กรุงเทพฯ--4 พ.ค.--ปตท.สผ.
บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. ทำกำไรได้กว่า 6,700 ล้านบาทในไตรมาสแรกของปี 2550 ปลายปีนี้โครงการอาทิตย์จะติดตั้งแท่นผลิตใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนที่พม่า แปลง M9 ผลการสำรวจสร้างความมั่นใจสามารถเริ่มการผลิตได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า
ผลประกอบการไตรมาสที่ 1
นายมารุต มฤคทัต (Maroot Mrigadat) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่าผลการดำเนินงานในไตรมาสที่ 1 ปี 2550 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิรวม 6,771 ล้านบาท ลดลง 1,068 ล้านบาท หรือร้อยละ 14 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิสำหรับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 7,839 ล้านบาท มีอัตราผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้น (Return on shareholders’ equity) สำหรับไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 30.32
ในไตรมาสนี้ ปตท.สผ. และบริษัทย่อยมีรายได้รวมทั้งสิ้น 21,270 ล้านบาท เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนจำนวน 22,693 ล้านบาท ลดลง 1,423 ล้านบาท หรือร้อยละ 6 สาเหตุหลักมาจากการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งอยู่ที่ 36.15 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับ 39.73 บาทต่อเหรียญสหรัฐฯในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าราคาขายผลิตภัณฑ์เฉลี่ยจะสูงขึ้นเป็น 35.43 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบจาก 34.28 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ แต่ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นก็ส่งผลให้รายได้เป็นเงินบาทลดลง
อีกสาเหตุหนึ่งคือปริมาณการขายในไตรมาสนี้ลดลงเล็กน้อยเป็น 171,170 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณการขายในไตรมาสเดียวกันของปีก่อนที่ 171,508 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน โดยรายได้ที่ลดลงส่วนใหญ่มาจากการขายก๊าซธรรมชาติของโครงการเยตากุนและการขายน้ำมันดิบของโครงการ B8/32&9A การที่โครงการบงกชผลิต คอนเดนเสทได้น้อยกว่าที่คาด และจากการที่โครงการโอมาน 44 เริ่มผลิตล่าช้า แต่ขณะเดียวกัน ในไตรมาสนี้มีปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นจากการขายก๊าซธรรมชาติของโครงการยาดานา และก๊าซธรรมชาติและคอนเดนเสทของโครงการภูฮ่อม
นายมารุต คาดว่าปริมาณการผลิตและปริมาณการขายปิโตรเลียมจะสามารถเพิ่มขึ้นได้ตามเป้าหมายภายในปีนี้ เนื่องจากการผลิตคอนเดนเสทจากโครงการบงกช และน้ำมันดิบจากโครงการนางนวลซึ่งเพิ่งค้นพบน้ำมันดิบในหลุมใหม่เมื่อต้นปี พ.ศ. 2550 จะสามารถเสริมผลผลิตได้ รวมทั้ง ก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบจากโครงการโอมาน 44 ซึ่งได้เริ่มการผลิตแล้วก็จะช่วยเสริมปริมาณการผลิตอีกทางหนึ่ง และเรือบรรทุกน้ำมันที่บรรทุกน้ำมันดิบซึ่ง ปตท.สผ. ผลิตได้จากโครงการโอมาน 44 ล็อตแรกจะมาถึงประเทศไทยในเดือนมิถุนายนนี้ นับเป็นครั้งแรกที่น้ำมันซึ่งผลิตจากตะวันออกกลางโดยบริษัทของคนไทยจะได้นำมาใช้ในประเทศไทย
สำหรับฐานะการเงิน ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 ปตท.สผ.และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมทั้งสิ้น 172,428 ล้านบาท เพิ่มจากสิ้นปีก่อนจำนวน 14,615 ล้านบาท หรือร้อยละ 9
โครงการอาทิตย์ก้าวหน้าไปกว่า 80% เตรียมติดตั้งแท่นผลิตใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปลายปีนี้
