ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกัน “บ. ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ” ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable”

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 23, 2011 09:27 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--ทริสเรทติ้ง บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่มีประกันของ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่ระดับ “A” ด้วยแนวโน้ม “Stable” หรือ “คงที่” โดยอันดับเครดิตสะท้อนกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่สม่ำเสมอจากการมีจำนวนผู้โดยสารในระบบที่เพิ่มขึ้นและมีแนวโน้มเติบโตยิ่งขึ้นเนื่องจากบริษัทเป็นผู้ให้บริการขนส่งมวลชนระบบรางเพียงผู้เดียวในเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน นอกจากนี้ อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงการมีงบดุลที่แข็งแกร่งหลังออกจากแผนฟื้นฟูกิจการด้วย ทว่าจุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการมีสัดส่วนรายได้ส่วนใหญ่จากโครงข่ายการให้บริการเพียงระบบเดียว รวมถึงการมีค่าใช้จ่ายในการลงทุนที่สูงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า และการขยายสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ในโอกาสเดียวกัน ทริสเรทติ้งยังประกาศยกเลิก“เครดิตพินิจ” แนวโน้ม “Developing” หรือ “ยังไม่ชัดเจน” ที่ให้ไว้แก่อันดับเครดิตของบริษัทเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2553 ด้วยหลังจากที่ บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) (บีทีเอส กรุ๊ป) ประกาศแผนการลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัท ทั้งนี้ บีทีเอส กรุ๊ป ได้เข้าถือหุ้นของบริษัทจำนวน 94.6% และเป็นผู้มีอำนาจเต็มในการควบคุมกิจการ ดังนั้นอันดับเครดิตของบริษัทจึงมีโอกาสได้รับแรงกดดันจากความเสี่ยงของบีทีเอส กรุ๊ป โดยพิจารณาตามหลักของความสัมพันธ์ของบริษัทแม่และบริษัทย่อย ซึ่งประมาณ 90% ของรายได้ของบีทีเอส กรุ๊ป ในปัจจุบันมาจากบริษัท จึงนับว่าบริษัทเป็นบริษัทย่อยหลักของบีทีเอส กรุ๊ป อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันบีทีเอส กรุ๊ป มีโครงสร้างทางการเงินที่อ่อนแอกว่าบริษัทจากการมีภาระหนี้ที่สูงกว่า ดังนั้น หากบีทีเอส กรุ๊ป มีสถานะเครดิตที่อ่อนแอลงก็อาจส่งผลต่ออันดับเครดิตของบริษัทในที่สุด แนวโน้มอันดับเครดิต “Stable” หรือ “คงที่” สะท้อนถึงการคาดการณ์ว่าบริษัทจะคงมาตรฐานการให้บริการที่ดีเพื่อรักษาจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการ โครงสร้างทางการเงินของบริษัทมีการปรับตัวดีขึ้นตามคาดซึ่งอยุ่ในเกณฑ์ของสถานะอันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับแรงกดดันหากกลุ่มบริษัทมีรายได้ที่มีความผันผวนและมีโครงสร้างธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ทริสเรทติ้งรายงานว่า บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพก่อตั้งในปี 2535 โดยเป็นผู้ประกอบการเอกชนเพียงรายเดียวที่ลงทุนในโครงการระบบขนส่งมวลชนในประเทศไทย บริษัทได้รับสัมปทานเป็นเวลา 30 ปีจากกรุงเทพมหานครเพื่อก่อสร้างและดำเนินการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพหรือระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสซึ่งเป็นระบบรางยกระดับที่เริ่มเปิดดำเนินการเมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2542 ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสประกอบไปด้วยเส้นทาง 