กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--โกลบ์เบิล ครีเอชั่น
บทความที่ 2(10)/2554
“แม่สอด” ในนิยาม“เขตเศรษฐกิจพิเศษ”
พลันที่คณะรัฐมนตรีไฟเขียว อนุมัติหลักการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก ประตูสำคัญในการค้าขายกับประเทศสหภาพพม่า หรือเมียนม่าร์ เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม 2553 นัยสำคัญประการหนึ่งคงปฏิเสธไม่ได้ว่า นี้คือการสร้างความพร้อมในทุกๆด้าน สำหรับการก้าวสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asian Economic Community : AEC) ที่นับถอนหลังเข้าใกล้วันกลมเกลียวของสมาชิกอาเซียนทุกประเทศ (ผลบังคับใช้ 1 ม.ค.2558) ดังนั้น การเกิดขึ้นของเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดจึงมีความสำคัญยิ่งไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
จากประเด็น ดังกล่าว สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม หรือ สศอ. จึงได้ดำเนินการศึกษา “เรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด : โอกาสและศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดน” เพื่อศึกษาศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด จังหวัดตาก และการเตรียมความพร้อมและแสวงหาโอกาสตลอดจนแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดที่เหมาะสมและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับอุตสาหกรรมชายแดนของไทยในอนาคต โดยมีบทสรุปที่น่าสนใจยิ่ง ดังนี้
จังหวัดตาก มีการประกาศจุดผ่านแดนถาวร “แม่สอด-เมียวดี” เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2540 ตั้งอยู่บริเวณบ้านริมเมย หมู่ที่ 2 ตำบลท่าสายลวด อำเภอแม่สอด เปิดทำการค้าตั้งแต่เวลา 06.30-18.30 น ทุกวัน เพื่อนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างกัน ผ่านสะพานมิตรภาพไทย-พม่า โดย ในปี 2553 มีมูลค่า 22,882.82 ล้านบาท เมื่อเจาะลึกลงมาที่ภาคอุตสาหกรรม จากการศึกษา พบว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพ และขีดความสามารถในการแข่งขันสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป อุตสาหกรรมผักและผลไม้กระป๋อง และ อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์ ตามลำดับ โดยมีการวิเคราะห์จาก 5 ปัจจัยหลักตามทฤษฎี Diamond Model ได้แก่ 1.ปัจจัยด้านอุปสงค์ 2.ปัจจัยด้านความพร้อมในการแข่งขันและกลยุทธ์ทางธุรกิจ 3.ปัจจัยด้านอุตสาหกรรมเชื่อมโยงและการสนับสนุน 4.ปัจจัยด้านการผลิต และ 5. ปัจจัยด้านการสนับสนุนจากภาครัฐ
1.อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป
ปัจจัยชี้วัดระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด ได้แก่ ปัจจัยด้านอุปสงค์ เนื่องจากอุตสาหกรรมนี้ มีความต้องการสินค้าทั้งภายในและภายนอกประเทศ มีศักยภาพในแง่ของการเติบโตเป็นอย่างดี ซึ่งเป็นสินค้าที่นับวันมีแต่ทวีความต้องการมากยิ่งขั้นตามความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของตลาดทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากสามารถรองรับคำสั่งซื้อของผลิตภัณฑ์เครื่องนุ่งห่มที่มีชื่อเสียงได้ นอกจากนี้ ธุรกิจเสื้อผ้าสำเร็จรูปมีโอกาสที่จะขยายตลาดเข้าไปในสหภาพพม่าและผ่านไปยังจีนได้ โดยการส่งออกเสื้อผ้าสำเร็จรูปไปตลาดจีนของไทยในภาพรวมตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤศจิกายน 2553 มีมูลค่าการส่งออก 25.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.7 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน
