กรุงเทพฯ--21 ก.พ.--ก.ไอซีที
นายภุชพงค์ โนดไธสง ผู้อำนวยการสำนักบริหารกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า กระทรวงไอซีที ได้ดำเนินโครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน โดยติดตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์พร้อมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงตามสถานที่ต่างๆ ในชุมชนที่มีความพร้อมและเหมาะสม ตามยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ที่รัฐบาลได้วางนโยบายไว้ ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรด้านไอซีทีรองรับการพัฒนาประเทศ และขยายโอกาสการเข้าถึงสารสนเทศให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นลดช่องว่างระหว่างสังคมเมืองและสังคมชนบท ด้วยการสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านไอซีที แหล่งสืบค้นสารสนเทศ พัฒนาศูนย์ฝึกอบรมด้านไอซีที สร้างห้องเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อให้เป็นแหล่งรับบริการข้อมูลข่าวสาร และบริการอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ ตลอดจนสร้างโอกาสทางการตลาดแก่สินค้าและอาชีพของชุมชน
“โครงการฯ นี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 โดยขณะนี้สามารถจัดตั้งศูนย์ฯ ไปทั้งหมด 878 ศูนย์ ซึ่งแบ่งเป็น ปีงบประมาณ 2550 จัดตั้งได้ 20 ศูนย์ ปีงบประมาณ 2551 จัดตั้งได้ 40 ศูนย์ ปีงบประมาณ 2552 จัดตั้งได้อีก 219 ศูนย์ และปีงบประมาณ 2553 จัดตั้งเพิ่มอีก 600 ศูนย์ ให้กระจายตัวออกไปในระดับอำเภอทั่วประเทศ กล่าวคือ ภาคเหนือ จำนวน 84 ศูนย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 223 ศูนย์ ภาคกลาง 187 ศูนย์ และภาคใต้ 106 ศูนย์ ซึ่งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน บ้านคกมาด อ.เชียงคาน และ ต.ร่องจิก อ.ภูเรือ จ.เลย นี้ จัดตั้งขึ้นตามโครงการฯ ในปีงบประมาณ 2553 ส่วนในปีงบประมาณ 2554 กระทรวงฯ ได้ดำเนินโครงการดังกล่าวภายใต้ชื่อ โครงการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อพ่อหลวง จำนวน 1,000 ศูนย์ โดยกระทรวงฯ ได้ลงนามสัญญาซื้อขายครุภัณฑ์และวัสดุสำนักงานโครงการดังกล่าว ร่วมกับบริษัท สุพรีม ดิสทิบิวชั่น (ไทยแลนด์) จำกัด ที่ชนะการประกวดราคาเมื่อวันที่ 9 ก.พ. 2554 ที่ผ่านมา พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังจะมีการพัฒนาหลักสูตรออนไลน์สำหรับ ICT ชุมชน จำนวน 10 หลักสูตร และเพิ่มการพัฒนาศักยภาพชุมชนเพื่อให้เกิดกิจกรรม
สร้างสรรค์แก่ประชาชนผ่านทางศูนย์ฯ ต่างๆ จำนวน 1,800 แห่ง” นายภุชพงค์ กล่าวและเพื่อให้การดำเนินงานพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการพัฒนารูปแบบและทิศทางการดำเนินโครงการที่สอดคล้องกับความต้องการของประชาชน จึงได้มีการจัดทำโครงการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายโครงการ อาทิ การพัฒนาศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนให้ก้าวสู่ระดับสากล ด้วยการจัดทำโครงการ Thai Telecentre Academy เพื่อเป็นการสร้างโอกาสการเรียนรู้ที่เท่าเทียมผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนเป็นเสมือนห้องเรียนตามอัธยาศัย ซึ่งโครงการฯ นี้เป็นความร่วมมือระดับสากล ที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการร่วมกับ Global Telecentre โดยขั้นแรกจะเริ่มจากการพัฒนาหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับชุมชน
พร้อมกันนี้ กระทรวงฯ ยังได้จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพกลุ่มคนทำงานที่บ้าน หรือ Homeworker ซึ่งเป็นโครงการเสริมทักษะด้าน ICT ให้แก่กลุ่มอาชีพในชุมชน เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงอาชีพ ทั้งในเรื่องการติดต่อสื่อสารกับลูกค้า การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้เป็นไปตามความต้องการของตลาด การจัดทำบัญชีอย่างง่าย และสามารถต่อยอดโดยการจัดตั้งร้านค้าชุมชนออนไลน์เพื่อสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าชุมชนให้ครบวงจร ซึ่งรวมถึงระบบการสั่งซื้อ การชำระเงิน และการขนส่งสินค้า เพื่อให้กลุ่มคนทำงานที่บ้านสามารถค้าขายได้อย่างคล่องตัวยิ่งขึ้น
โครงการพัฒนาระบบสารสนเทศชุมชน เพื่อเป็นการรวบรวมข้อมูลต่างๆ ของชุมชน ทั้งที่เป็นองค์ความรู้ ภูมิปัญญา วัฒนธรรม ประเพณี ของดี และสิ่งที่น่าสนใจ ตลอดจนสถานที่ท่องเที่ยว โดยจะทำการรวบรวมและจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ พร้อมจัดแสดงในรูปแบบของภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว และสินค้าชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งโครงการต่างๆ ที่กล่าวมานั้น เป็นเพียงตัวอย่างจากหลายแนวทางที่กระทรวงฯ ได้ดำเนินการเพื่อต่อยอดให้ศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนสามารถสร้างประโยชน์ให้แก่ชุมชนอย่างแท้จริง และยั่งยืนอยู่กับชุมชนต่อไปได้