การพัฒนาโครงการอาทิตย์ระยะที่ 1 มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากทั้งด้านการก่อสร้างแท่นอุปกรณ์การผลิตและด้านการขุดเจาะหลุมผลิต โดย ปตท.สผ. ได้ทำการติดตั้งแท่นหลุมผลิตแล้ว (wellhead platform) 6 แท่น วางท่อก๊าซฯ แล้ว 5 เส้น ท่อคอนเดนเสท 1 เส้น ติดตั้งขาตั้งแท่นผลิตกลาง ขาตั้งแท่นที่พักอาศัย และ Flare Tripod แล้ว สำหรับแท่นผลิตกลาง (Central Processing Platform) ได้เสร็จลุล่วงแล้วประมาณ 81% ถือเป็นแท่นผลิตที่มีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คือประมาณ 16,800 ตัน ปตท.สผ. คาดว่าจะสามารถติดตั้งแท่นผลิตหลักนี้ได้ในปลายปี 2550 โดยจะติดตั้งด้วยวิธี Float-over Installation Method ซึ่งเป็นการติดตั้งด้วยวิธีนี้เป็นครั้งแรกในอ่าวไทย โดยจะช่วยลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเวลาในการติดตั้งได้อย่างมาก
ด้านการขุดเจาะหลุมผลิต ปตท.สผ. ได้ขุดเจาะหลุมผลิตในโครงการอาทิตย์แล้ว 68 หลุม ตามแผนงานพบว่ามีปริมาณและคุณภาพก๊าซธรรมชาติตามที่คาดหมาย และในปี 2550 นี้ ปตท.สผ. จะขุดเจาะหลุมผลิตที่เหลืออีก 10 หลุมภายในไตรมาสที่ 3 ของปี 2550 ตามแผนการพัฒนาโครงการอาทิตย์ระยะที่ 1
ปตท.สผ. ประสบความสำเร็จในการเจาะหลุมสำรวจแปลง M9 พบก๊าซฯ 4 หลุม
ปตท.สผ. ได้เสร็จสิ้นการเจาะหลุมสำรวจในแปลง M9 ซึ่งตั้งอยู่ในอ่าวเมาะตะมะ สหภาพพม่า โดยได้ทำการขุดเจาะสำรวจมาตั้งแต่ปี 2548 — 2550 พบก๊าซธรรมชาติในปริมาณที่น่าพอใจทั้งหมด 4 หลุม ได้แก่ หลุมซอว์ติกะ-1เอ (Zawtika-1A) หลุมกอว์ตะกะ-1 (Gawthaka-1) หลุมกากอนนะ-1 (Kakonna-1) และหลุมซอว์ติกะ-2 (Zawtika-2)
ขณะนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการขุดหลุมประเมินผล จำนวน 4 - 5 หลุม ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนกรกฎาคม 2550 เพื่อทำการปริมาณสำรองปิโตรเลียมขั้นต้น พร้อมกับเริ่มวางแผนที่จะพัฒนาแหล่งก๊าซธรรมชาติในแปลง M9 โดยมีเป้าหมายที่จะเริ่มการผลิตก๊าซฯ เพื่อใช้ในประเทศพม่าส่วนหนึ่ง และส่งเข้าประเทศไทยส่วนหนึ่งในปี 2554 หรือ 2555
ปตท.สผ. รับสิทธิการลงทุนเพิ่มเติมแหล่งน้ำมันดิบในอ่าวไทย แปลงจี 4/43
ปตท.สผ. ได้รับสิทธิในการเพิ่มสัดส่วนการร่วมทุนในแปลงจี 4/43 จากเดิมร้อยละ 15 เป็นร้อยละ 21.375 ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดผลประโยชน์พิเศษตามสัมปทานปิโตรเลียม โดยเมื่อมีการค้นพบปิโตรเลียมในเชิงพาณิชย์แล้ว ปตท.สผ. จะได้รับสิทธิการลงทุนเพิ่มขึ้นอีกตามสัดส่วน
แปลงจี 4/43 ตั้งอยู่ในอ่าวไทยนอกชายฝั่งจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชุมพร มีพื้นที่ประมาณ 9,686 ตารางกิโลเมตร ตั้งแต่ปี 2546 จนถึงปัจจุบัน กลุ่มผู้รับสัมปทานได้เริ่มงานสำรวจทางธรณีวิทยาและงานเจาะหลุมสำรวจโดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงสร้างลันตา และโครงสร้างสิมิลัน โดยได้ทำการเจาะสำรวจไปแล้ว 6 หลุม โดยได้ค้นพบน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งกลุ่มผู้รับสัมปทานจึงได้ยื่นขอพื้นที่ผลิตเพื่อทำการพัฒนาแหล่งลันตาเป็นลำดับแรก และได้รับอนุมัติจากกระทรวงพลังงานตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2549 และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการเตรียมการเจาะหลุมผลิต และคาดว่าจะสามารถเริ่มการผลิตน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเพื่อช่วยสนองตอบความต้องการใช้น้ำมันและเพิ่มความมั่งคงด้านพลังงานให้กับประเทศได้ในปลายปี 2550 ในอัตรา 6,000 - 8,000 บาร์เรลต่อวัน
ภายหลังการได้รับสิทธิเพิ่มเติมครั้งนี้ กลุ่มผู้รับสัมปทานในแปลงจี 4/43 จะประกอบด้วยบริษัท เชฟรอน (ผู้ดำเนินการ) 51% ปตท.สผ.อ. ซึ่งเป็นย่อยในเครือ ปตท.สผ. 21.375% บริษัท โมเอโกะ 21.25% และบริษัท พลังโสภณ สอง จำกัด 6.375%
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สิทธิไชย ไชยันต์ โทร. 02 537 4592 E-mail: sidhichaij@pttep.com
ต้องจิตร พงศ์อรพินท์ โทร. 02 537 4587 E-mail: tongchitp@pttep.com
โทรสาร 02 537 4982