กรุงเทพฯ--13 ก.พ.--ทีวีบูรพา
เมื่อได้ทราบการมีอยู่ของปัญหาการซื้อของแล้วได้ไม่เต็มตาชั่งไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ดังนั้นเพื่อให้ผู้ชมได้มีข้อสังเกตว่า เครื่องชั่งแบบไหนได้มาตรฐาน หรือเครื่องชั่งที่ผ่านการดัดแปลงเสริมแต่งเพื่อการเอารัดเอาเปรียบผู้บริโภคนั้น เขาทำกันอย่างไร? ทีมงานจุดเลี่ยนจึงไปขอความรู้เรื่องนี้ที่สำนักงาน ชั่งตวงวัด กระทรวงพาณิชย์ ก็ได้คำตอบที่น่าสนใจว่าการเอารัดเอาเปรียบนั้นมีทั้งแบบ โกงด้วยเครื่อง และ โกงด้วยคนหรือคนโกง
ซึ่งกลวิธีการโกงในเครื่องชั่งขนาดเล็ก ก็มีตั้งแต่ เปลี่ยนน้ำหนักของถาด ใช้แม่เหล็กถ่วง ใช้วิธีคลาสสิคอย่างการผูกหนังยางแล้วใช้นิ้วดึง บางรายเลือกใช้วิธีการเปิดตัวเครื่องและทำการแก้ไขดัดแปลงภายในเพื่อทำให้สปริงอ่อนตัวลง
สำหรับวิธีโกงตาชั่งขนาดใหญ่ แบบที่พ่อค้าคนกลางใช้ไปซื้อข้าวเปลือกตามบ้านจากเกษตรกร ผู้รับซื้อจะทดสอบให้เกษตรกรดูด้วยตุ้มน้ำหนักซึ่งเห็นว่าเที่ยงตรง แต่พอตอนจะชั่งของจริงๆขึ้นมาพ่อค้าก็จะจับตาชั่งให้เอียงเพื่อให้แผ่นยางที่ใส่ไว้ก่อนหน้านี้เลื่อนไหลมาขวางแกนวัดของตาชั่งไม่ให้กดลงมาได้สุด ในการทดสอบครั้งนี้ทำให้เห็นว่าการซื้อขายผลผลิตในทุก 60 กิโลกรัมนั้น สามารถทำให้เกษตรกรต้องขาดทุนได้ถึง 12 กิโลกรัม ชี้ให้เห็นแล้วว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ
เมื่อเรามีข้อสงสัยว่าความผิดพลาดนั้นอาจมาจากโรงงานที่ผลิต ทีมงานจุดเปลี่ยนจึงเดินทางไปค้นหาคำตอบกันที่โรงงานผลิตตาชั่งสปริงแห่งหนึ่งริมถนนบรมราชชนนี ในเขตอำเภอนครชัยศรี จ.นครปฐม แต่เราก็พบว่า กว่าจะออกมาเป็นเครื่องชั่งที่ได้มาตรฐานต้องผ่านการตรวจสอบอย่างถี่ถ้วนแม่นยำหลายขั้นตอนพลาดไม่ได้ เพราะฉะนั้นเครื่องชั่งที่ไม่ตรงถ้าไม่ใช่เพราะสภาพการใช้งานอย่างหักโหมแล้วก็แน่นอนว่าเกิดจากเจตนาของคนที่จะทำให้เครื่องไม่ตรง
ทีมงานจุดเปลี่ยนจึงร่วมกับผู้ตรวจจากสำนักงานชั่งตวงวัดจะเข้าไปปฏิบัติภารกิจสำคัญ ในตลาดสดแห่งหนึ่งเพื่อพิสูจน์ดูว่าสภาพตาชั่งที่พ่อค้าแม่ค้าใช้ชั่งทำการค้าขายกันอยู่ทุกวันนั้น มีสภาพเป็นอย่างไร และถ้าพบสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควรจริง เจ้าหน้าที่เขาจะมีวิธีจัดการกับผู้ค้าและเครื่องชั่งที่ไม่ได้มาตรฐานเหล่านั้นอย่างไร ติดตามได้ในรายการ จุดเปลี่ยน ห้าทุ่ม เสาร์ที่ 17 กุมภาพันธ์นี้ ทางโมเดิร์นไนน์ ทีวี
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net