ส่วน ปัจจัยที่มีระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยที่สุด เมื่อเทียบกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านภาครัฐ เนื่องจากผู้ประกอบการมองว่าภาครัฐมีนโยบายและมาตรการสนับสนุนต่ออุตสาหกรรมสิ่งทอฯ ในพื้นน้อย นโยบายที่ไม่ชัดเจนในด้านการปรับปรุงกฎระเบียบทางภาษีที่เอื้อประโยชน์ และช่วยลดต้นทุนสินค้าที่จะส่งออกให้สามารถแข่งขันได้ในตลาดโลก และการอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจ เช่น ระบบศุลกากร การส่งออก หรือศูนย์ One Stop Services เป็นต้น
2.อุตสาหกรรมผักและผลไม้กระป๋อง
ปัจจัยชี้วัดศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด ได้แก่ ปัจจัยด้านการผลิต เนื่องจากมีวัตถุดิบที่ผลิตได้เองภายในพื้นที่ เช่น ข้าวโพด ข้าวโพดฝักอ่อน และผักเมืองหนาวซึ่งปลูกได้มากในอำเภอพบพระ และยังมีแหล่งพื้นที่เพาะปลูกในจังหวัดใกล้เคียงที่สามารถส่งมาป้อนโรงงานอุตสาหกรรมในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดได้ รวมทั้งในสหภาพพม่าก็ยังมีการปลูก ผัก ผลไม้ และพืชไร่ ที่สามารถส่งมาเป็นวัตถุดิบเสริมให้กับโรงงานในฝั่งไทยได้เช่นกัน นอกจากนั้นยังมีปัจจัยสนับสนุนทางด้านแรงงานต่างด้าว แต่ทั้งนี้ต้องมีการจัดระบบการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่ดีด้วย
ส่วนปัจจัยที่ผู้ประกอบการเห็นว่ามีระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านภาครัฐ เนื่องจากขาดการสนับสนุนด้านนโยบายและมาตรการของภาครัฐ เช่น ขาดการส่งเสริมการทำตลาดในต่างประเทศ ลู่ทางการส่งออก รวมทั้ง กฎระเบียบและนโยบายภายในประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อการส่งสินค้าออกไปขายยังต่างประเทศ
3.อุตสาหกรรมไม้และเฟอร์นิเจอร์
ปัจจัยชี้วัดระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันมากที่สุด ได้แก่ ปัจจัยด้านการผลิต เนื่องจากจังหวัดตากเป็นจังหวัดที่มีป่าไม้มาก อีกทั้งยังอยู่ติดกับสหภาพพม่าที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบมากเช่นกัน รวมทั้งมีความพร้อมด้านแรงงานที่ค่าจ้างไม่สูงนักมารองรับ
สำหรับปัจจัยที่ผู้ประกอบการเห็นว่ามีระดับศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันน้อยที่สุดเมื่อเทียบกับปัจจัยด้านอื่น ๆ ได้แก่ ปัจจัยด้านภาครัฐ โดยในส่วนของนโยบายและมาตรการสนับสนุนของภาครัฐในการส่งเสริมอุตสาหกรรมไม้ในระดับภูมิภาคยังไม่ชัดเจน รวมทั้ง กฎระเบียบและนโยบายภายในประเทศไทยยังไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไม้ฯ เท่าที่ควร
แม้ความพร้อมและขีดความสามารถของอุตสาหกรรมเป้าหมายทั้ง 3 สาขาที่กล่าวมา ผู้ประกอบการในพื้นที่ยังคงมองว่าการให้ความช่วยเหลือสนับสนุนจากภาครัฐนั้นค่อนข้างน้อยอยู่ ซึ่งการจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอดภาครัฐจึงต้องมีความชัดเจนในการวางนโยบายเพื่อการสนับสนุนผู้ประกอบการให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด เพื่อจะเป็นการเติมเต็มในส่วนที่ผู้ประกอบการหายไป จึงจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนต่อไป
