กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ปตท.
ฝ่ายบริหารความเสี่ยงราคาและวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รายงานถึงสถานการณ์ราคาน้ำมันว่า ราคาน้ำมันดิบดูไบ (Dubai) ในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.75 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล โดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับประมาณ 98.47 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) ปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสเท็กซัส (WTI) ปรับตัวลดลง 1.35 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ 18 ก.พ. 54 ราคาน้ำมันดิบ น้ำมันเบนซิน และดีเซล ปรับตัวลดลงจากวันก่อนหน้าประมาณ 0.15-1.30 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นจากสถานการณ์ประท้วงในประเทศผู้ผลิตน้ำมันได้แก่ บาห์เรน เยเมน และลิเบียจากกระแสต่อต้านการปกครองของรัฐบาลในสัปดาห์ที่ผ่านมาทวีความรุนแรงมากขึ้นส่งผลให้เสถียรภาพทางการเมืองในประเทศผู้ผลิตน้ำมันสั่นคลอน ทั้งนี้การประท้วงในลิเบียมีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตมากกว่า 300 ราย และมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น
นอกจากนั้นการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ วันที่ 16 ก.พ. 54 เห็นว่าการเติบโตทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯมีแนวโน้มที่ดีขึ้น และธนาคารกลางสหรัฐฯ จำเป็นต้องดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อไปเพื่อเพิ่มเสถียรภาพในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาคแรงงานที่อัตราการว่างงานอยู่ที่ระดับ 9% และยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานครั้งแรกสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 12 ก.พ. 54 เพิ่มขึ้น 25,000 ราย มาอยู่ที่ 410,000 ราย ตลาดหุ้น Dow Jones ของสหรัฐฯ ปิดวันศุกร์ปรับตัวเพิ่มขึ้น 73.11 จุด หรือ +0.59% มาอยู่ที่ 12,391.25 จุด ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ราคาน้ำมันยังทรงตัวในระดับสูง
อย่างไรก็ตามมาตรการเพิ่ม Reserve Requirement Ratio ของจีนอีก 0.5% มาอยู่ที่ 19.5% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีเป้าหมายเพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อปี 54 ให้อยู่ในระดับ 4% อาจส่งผลให้สภาพคล่องในจีนมีแนวโน้มลดลงและส่งผลต่อราคาน้ำมัน ทั้งนี้จีนอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศให้เน้นการบริโภคในประเทศมากขึ้นและลดการพึ่งพาการส่งออก
ในส่วนของปริมาณสำรองน้ำมัน ระดับสำรองทั่วโลกอยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 60 Days of forward cover ขณะที่ปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์สหรัฐฯ ปรับเพิ่มขึ้น 0.9 ล้านบาร์เรล ในสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 11 ก.พ. 54 อยู่ที่ระดับ 345.9 ล้านบาร์เรล
สำหรับแนวโน้มสัปดาห์นี้ คาดว่าราคาน้ำมันจะไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ก่อนมากนักและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยโดยมีปัจจัยเสี่ยงจากการประท้วงในประเทศผู้ผลิตน้ำมันอาจยังไม่ยุติ นอกจากนี้อากาศในสหรัฐฯ มีแนวโน้มหนาวเย็นจนถึงต้นเดือน มี.ค. 54
อย่างไรก็ดีให้ติดตามดัชนีชี้วัดทางเศรษฐกิจที่จะรายงานในสัปดาห์นี้ เช่น ยอดขายบ้านใหม่ และ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานของสหรัฐฯ ซึ่งบ่งชี้ทิศทางของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และติดตามเศรษฐกิจจีนว่าจะชะลอความร้อนแรงหรือไม่จากมาตรการเข้มงวดของภาครัฐฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่ออุปสงค์/อุปทานน้ำมัน และกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงของราคา