โรคสะเก็ดเงิน … โรคนี้มีทางออกด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday February 23, 2011 09:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--PR Network โรคสะเก็ดเงิน หรือโรคเรื้อนมูลนก นั้น ใครหลาย ๆ คนอาจจะเคยได้ยินมาบ้างแล้ว และหลาย ๆ คนอาจจะประสบกับปัญหาโรคสะเก็ดเงิน ทั้งนี้ คลีนิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคสะเก็ดเงิน ตลอดจนเกร็ดการรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยที่ประสบปัญหาสังเกตอาการของตนเอง และรู้วิธีการเลี่ยงอาหาร รวมทั้งการรับประทานยาเพื่อรักษาโรคสะเก็ดเงิน รู้จักโรคสะเก็ดเงิน โรคสะเก็ดเงินนั้น มีสาเหตุเกิดจากระบบเลือดและระบบน้ำเหลืองที่ผิดปกติ ทำให้น้ำเหลืองเสีย โดยแสดงอาการในลักษณะของผื่นที่ผิวหนัง ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะมีลักษณะอาการ กล่าวคือ ผิวหนังมีรอยผุดขึ้นเป็นแว่น เป็นวงตามผิวหนัง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง มีสีขาว ขอบนูนเล็กน้อย มีอาการคันร่วมด้วย เมื่อนานเข้าจะลามไปทั่วร่างกาย อาการเริ่มต้นของโรคนี้ ผู้ป่วยจะมีอาการคันที่หนังศีรษะ มีสะเก็ดคล้ายรังแคแต่มีขนาดใหญ่กว่า เป็นเรื้อรัง ใช้แชมพูขจัดรังแค อาการก็ยังไม่หาย หรือมีสะเก็ดสีขาวขึ้นตามข้อศอก ข้อพับต่าง ๆ ในช่วงที่อาการแห้ง หรืออากาศเย็น อาการจะกำเริบมากขึ้น เมื่อไม่ได้รับการรักษา โรคจะลามเข้าไปในเล็บทำให้เล็บเหลือง เป็นคลื่น คล้ายดอกเล็บสีขาวแต่มีขนาดใหญ่กว่าดอกเล็บ คล้ายกับมีเชื้อราลงที่เล็บ หากเป็นเรื้อรัง และรับการรักษาไม่ต้องเนื่อง พร้อมกับรับประทานอาหารแสลงอยู่เรื่อย ๆ จะทำให้อาการของสะเก็ดเงินลามเข้าไปในข้อและกระดูก ส่งผลให้ผู้ป่วยให้มีอาการปวดตามข้อและกระดูกตามมา เมื่อทิ้งไว้นานจะทำให้เกิดอาการข้อผิดรูป หงิก งอ โดยเฉพาะข้อมือ และข้อเท้า ปัจจุบัน โรคสะเก็ดเงินพบได้บ่อยประมาณร้อยละ 2 ของประชากรที่อยู่ในวัยผู้ใหญ่ การรักษาโรคสะเก็ดเงินตามแนวทางแพทย์แผนไทย เมื่อมีผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงินเข้ารับการรักษา แพทย์แผนไทยจะทำการประเมินผู้ป่วยก่อน โดยพิจารณาจาก 1. ภาวะความเครียด ผลกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งได้จากการซักประวัติและสังเกตบุคลิก อารมณ์ สีหน้า ฯลฯ 2. ลักษณะของผิวหนัง เช่น ผื่น สีผิว ความร้อน-เย็น ตำแหน่งของผื่น 3. ลักษณะของเล็บ มักจะพบลักษณะเล็บของผู้ป่วยผิดปกติ เช่น เป็น Oil Drop (เป็นลักษณะเล็บเป็นคลื่นขรุขระ) 4. ลักษณะของการขับถ่าย ซึ่งโดยทั่วไป ผู้ป่วยจะมีภาวะท้องผูกร่วมด้วย วิธีการรักษาโรคสะเก็ดเงินนั้น มีทั้งการจ่ายยาต้มสมุนไพร ที่มีรสเมาเบื่อ เพื่อแก้น้ำเหลืองเสีย แก้พิษโลหิต และการให้ยาทา เพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้แก้ผิว พวกน้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น กลีเซอรีน หรือโลชั่นบำรุงผิว