกาลที่ 2 ขณะเดียวรัชกาลที่ 2ทรงมีบทพระราชนิพนธ์บทละครเรื่องรามเกียรติ์ และตัวเอกของเรื่องคือพระราม ซึ่งมีพระวรกายสีเขียวเช่นกัน สอดคล้องกับชื่อเมือง “อัมพวา”แปลว่า “ป่ามะม่วง “ ทั้งใบและผลของมะม่วงเป็นสีเขียวเช่นกัน นอกจากนี้สีเขียวยังเปล่งแสงระยิบระยับมาจากตัวหิ่งห้อย สัญลักษณ์สำคัญของอัมพวาเช่นกัน
ในทางวิทยาศาสตร์ สีเขียวเป็นสีที่มองเห็นได้ดีกว่าทุกสีแม้ในสภาพที่มีแสงน้อย หรือแสงสลัว กิจกรรมท่องเที่ยวของตลาดอัมพวาคือ “ตลาดน้ำยามเย็น” สีเขียวจึงเป็นสีที่เหมาะสมสำหรับสภาพแสงในยามโพล้เพล้ก่อนจะสิ้นแสงธรรมชาติไปสู่แสงไฟในยามค่ำคืน
นอกจากสีเขียวแล้วตึกแถวบางจุดยังทาสีเหลืองและชมพู เรียกว่าเป็นโครงสีรองจากสีเขียว สีเหลืองเป็นสีดั้งเดิมที่ทาทั่วไปบนอาคาร ช่วยสร้างบรรยากาศในภาพอดีตให้เกิดความงดงามตามมา ส่วนสีชมพูซึ่งมีองค์ประกอบของสีแดงผสมขาว มีที่มาจากสีเปลือกลิ้นจี่ ผลไม้ขึ้นชื่อของอัมพวา อีกทั้งสีชมพูยังใกล้เคียงคือสีของสถาปัตยกรรมเรือนปั้นหยาในสมัยรัชกาลที่ 5 และเรือนไทย โดยเลือกใช้โทนสีให้เหมาะกับอาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ตามหลักของมองเห็นสีจากสายตามนุษย์ การเลือกใช้ชมพูเป็นส่วนน้อยจะช่วยขับสีเขียวให้โดดเด่นขึ้นตามหลักทฤษฎีสีในเรื่องของสีคู่ตรงข้าม
อย่างไรก็ตามในโครงการนอกจากค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ของเมืองเพื่อเลือกสีมาใช้แล้ว ได้มีงานวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ควบคู่ไปด้วย ภายใต้ชื่อ “โครงการวิจัยเรื่องความผิดเพี้ยนของสีอาคารจากสีที่เลือก”
รศ.ปิยานันต์ กล่าวเสริมว่า สืบเนื่องจาก ปัญหาที่พบเห็นบ่อยของการทาสีอาคาร คือสีที่ทาแล้วมีความแตกต่างจากสีเลือก เพราะมีตัวแปรคืออุณหภูมิของสี ทำให้ได้สีเพี้ยน และความสว่างของแหล่งกำเนิดแสง ตลอดจนขนาดของสีที่เปรียบเทียบกัน ดังนั้นจึงได้มีผู้ทำวิจัยเพื่อศึกษาอิทธิพลของตัวแปรต่างๆเหล่านี้ต่อการมองของสี และผลการวิจัยเป็นการยืนยันถึงความผิดเพี้ยนของสีจากการรับรู้ เมื่อตัวแปรข้างต้นมีความเปลี่ยนแปลงไป
วิธีการทำวิจัย ทางทีมวิจัยได้เก็บข้อมูลภาพแสงในแต่ละวันเป็นเวลา 7 วัน โดยการวัดอุณหภูมิสี และความเข้มของแสงทุกชั่วโมง ตั้งแต่ 08.00 -18.00 น. จากนั้นถ่ายภาพเพื่อบันทึกอาคารอัมพวา ที่ต้องการทาสี และนำภาพที่ได้ไปวิเคราะห์หามุมการมอง เพื่อใช้ออกแบบขนาดของแผ่นสีทดสอบ เลือกตัวอย่างสี จำนวน 10 สีในระบบของ NCS แล้วนำมาทาบนแผ่นสีทดสอบ ขนาด 1.5 x1.5 เมตร จากนั้นนำสีไปทดสอบในระยะทางที่กำหนด เพื่อให้มุมรับภาพของแผ่นทดสอบสีเท่ากับมุมรับภาพของอาคารอัมพวา
สรุปผลการทดลองได้แสดงให้เห็นว่าการรับรู้ของสีทาภายนอกอาคารได้มีการเปลี่ยนแปลงไปตามสภาวะสีของแสง อย่างไรก็ตามการเปลี่ยนแปลงสีนั้นเกิดขึ้นไม่มากนักในเวลาเย็น ซึ่งเป็นเวลาที่ผู้คนส่วนใหญ่แวะเวียนมาที่ตลาดน้ำอัมพวา ดังนั้นหากพิจารณาจากการมองเห็นสีในเวลาใช้งานจริงแล้ว อิทธิพลของสีของแสงจึงลดความสำคัญลง จนอาจจะไม่จำเป็นต้องชดเชยสีสำหรับการทาสีอาคารพาณิชย์
