กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ก.ไอซีที
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ในฐานะรองประธานกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เปิดเผยว่า คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ได้จัดทำโครงการศึกษาแนวทางการกำกับธุรกิจบริการทางธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ขึ้น เพื่อศึกษาวิเคราะห์ สำรวจสภาพข้อเท็จจริงเกี่ยวกับธุรกิจบริการภาคเอกชนหรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐอื่นๆ ที่มีความเสี่ยงและจำเป็นต้องกำกับดูแลในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการศึกษาแนวนโยบาย แนวปฏิบัติ และมาตรการของต่างประเทศ พร้อมทั้งวิเคราะห์เปรียบเทียบสภาพความพร้อมในการกำกับดูแลธุรกิจบริการกับของประเทศไทย ซึ่งผลจากการศึกษานี้จะนำมาใช้ในการวางแผน ส่งเสริม และพัฒนาการดำเนินกิจการที่เกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ เพื่อให้การประกอบกิจการดังกล่าวมีความเข้มแข็งเป็นไปตามมาตรฐานสากล เสริมสร้างความเชื่อมั่นและสร้างการยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และป้องกันความเสียหายต่อสาธารณชน อันเป็นการสร้างโอกาสและพัฒนาศักยภาพของภาคธุรกิจ ของไทยให้สามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการต่างชาตได้
โดยปัจจุบัน คณะกรรมการฯ ได้กำหนดให้ธุรกิจบริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ หรือ Certification Authority : CA และธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Payment Service Provider เป็นธุรกิจบริการที่จำเป็นต้องมีการกำกับดูแล เนื่องจากเป็นธุรกิจที่เกี่ยวกับการเสริมสร้างและยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อประชาชนในวงกว้างหากไม่มีการกำกับดูแล และตามมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2544 ได้กำหนดให้มีการกำกับดูแลธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรักษาความมั่นคงทางการเงินและการพาณิชย์ โดยให้คณะกรรมการธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ ทำหน้าที่พิจารณากำหนดประเภทธุรกิจบริการเกี่ยวกับธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ที่อาจจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล จึงได้มีการตราเป็นกฎหมายลำดับรองในพระราชบัญญัติว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ คือ พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจบริการการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2551 และ (ร่าง) พระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลธุรกิจการให้บริการออกใบรับรองเพื่อสนับสนุนลายมือชื่ออเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. .... ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา
นางจีราวรรณ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “คณะกรรมการฯ ได้วางแผนที่จะทำการศึกษาธุรกิจบริการภาคเอกชนหรือการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐที่มีความจำเป็นต้องกำกับดูแลโดยคำนึงถึง 3 ประเด็น คือ ธุรกิจนั้นจะต้องมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางการเงิน ความน่าเชื่อถือในข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ และต่อสาธารณชน เช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความน่าเชื่อถือ การยอมรับในระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ในรูปของการออกใบรับรองเพื่อยืนยันตัวบุคคลผู้เป็นเจ้าของลายมือชื่อดิจิทัล ธุรกิจเกี่ยวกับเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ (e-Document Service) ธุรกิจบริการเกี่ยวกับ Website, Web Hosting, e-Market Place หรือ ธุรกิจที่มีเนื้อหาด้านบันเทิง/มัลติมีเดีย (e-Content Service) เป็นต้น เนื่องจากธุรกิจบริการดังกล่าวเป็นธุรกิจบริการที่เชื่อมโยงกับการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ จึงมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดความเสี่ยงและจำเป็นต้องกำกับดูแล ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นต่อการสร้างให้เกิดความเชื่อมั่นในการใช้เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ให้เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน”
?
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 021416747 MICT