โดยใช้ในปริมาณที่มากกว่าปกติ 2 - 3 เท่า ทั้งนี้ การให้ยารักษาโรคสะเก็ดเงินนั้น จะให้ตามอาการที่แสดงของโรค โดยแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบหลักด้วยกัน กล่าวคือ 1. ผิวหนังชื้น ลอก แดง เป็นลักษณะที่แสดงถึงภาวะความผิดปกติของน้ำเหลือง โดยแพทย์แผนไทยจะจ่ายยาในกลุ่มของน้ำเหลืองเป็นหลัก 2. ผิวหนังแห้ง ขุย ล่อน เป็นลักษณะที่แสดงถึงภาวะความผิดปกติของโลหิต โดยแพทย์แผนไทยจะจ่ายยาในกลุ่มบำรุงเลือด สรรพคุณของยาในแต่ละกลุ่ม การจ่ายยาในกลุ่มยาน้ำเหลือง อาทิ ข้าวเย็นทั้งสอง เปลือกขันทองพยาบาท เหงือกปลาหมอ เป็นต้น มีสรรพคุณดังนี้ ข้าวเย็นทั้งสอง คือ ข้าวเย็นเหนือและข้าวเย็นใต้ นิยมใช้คู่กัน มีสรรพคุณเหมือนกัน คือ แก้ประดง คุดทะราด แก้น้ำเหลืองเสีย แก้เส้นเอ็นพิการ ออกดอก เข้าข้อ ฝีแผลเน่าเปื่อย พุพอง เม็ดผื่นคัน ดับพิษในกระดูก แก้ปัสสาวะพิการ เปลือกขันทองพยาบาท มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงเหงือก และใช้เป็นยาถ่ายรักษาโรคตับพิการ และโรคผิวหนังกลากเกลื้อน เหงือกปลาหมอ มีสรรพคุณในการแก้โรคไข้หัว ตลอดจนสามารถแก้โรคผิวหนังได้ทุกชนิด รวมทั้งโรคเรื้อน และคุดทะราดด้วย การจ่ายยาในกลุ่มยาบำรุงเลือด อาทิ ฝาง คำฝอย คำไทย เป็นต้น มีสรรพคุณดังนี้ ฝาง เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณในการใช้แก้ปวดท้องร่วง แก้ธาตุพิการ แก้ร้อน ยาบำรุงโลหิตสตรี ขับประจำเดือน แก้ปอดพิการ ขับหนอง แก้โลหิตออกทางทวารหนักและเบา รักษาน้ำกัดเท้า แก้คุดทะราด แก้เสมหะ และแก้เลือดกำเดา คำฝอย มีสรรพคุณ บำรุงโลหิตระดู แก้น้ำเหลืองเสีย แก้แสบร้อนตามผิวหนัง โรคผิวหนัง ฟอกโลหิต บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับระดู แก้ดีพิการ คำไทย มีสรรพคุณ บำรุงโลหิต แก้โรคโลหิตจาง แก้บิด ข้อควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน 1. งดอาหารแสลง (ห้ามรับประทานเด็ดขาด) ได้แก่ ปลาไม่มีเกล็ด เช่น ปลาดุก ปลาไหล ปลากราย เพราะเมือกและความคาวของปลาจะทำให้อาการของโรคกำเริบมากขึ้นและจะทำมีอาการคัน มากขึ้นด้วย ปลาครีบแข็ง เช่น ปลาหมอ ปลานิล (สามารถรับประทานปลาช่อนได้) ของหมักดอง เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เช่น เหล้า เบียร์ อาหารรสจัด อาหารรสมันจัด หวานจัด เค็มจัด อาหารทะเล 2. หลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการเครียด 3. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ผู้ที่สนใจสามารถเข้ารับการปรึกษาแพทย์แผนไทยได้ ทุกวันจันทร์ - ศุกร์ เวลา 8.30 - 16.00 น. ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์ ณ ตึกเจ้าพระยาอภัยภูเบศร หรือสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 037-211-088 ต่อ 3333 สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2682 9880

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