ด้าน ร.ท.พัชโรดม อุนสุวรรณ นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม กล่าวว่า เมื่อแยกพื้นที่ของตลาดอัมพวาออกเป็น 2 ส่วน ส่วนพื้นที่ห้องแถวไม้จะไม่ไปแตะต้อง เพราะก่อนหน้านี้บริเวณนั้นเคยได้รับรางวัลอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมจากองค์การยูเนสโก ในปี 2551 ปัจจุบันยังมีสภาพภูมิทัศน์สวยงาม แต่ฝั่งตรงข้ามคลองอัมพวาที่เป็นอาคารพาณิชย์ในปัจจุบันก่อนปี 2496 ที่ตั้งของอาคารพาณิชย์เคยเป็นอาคารไม้เช่นเดียวกัน แต่ถูกไฟไหม้ใหญ่ในปีดังกล่าว จึงมีการสร้างตึกแถวขึ้นในปีถัดมา ปัจจุบันอายุของอาคารร่วม 50 ปีแล้ว สภาพชำรุดทรุดโทรม ซึ่งมีเจ้าของอาคารอยู่ประมาณ 4 ตระกูลเป็นเก่าแก่ในพื้นที่ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ จะจ่ายค่าเช่าค่าเซ้งตามแต่ตกลงกับเจ้าของอาคาร
นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เล่าว่าอาคารพาณิชย์ที่ทรุดโทรมลดทอนความสวยงามของเมืองอัมพวาลงไป ต้องขอบคุณบริษัท ทีโอเอ มาช่วยบูรณะเมืองเพราะระบบราชการไม่สามารถนำเงินงบประมาณไปทาสีให้อาคารที่เป็นของเอกชนได้ แต่ภายใต้ความร่วมมือ ระหว่างบริษัท ทีโอเอ ทำโครงการ “อัมพวาสีสันแห่งความยั่งยืน” ทำให้ในที่สุดเราสามารถใช้สีมาช่วยเปลี่ยนภูมิทัศน์ของอัมพวาจนสำเร็จ ช่วยสร้างสีสันใหม่การท่องเที่ยว ทำให้อาคารพาณิชย์ที่เก่าทรุดโทรม มีเอกลักษณ์มีมากขึ้น สีช่วยมาปรับภูมิทัศน์อาคารที่ยังไม่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ให้มีความน่าสนใจมากขึ้นได้อย่างดี โดยจะเห็นว่า หลังจากทาสี ทั้งๆที่ไม่ต้องสร้างสิ่งก่อสร้างขึ้นมาใหม่ ก็ช่วยทำให้เมืองน่าอยู่น่าเที่ยวขึ้นมาได้ทันที ยิ่งการทาสีครั้งนี้มีความหมายและคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ด้วย ยิ่งทำให้อาคารพาณิชย์เก่านี้มีคุณค่าที่ทุกคนภูมิใจ คือ เป็นเหมือนอาคารนิทรรศการที่ทำหน้าที่บอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของสีแห่งเมืองอัมพวานั่นเอง
“ในต่างประเทศมีหลายแห่งที่นำเอาเรื่องสีมาจัดเมืองทำให้เกิดแหล่งท่องเที่ยว ที่นี่ถือว่าเป็นที่แรกของไทย ที่นำจุดนี้มาขาย เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว สร้างรายได้ให้กับชุมชนมากขึ้น เรามีอาคารที่เป็นองค์ประกอบของสถานที่สวยงาม ก็จะทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นมีคุณค่าและน่าสนใจมากขึ้น ส่วนอาคารไหนที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เราก็ยังคงเก็บรักษาไว้ แต่ในส่วนที่ยังไม่มีคุณค่า ก็สร้างคุณค่าขึ้นมา” นายกเทศมนตรีตำบลอัมพวาให้มุมมอง
“อัมพวา ถือเป็นตัวอย่างชุมชนท่องเที่ยวแห่งแรกที่ใช้สีเข้ามาเปลี่ยนเมือง ซึ่งในอนาคตจะเป็นตัวอย่างให้แหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ได้ใช้ในการพัฒนาเมืองให้มีภูมิทัศน์น่ามอง โดยใช้ “สี” “ความรู้ และ “การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน รัฐ และเอกชน” เป็นตัวขับเคลื่อน ซึ่งหัวใจสำคัญของโครงการนี้ ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะทาสีอะไร ทาสีอย่างไร แต่อยู่ที่ว่า สีที่ทาขึ้นมาใหม่นั้น จะสามารถบอกเล่าเรื่องราว และสร้างคุณค่าให้กับอัมพวาให้มีความยั่งยืนได้อย่างไร ซึ่งสำหรับที่อัมพวาความน่าประทับใจก็คือ การมีส่วนร่วมของชุมชนอย่างแท้จริง ทำให้คนในชุมชนสามารถทำหน้าที่เล่าเรื่องราวที่มาของสี ความเปลี่ยนแปลง และคุณค่าของสี ที่เกิดขี้นบนตึกแต่ละหลังได้อย่างภาคภูมิใจ ซึ่งนี่คือความยั่งยืนที่เราอยากเห็น” คุณจตุภัทร์กล่าวในตอนท้าย
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 028643900 มายแบรนด์ เอเจนซี่ จำกัด