2 สายคือสายสีลมและสายสุขุมวิท ซึ่งให้บริการเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 25.7 กิโลเมตร โดยวิ่งผ่านถนนสีลม สาทร และสุขุมวิท และมีสถานีเชื่อมต่อระหว่าง 2 สายที่สถานีสยาม ระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าใต้ดิน (ดำเนินการโดย บริษัท รถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน)) ที่สถานีอโศก สถานีศาลาแดง และสถานีหมอชิต ความได้เปรียบในการแข่งขันของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสอยู่ที่ความปลอดภัยเมื่อเทียบกับการเดินทางสาธารณะในระบบอื่น รวมถึงความสะดวก และตรงเวลา แม้ว่าความเสี่ยงทางการเมืองจะเป็นประเด็นกังวลสำหรับบริษัทที่ได้รับสัมปทานจากภาครัฐ แต่สัมปทานที่บริษัทได้รับถือว่าไม่ซับซ้อนและมีการบริหารที่ดี บริษัทได้รับสิทธิในการจัดเก็บรายได้ค่าโดยสารรวมทั้งการให้เช่าพื้นที่และการโฆษณาในสถานีจำนวน 23 สถานี (ยกเว้นสถานีที่เปิดใหม่ 2 สถานี คือ สถานีกรุงธนบุรีและสถานีวงเวียนใหญ่ที่สายสีลม) สำหรับธุรกิจสื่อโฆษณานั้นบริษัทดำเนินการโดยผ่านบริษัทย่อยคือ บริษัท วี จี ไอ โกลบอล มีเดีย จำกัด นอกจากนี้ บริษัทยังขยายงานไปสู่ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวรถไฟฟ้าผ่านบริษัทย่อย คือ บริษัท นูโว ไลน์ เอเจนซี่ จำกัด และ บริษัท บีทีเอส แอสเสท จำกัด ปัจจุบันบริษัทมีที่ดินจำนวน 5 แปลง โดยทั้งหมดอยู่ตามแนวเส้นทางรถไฟฟ้า สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างได้แก่โรงแรม 4 ดาวบนถนนสาธรใต้และโครงการคอนโดมิเนียมบนถนนพหลโยธิน โดยโครงการโรงแรมคาดว่าจะเริ่มสร้างรายได้ในช่วงครึ่งหลังของปีบัญชี 2555 สำหรับโครงการคอนโดมิเนียมนั้นเป็นการพัฒนาภายใต้ชื่อ “Abstracts” และคาดว่าจะโอนให้แก่ลูกค้าได้ภายในปีบัญชี 2556 ทริสเรทติ้งกล่าวว่า บริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพประสบปัญหาทางการเงินมาตั้งแต่เริ่มเปิดให้บริการจากผลของวิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดจากการลดค่าเงินบาทในปี 2540 และจำนวนผู้โดยสารที่ต่ำกว่าประมาณการ ส่งผลทำให้บริษัทต้องเข้าสู่กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในปี 2549 โดยแผนการปรับโครงสร้างหนี้ได้ข้อสรุปในปี 2551 และบริษัทออกจากแผนในปี 2552 ในเดือนพฤษภาคม 2553 บีทีเอส กรุ๊ป (เดิมชื่อบริษัท ธนายง จำกัด (มหาชน)) ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทได้ซื้อหุ้นจำนวน 94.6% ของบริษัทมูลค่ารวมทั้งสิ้น 40,034 ล้านบาทโดยวิธีการแลกหุ้นและจ่ายเงินสด จำนวนผู้โดยสารของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสเริ่มอยู่ในระดับคงตัวในปี 2547 เมื่อมีจำนวนผู้โดยสารถึงระดับ 100 ล้านเที่ยว ซึ่งใช้เวลา 4 ปีนับจากเริ่มให้บริการ ในรอบปีบัญชี 2553 จำนวนผู้โดยสารอยู่ที่ 144,474,280 เที่ยว เพิ่มขึ้น 6.28% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 395,820 เที่ยว อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันในช่วง 9 เดือนแรก (เมษายน-ธันวาคม)ของปีบัญชี 2554 ลดลงมาอยู่ที่ 384,913 เที่ยวเนื่องจากมีการหยุดเดินรถทั้งวันเป็นเวลา 8 วันและหยุดบางช่วงเวลาในเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นผลกระทบจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองในกรุงเทพมหานคร อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้โดยสารกลับคืนมาในเดือนมิถุนายน โดยมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 408,000 เที่ยว