นศ.จุฬา ส่งเกม “พระนเรศวร” เข้ารอบชิง Thailand ICT Contest Festival 2007

ข่าวเทคโนโลยี Friday February 2, 2007 09:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--2 ก.พ.--เนคเทค
นศ. จุฬาฯ เจ๋งส่งเกมอิงประวัติศาสตร์สมเด็จพระนเรศวร ชื่อ “ยุทธ: ขุนศึกมหาราช” เข้ารอบชิงชนะเลิศ ในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยครั้งที่ 6” 7-9 กุมภาพันธ์ นี้ ณ ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ ร่วมเชียร์ผลงานซอฟแวร์เข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 131 โปรแกรม จากสถาบันการศึกษา 62 แห่ง
10 ทีมนักศึกษาจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านเข้ารอบสุดท้ายการแข่งขันพัฒนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์แห่งประเทศไทย ครั้งที่ 9 (The Ninth National Software Contest: NSC 2007) ซึ่งเป็น 1 ใน 4 การแข่งขันในงานมหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยครั้งที่ 6 (Thailand ICT Contest Festival 2007) โดยมีทีมที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศจำนวน 131 ทีม จากสถาบันการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยและมัธยมศึกษาจำนวน 62 แห่ง
ในส่วนทีมจากจุฬาฯ มีโครงการที่น่าสนใจเข้ากับกระแสหนังรักชาติ “นเรศวรมหาราช” พอดี ชื่อโปรแกรม “ยุทธ์ : ขุนศึกมหาราช” เป็นผลงานของทีมนักศึกษาชั้นปี 4 คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกอบด้วย นายอานนท์ ตั้งสถิตพร นายขัตติพงษ์ เห็นสุข นายรัฐพล จิตต์ประจง ได้ใช้เวลาร่วมกันพัฒนา โดยมีนายวิษณุ โคตรจรัส เป็นอาจารยที่ปรึกษา
นายอานนท์ ตั้งสถิตพร หนึ่งในทีมผู้พัฒนาโปรแกรม กล่าวว่า ยุทธ : ขุนศึกมหาราช กลุ่มตั้งใจพัฒนาเป็นซอฟแวร์แกมเพื่อความบันเทิงอิงหน้าประวัติศาสตร์ไทยอันเป็นที่น่าจดจำ และยกย่อง โดยเริ่มจากความสนใจของกลุ่ม และร่วมกันศึกษาประวัติศาสตร์ของสมเด็จพระนเรศวร โดยจับประเด็นช่วงเวลาของวีรกรรมในรัชสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราชทรงทำสงครามกู้เอกราช ตัวละครเอกในเกมมีฝ่ายไทย ได้แก่ พระนเรศวรฯ พระราชมนูและพระศรีถมอรัตน์ ฝ่ายพม่า ได้แก่ พระมหาอุปราชา ลักไวทำมูและอนรธาเมงสอ โดยเป็นการผสมผสานการเล่นเกมสงครามในรูปแบบเกมวางแผนตามเวลาจริง(RTS) กับเกมต่อสู้ (Action) เข้าไว้ด้วยกัน และยังสามารถเล่นทั้งสองรูปแบบประสานกันได้ในโหมดผู้เล่นหลายคนได้สูงสุดถึงหกคน (แบ่งเป็นสองทีมสูงสุดทีมละสามคน หัวหน้าทีมจะทำการเล่นในรูปแบบวางแผน และลูกทีมอีกสองคนบังคับตัวละครเข้าต่อสู้ในสนามรบในรูปแบบเกมต่อสู้มุมมองบุคคลที่สาม โดยลูกทีมจะได้รับคำสั่งจากหัวหน้าทีมระหว่างการเล่นร่วมด้วย) ซึ่งการแสดงผลเป็นสามมิติเต็มรูปแบบและให้ความรู้สึกถึงกลิ่นอายแฟนตาซีที่ผสมผสานความเป็นไทย
“ซอฟต์แวร์ที่ใช้ในการพัฒนาโปรแกรม ได้แก่ C++ Programming Language , Microsoft Visual , Irrlicht Engine , Raknet Network Engine base on Windows Socket , 3D Studio Max 8 , Maya , Adobe Photoshop CS โดยมีทฤษฎีหลักการที่ใช้คือ 3d Modelling ซึ่งเป็นหลักการในการสร้างวัตถุสามมิติจากPolygons ให้ได้วัตถุ หรือ character ที่ต้องการใช้งานเป็นวัตถุดิบในโปรแกรม และ 3d Animation ซึ่งเป็นหลักการสร้าง frameการเคลื่อนไหวให้กับวัตถุสามมิติ และเป็นหลักการเชื่อมต่อวัตถุที่เป็นโครงร่างตาข่าย โดยอุปกรณ์ที่ใช้กับซอฟต์แวร์ ได้แก่ PC computer ทั่วไป รับ input จาก Keyboard and mouse devices” นายอานนท์ กล่าว
ร่วมเชียร์เป็นกำลังใจให้กับเด็กไทยในการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ “มหกรรมประกวดเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งประเทศไทยครั้งที่ 6” (Thailand ICT Contest Festival 2007) ระหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์ 2550 เวลา 10.00 — 19.00 น. ณ ไอส์แลนด์ฮอลล์ ชั้น 3 ศูนย์การค้าแฟชั่นไอส์แลนด์ รามอินทรา
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ลัญจนา นิตยพัฒน์/กานตวี ปานสีทา/ศิริพร ปานสวัสดิ์ โทร. 02-564-6900 ต่อ 2335-2340
หรือ ฝ่ายประชาสัมพันธ์ งาน Thailand ICT Contest Festival 2006
คุณสมพร โทร. 089-130-2886
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