โดยผลการศึกษาเรื่องเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด : โอกาสและศักยภาพในการพัฒนาอุตสาหกรรมชายแดน ที่ สศอ. ศึกษาในครั้งนี้ยังได้มีข้อเสนอแนะในเชิงนโยบายอย่างน่าสนใจยิ่ง ดังนี้
ข้อเสนอแนะนโยบายในภาพรวม
1. ภาครัฐควรมีนโยบายและมาตรการส่งเสริมการลงทุนของสาขาอุตสาหกรรรมเป้าหมายที่มีศักยภาพสูงสุดในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ทั้ง 3 สาขาอย่างจริงจัง พร้อมทั้ง เร่งศึกษาและหาแนวทางในการเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเป้าหมาย ให้มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูงขึ้นและแข่งขันได้ในตลาดโลกต่อไป
2. ภาครัฐควรมีมาตรการจูงใจในการดึงดูดนักลงทุนให้เข้าไปลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษ โดยอาจจะให้สิทธิและประโยชน์ด้านภาษีอากรมากกว่าเขตการลงทุน เขต 3
3. ภาครัฐควรมีการบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวที่เข้ามาทำงานเป็นแรงงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคเกษตรกรรมให้ถูกกฏหมาย โดยเลือกใช้นโยบายที่มุ่งเน้นความมั่นคงทางการเมือง หรือมุ่งเน้นความมั่นคงทางเศรษฐกิจ ทางใดทางหนึ่งให้มีมาตรการและแนวทางที่ชัดเจน และควรหาเร่งหาทางแก้ไขปัญหาแรงงานต่างด้าวอย่างจริงจัง
4. สำหรับประเภทของอุตสาหกรรมที่ภาครัฐควรให้การสนับสนุนให้เกิดการลงทุนในเขตเศรษฐกิจพิเศษแม่สอด ควรเป็นอุตสาหกรรมประเภทที่ไม่ก่อให้เกิดมลภาวะแก่ท้องถิ่นและไม่ก่อให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม หรือเรียกได้ว่าเป็นอุตสาหกรรมสีเขียว (Green Industry) แบ่งเป็น 3 ประเภท ได้แก่
4.1 ประเภทอุตสาหกรรมที่มีตลาดเป็นตัวนำ (Market-Led Industries) เน้นกลุ่มอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตสินค้าที่เป็นที่ต้องการของตลาดในสหภาพพม่า บังกลาเทศ และอินเดีย เนื่องจากประเทศดังกล่าวยังไม่สามารถผลิตสินค้าคุณภาพสูงได้ ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภค เสื้อผ้าสำเร็จรูป เครื่องจักรกลเกษตร วัสดุก่อสร้าง เป็นต้น
4.2 ประเภทอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น (Labour Intensive) ซึ่งสามารถหาได้ในท้องถิ่น และจังหวัดใกล้เคียง รวมทั้ง สามารถเชื่มโยงแรงงานราคาถูกจากสหภาพพม่า
4.3 ประเภทอุตสาหกรรมที่ใช้แหล่งวัตถุดิบในท้องถิ่น (Resource Based Industry) เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผักและผลไม้กระป๋อง ไม้และเฟอร์นิเจอร์ อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น
จากนี้ไปคงต้องจับตามองให้ดี เมื่อ“แม่สอด” ในนิยาม “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” กำลังจะก่อรูปเกิดร่างที่ชัดเจนในเร็ววันนี้ ว่าจะก้าวไปในทิศทางใด เพราะนี้คือประตูแห่งโอกาสใหม่ ในทางการค้าการลงทุนและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ก้าวหน้า เป็นฐานสนับสนุนให้เศรษฐกิจชาติแข็งแกร่งอย่างยั่งยืน และยังจะช่วยเสริมพลังสู่แห่งความสำเร็จของประเทศไทย ในการก้าวสู่ความเป็นผู้นำในเวทีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่การนับถอยหลังสู่การบังคับใช้เข้าใกล้มาทุกขณะ