ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กร “บ. ไทยเบฟเวอเรจ” ที่ระดับ “AA” พร้อมแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday February 22, 2011 09:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรของ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “AA” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนสถานะที่แข็งแกร่งของบริษัททั้งในส่วนของการดำเนินธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสด และฐานะทางการเงิน นอกจากนี้ ยังสะท้อนถึงธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และธุรกิจอาหารของบริษัทที่กำลังเติบโตด้วย ทั้งนี้ การเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ช่วยเอื้อให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและการกระจายผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายผ่านเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวาง อย่างไรก็ตาม ปัจจัยบวกดังกล่าวมีข้อจำกัดบางส่วนจากผลกระทบของสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันรุนแรง ตลอดจนอัตราการทำกำไรที่อ่อนตัวลง และกฎระเบียบที่เข้มงวดซึ่งอาจมีผลให้ความต้องการในการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลดลง แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงความคาดหมายว่าบริษัทจะยังคงดำรงสถานะที่แข็งแกร่งในตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ภายในประเทศได้ต่อไป อีกทั้งยังคงสถานะการเงินที่แข็งแกร่งด้วยระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มยอดขายและกำไรในธุรกิจเบียร์ รวมทั้งจะยังคงดำรงนโยบายทางการเงินที่เข้มงวดและรักษาสถานะทางเครดิตให้อยู่ในระดับสูง ทั้งนี้ การลงทุนหรือการซื้อกิจการใดใดในอนาคตควรมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจของบริษัท ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นบริษัทโฮลดิ้งที่ถือหุ้นในบริษัทต่าง ๆ ในกลุ่มจำนวน 101 แห่งซึ่งเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่หลากหลายทั้งการผลิตสุรา (สุราขาวและสุราสี) เบียร์ เครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ รวมทั้งธุรกิจอาหาร และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ผลิตภัณฑ์ ต่าง ๆ ของบริษัทมีหลายประเภทโดยแต่ละประเภทล้วนมีตราสัญลักษณ์สินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักเป็นอย่างดี เช่น “รวงข้าว” สำหรับสุราขาว “หงส์ทอง” “แสงโสม” และ “เบลนด์ 285” สำหรับสุราสี และ “ช้าง” สำหรับเบียร์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีเครื่องดื่มชาเขียวและเครือภัตตาคารอาหารญี่ปุ่นภายใต้ชื่อ “โออิชิ” ด้วย ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทไทยเบฟเวอเรจเป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายใหญ่รายหนึ่งในภูมิภาคเอเซียตะวันออกเฉียงใต้และมีสถานะที่แข็งแกร่งในธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสินค้าอีโคโนมี่หรือสินค้าราคาประหยัด ปัจจุบันสินทรัพย์ของบริษัทประกอบด้วยโรงกลั่น 18 แห่งและโรงเบียร์ 3 แห่งในประเทศไทยซึ่งมีกำลังการผลิตต่อปีที่ระดับ 1,550 ล้านลิตรสำหรับเบียร์และ 819 ล้านลิตรสำหรับสุรา นอกจากนี้ บริษัทยังมีโรงกลั่นวิสกี้ 5 แห่งในสกอตแลนด์ และอีก 1 แห่งในประเทศจีนด้วย การมีฐานการผลิตขนาดใหญ่ทำให้บริษัทได้รับประโยชน์จากการประหยัดจากขนาดและมีอำนาจต่อรองในการซื้อวัตถุดิบซึ่งส่งผลทำให้ผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีราคาขายที่แข่งขันได้ ยิ่งกว่านั้น ระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางซึ่งครอบคลุมทั่วประเทศยังมีส่วนเสริมให้สถานะทางธุรกิจของบริษัทแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ปัจจุบันระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายของบริษัทประกอบด้วยตัวแทนจำหน่าย 708 ราย พนักงานขายกว่า 1,300 คน และรถขนส่งสินค้ากว่า 4,400 คันซึ่งรองรับร้านจำหน่ายผลิตภัณฑ์ที่มีมากกว่า 400,000 แห่งทั่วประเทศ บริษัทไทยเบฟเวอเรจครองตำแหน่งผู้นำในตลาดสุราไทยเนื่องจากคู่แข่งรายอื่น ๆ ล้วนเป็นผู้ผลิตในระดับท้องถิ่นที่มีฐานการผลิตขนาดเล็ก ในขณะที่ผลิตภัณฑ์ที่นำเข้านั้นก็มีราคาสูงและเน้นตลาดเฉพาะกลุ่ม การมีตราสัญลักษณ์สินค้าที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดีและมีระบบเครือข่ายการจัดจำหน่ายที่กว้างขวางทำให้บริษัทคงสถานะผู้นำตลาดเอาไว้ได้ ส่วนในตลาดเบียร์นั้น บริษัทเป็นหนึ่งในผู้แข่งขันหลัก 2 รายในตลาดเบียร์ไทย โดยคู่แข่งสำคัญของบริษัทคือกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่ซึ่งดำเนินธุรกิจมานานภายใต้ตราสัญลักษณ์สินค้า “สิงห์” ทั้งบริษัทไทยเบฟเวอเรจและกลุ่มบุญรอดบริวเวอรี่มีส่วนแบ่งทางการตลาดรวมกันมากกว่า 90% ของตลาดเบียร์ไทย ซึ่งคาดว่าส่วนแบ่งทางการตลาดของบริษัทไทยเบฟเวอเรจในปี 2553 จะอยู่ที่ 33.5% ซึ่งเพิ่มขึ้นจาก 32.5% ในปี 2552 บริษัทได้ขยายสู่ธุรกิจเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์และอาหารโดยการซื้อกิจการของ บริษัท โออิชิ จำกัด (มหาชน) ในปี 2551 แม้ว่าธุรกิจดังกล่าวในปัจจุบันจะยังสร้างสัดส่วนรายได้ไม่มากก็ตาม แต่ก็มีโอกาสเติบโตสูงเมื่อพิจารณาจากอัตราการเติบโตเฉลี่ยที่เกิน 20% ต่อปีในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ฐานะทางการเงินของบริษัทมีความแข็งแกร่งเป็นอย่างมากอันเป็นผลมาจากความสามารถที่เข้มแข็งในการสร้างกระแสเงินสด ตลอดจนระดับสภาพคล่องที่เพียงพอ บริษัทรายงานยอดขายสำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ที่ระดับ 86,680 ล้านบาท ซึ่งมาจากรายได้การจำหน่ายสุราเป็นหลัก รายได้รวมของบริษัทเติบโตที่ระดับ 14.2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนอันเป็นผลมาจากยอดขายที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจสุรา ตลอดจนยอดขายเครื่องดื่มปราศจากแอลกอฮอล์ที่เพิ่มขึ้นถึง 41% และยอดขายเบียร์ที่ปรับตัวดีขึ้น บริษัทมีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้จากการขายอยู่ที่ประมาณ 18%-21% ระหว่างปี 2549-2552 แต่กำไรลดลงจาก 18.2% ในปี 2552 มาอยู่ที่ 15.8% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ซึ่งปัจจัยหลักมาจากราคาที่เพิ่มขึ้นของวัตถุดิบสำคัญ ได้แก่ กากน้ำตาล และน้ำตาล รวมถึงค่าใช้จ่ายในการส่งเสริมและทำการตลาดที่สูงในกลุ่มผลิตภัณฑ์เบียร์ นอกจากนี้ การขาดทุนในธุรกิจเบียร์ก็มีส่วนทำให้บริษัทมีกำไรลดลง เมื่อพิจารณาจากระดับค่าใช้จ่ายสำหรับกิจกรรมทางการตลาดและการสร้างตราสินค้าที่อยู่ในระดับสูงและผลกำไรในธุรกิจสุราที่อ่อนตัวลงแล้วคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะได้รับแรงกดดันในอนาคต บริษัทมีเงินทุนจากการดำเนินงานต่อปีประมาณ 14,000-15,000 ล้านบาทระหว่างปี 2551-2552 และที่ระดับ 9,611 ล้านบาทในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ระดับเงินทุนจากการดำเนินงานในปัจจุบันนับว่ามีเพียงพอสำหรับใช้ชำระหนี้ในช่วงเวลา 12 เดือนข้างหน้า อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญโดยอยู่ที่ระดับ 123.4% ในปี 2552 และ 67.4% สำหรับช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 ในขณะที่อัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนอยู่ในระดับต่ำระหว่าง 18%-24% ในช่วงปี 2551-2552 และเพิ่มขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 20.6% ณ เดือนกันยายน 2553 ส่วนหนึ่งเนื่องจากการกู้ยืมระยะสั้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับจัดซื้อวัตถุดิบ ทั้งนี้ หากบริษัทไม่มีแผนการซื้อกิจการโดยการกู้ยืมเงินจำนวนมากคาดว่าบริษัทจะยังคงมีสถานะทางการเงินที่แข็งแกร่ง เมื่อพิจารณาจากยอดขาย การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมในช่วงปี 2547-2552 ที่ระดับ 3% การบริโภคเบียร์มีความแปรปรวนมากกว่าการบริโภคสุรา โดยอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมของการบริโภคเบียร์ในช่วงปี 2544-2550 อยู่ที่ระดับ 9% ทว่าเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปี 2551 ทำให้การบริโภคเบียร์ลดลง 4.3% นอกจากนี้ การหดตัวของภาวะเศรษฐกิจ ผนวกกับการขึ้นภาษีสรรพสามิตยังทำให้การบริโภคลดลงไปอีกประมาณ 11.7% ในปี 2552 ทำให้ผู้บริโภคเบียร์บางส่วนเปลี่ยนไปบริโภคสุราที่ผลิตในประเทศแทน ในทางกลับกัน การบริโภคสุราโดยรวมมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสมในระหว่างปี 2547-2552 ที่ระดับ 5% จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมระบุว่า ปริมาณการบริโภคเบียร์ในปี 2553 ลดลง 2.7% ในขณะที่การบริโภคสุราคาดว่าจะมีการเติบโตในอัตราเดิมบนพื้นฐานที่เศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวและอำนาจซื้อของผู้บริโภคสูงขึ้น ทั้งนี้ คาดว่าตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยรวมจะเติบโตในระดับปานกลางซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนจากยอดขายสุราในประเทศที่สูงขึ้น รวมทั้งกิจกรรมส่งเสริมการตลาดที่มากขึ้น และอำนาจซื้อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กฎระเบียบและข้อจำกัดต่าง ๆ ที่เข้มงวดยังคงเป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับผู้ผลิตเบียร์และสุราต่อไป ทริสเรทติ้งกล่าว บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) (ThaiBev) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ AA แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