พม.จับมือ ๔ องค์กร ลงนามความร่วมมือ ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนพิการ

ข่าวทั่วไป Wednesday February 23, 2011 10:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--พม. วันนี้ (๒๓ ก.พ.๕๔) เวลา ๐๙.๐๐ น. นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือเพื่อการช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดี แก่คนพิการ ร่วมกันระหว่าง ๕ หน่วยงาน และเปิดโครงการอบรมผู้ไกล่เกลี่ยข้อพิพาทการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ ณ ห้องแคทลียา โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายอิสสระ สมชัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า คนพิการ นับว่าเป็นกลุ่มผู้ด้อยโอกาสในสังคมที่รัฐบาลต้องปกป้องคุ้มครองมิให้ถูกละเมิดสิทธิ และสามารถเข้าถึง รวมทั้งใช้ประโยชน์จากสิทธิต่างๆ ตามที่กฎหมายกำหนด โดยเฉพาะในกรณีที่คนพิการมีความจำเป็นต้องใช้สิทธิทางศาล ก็ควรได้รับการช่วยเหลือทางกฎหมายเพื่อให้เข้าถึงความเป็นธรรมได้อย่างทั่วถึง และขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ ในฐานะหน่วยงานที่มีภารกิจในด้านการพัฒนาสังคม และส่งเสริม พัฒนาคุณภาพและความมั่นคงในชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะผู้ด้อยโอกาสในสังคม จึงได้ประสานความร่วมมือกับ ๔ หน่วยงานหลัก ได้แก่ กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด เนติบัณฑิตยสภา ในพระบรมราชูปถัมภ์ และสภาทนายความ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เพื่อการช่วยเหลือทางกฎหมายและการจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ เพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนพิการ ซึ่งเป็นผู้ด้อยโอกาสในสังคมในเรื่องต่างๆ เช่น การให้คำปรึกษาและความรู้ทางกฎหมาย การไกล่เกลี่ย การจัดหาทนายความและการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ โดยมีสาระสำคัญในการดำเนินการ ดังนี้ ๑. ร่วมมือและสนับสนุนการช่วยเหลือทางกฎหมายและจัดหาทนายความว่าต่างแก้ต่างคดีแก่คนพิการ ๒.ร่วมมือดำเนินการให้คำปรึกษาทางกฎหมาย การให้ความรู้ทางกฎหมาย การจัดทำนิติกรรมสัญญา การไกล่เกลี่ยหรือการประนีประนอมยอมความ การจัดหาทนายความและการให้ความช่วยเหลืออื่นๆ ในทางคดี ทั้งในกรุงเทพมหานครและในต่างจังหวัด ๓. กระทรวงการพัฒนาสังคมฯ จะสนับสนุนค่าใช้จ่ายตามวงเงินงบประมาณตามที่ได้รับ เช่น ค่าธรรมเนียมศาล ค่าประกันตัวผู้ต้องหา ค่าวิชาชีพทนายความ หรือค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่จำเป็น เพื่อให้การช่วยเหลือทางกฎหมายแก่คนพิการให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยคนพิการสามารถขอรับความช่วยเหลือทางกฎหมายได้ที่ศูนย์คุ้มครองสวัสดิภาพชุมชน กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ๑๒ แห่ง หรือที่สำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการแห่งชาติ (พก.) บ้านราชวิถี ส่วนในต่างจังหวัดขอรับความช่วยเหลือได้ที่สำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดทุกจังหวัด นายอิสสระ กล่าวต่อว่า รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ ในด้านการแก้ไขปัญหาความยากจน การขจัดการเลือกปฏิบัติต่อคนพิการ และการจัดสวัสดิการให้คนพิการและผู้ด้อยโอกาสได้มีคุณภาพชีวิตและพึ่งพาตนเองได้ โดยได้บังคับใช้พระราชบัญญัติส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ พ.ศ.๒๕๕๐ เพื่อผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติอย่างแท้จริง เช่น การจัดสวัสดิการเบี้ยความพิการ การจัดบริการล่ามภาษามือ การปรับปรุงที่อยู่อาศัยแก่คนพิการ การจัดสิ่งอำนวยความสะดวก การขจัดการเลือกปฏิบัติ การให้ความช่วยเหลือทางกฎหมาย การสร้างความเข้มแข็งแก่องค์กรด้านคนพิการ การส่งเสริมอาชีพและการมีงานทำ รวมทั้งการแก้ไขกฎหมายเพื่อปรับปรุงการบริหารจัดการ และสนับสนุนให้คนพิการสามารถเข้าถึงสิทธิได้มากขึ้น ซึ่งกำลังผลักดันเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรในเร็ววันนี้ ทั้งนี้ หลังพิธีลงนามฯ จะมีการฝึกอบรมการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทการกระทำในลักษณะที่เป็นการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการ โดยมีผู้เข้ารับการอบรมจากผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้แทนองค์กรด้านคนพิการและอาสาสมัคร รวม ๒๐๐ คน กำหนดระยะเวลาการฝึกอบรมทั้งสิ้น ๓ วัน โดยเชิญวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากศาลฎีกา กระทรวงยุติธรรม สถาบันพระปกเกล้า อนุกรรมการขจัดการเลือกปฏิบัติโดยไม่เป็นธรรมต่อคนพิการและผู้นำคนพิการ.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