ทริสเรทติ้งเชื่อว่าจำนวนผู้โดยสารของระบบรถไฟฟ้าบีทีเอสจะเติบโตอย่างต่อเนื่องซึ่งเป็นผลจากการขยายเส้นทางการให้บริการระบบรถไฟฟ้า ตลอดจนการขยายตัวของการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ตามแนวระบบรถไฟฟ้าบีทีเอส การจราจรบนท้องถนนที่ติดขัด และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจในประเทศ สำหรับปีบัญชีสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2553 บริษัทมีรายได้ 4,782 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.9% จากปีก่อน โดยมีรายได้ค่าโดยสารเป็นรายได้หลักอยู่ที่ 70.9% ของรายได้ทั้งหมด ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของจำนวนผู้โดยสารจากการเปิดให้บริการส่วนต่อขยายสายสีลมและรายได้จากการรับจ้างเดินรถในส่วนต่อขยายสายสีลม ทั้งนี้ บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ปีซึ่งเป็นผลมาจากการลดลงของค่าใช้จ่ายทางการเงินหลังจากการปรับโครงสร้างหนี้ อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 53.94% เปรียบเทียบกับ 52.42% เมื่อปีก่อน อัตราส่วนกำไรที่ดีขึ้นเป็นผลจากการมีค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงที่ลดลงเนื่องจากการซ่อมบำรุงครั้งใหญ่ทั้งตัวรถและระบบรางได้แล้วเสร็จตั้งแต่ปีบัญชี 2552 อย่างไรก็ตาม อัตราส่วนกำไรในช่วง 9 เดือนแรกของปีบัญชี 2554 ลดลงมาอยู่ที่ 51.35% ซึ่งเป็นผลมาจากการมีค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารธุรกิจอสังหาริมทรัพย์สูงขึ้นซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ใช้ไปในการประชาสัมพันธ์แบรนด์ “Abstracts” โครงสร้างเงินทุนของบริษัทหลังการปรับโครงสร้างหนี้และเพิ่มทุนปรับตัวดีขึ้นอย่างมาก โดยอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อโครงสร้างเงินทุนลดลงจาก 121.5% ในปีบัญชี 2551 มาอยู่ที่ 40.74% ในปีบัญชี 2552 และเป็น 25.98% ในเดือนธันวาคม 2553 ความสามารถในการชำระหนี้ถึงแม้จะยังคงอ่อนแอแต่ก็ปรับตัวดีขึ้นตามคาด อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจาก 0.99 เท่าในปีบัญชี 2552 มาอยู่ที่ 5.17 เท่าในปีบัญชี 2553 อัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อเงินกู้รวมปรับเพิ่มขึ้นจาก 8.21% มาอยู่ที่ 17.14% ในช่วงเดียวกัน อย่างไรก็ตาม การมีแผนลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์หลายโครงการทำให้คาดว่าบริษัทจะมีการใช้เงินลงทุนที่สูงกว่ากระแสเงินสดจากการดำเนินงานในช่วงการก่อสร้างโครงการ ทริสเรทติ้งคาดว่าเงินลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของบริษัทจะมาจากเงินได้จากการดำเนินงาน ทั้งนี้ แม้จะคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะไม่ปรับลดลงในระยะปานกลาง แต่ก็คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BTSC) อันดับเครดิตองค์กร: คงเดิมที่ A อันดับเครดิตตราสารหนี้: BTS128A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2555 คงเดิมที่ A BTS138A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 2,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2556 คงเดิมที่ A BTS148A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 4,000 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2557 คงเดิมที่ A BTS158A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2558 คงเดิมที่ A BTS168A: หุ้นกู้ไม่มีประกัน 1,500 ล้านบาท ไถ่ถอนปี 2559 คงเดิมที่ A แนวโน้มอันดับเครดิต: Stable (คงที่)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