กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--อินโดรามา เวนเจอร์ส
บริษัท อินโดรามา เวนเจอร์ส จำกัด (มหาชน) หรือ IVL อยู่ในระหว่างการเจรจาหารือร่วมกับบริษัท CSM ซึ่งเป็นบริษัทย่อยในเครือของ Purac (พูแรค) เตรียมสร้างโรงงานผลิตโพลีแลคติคแอซิด (Polylactic Acid) หรือ PLA ในประเทศไทย ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 10,000 ตันต่อปี และเพิ่มเป็น 100,000 ตันต่อปีหลังจากการพัฒนาแอพพลิเคชั่นชนิดพิเศษออกสู่ตลาด โดยผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นนี้จะมีแล็คไทด์ (Lactides) ซึ่งมีความบริสุทธิ์สูงเป็นองค์ประกอบหลัก ซึ่งแล็คไทด์โมโนเมอร์สเหล่านี้จะมาจากโรงงานผลิตแล็คไทด์ของพูแรคซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดระยองรวมทั้งมาจากโรงงานแห่งอื่น ๆ ของพูแรคด้วย
พีแอลเอ (polylactic acid, PLA) ชนิดนี้จะปลอด GMO, เป็นธรรมชาติและเป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ ซึ่งเป็นทางเลือกที่ยั่งยืนสำหรับสารโพลีเมอร์จากน้ำมัน PLA มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณต่ำกว่าเมื่อเทียบกับโพลีเมอร์ประเภทอื่น ๆ และจัดอยู่ในตลาดบรรจุภัณฑ์ เส้นใยและสิ่งทอจากขนสัตว์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ IVL จะทำการตลาดผ่านทางเครือข่ายการจัดจำหน่ายสินค้าของบริษัทที่มีอยู่ทั่วโลก
การผสมผสานระหว่างการใช้วัตถุดิบซึ่งเป็นแล็คไทด์ที่มีความเฉพาะผนวกกับกระบวนการผลิต PLA ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้เราสามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพ ซึ่งมีความเสถียรในอุณหภูมิความร้อนระดับต่างๆ เมื่อเทียบกับสินค้าไบโอพลาสติกอื่น ๆ คุณสมบัติของโพลีเมอร์ชนิดนี้สามารถนำไปใช้ในการผลิตสินค้าสิ่งทอและบรรจุภัณฑ์หลากหลายประเภท ซึ่งถือเป็นเรื่องยากสำหรับผลิตภัณฑ์ชีวภาพอื่น ๆ PLA สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย อาทิเช่น เบาะ, เสื้อผ้าที่ใช้แล้วทิ้ง, ผ้าใบบังแดด, บรรจุภัณฑ์อาหาร และอุปกรณ์บนโต๊ะอาหารประเภทใช้แล้วทิ้ง
นายเจอราร์ด ฮอทเมอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท CSM กล่าวว่า "การร่วมมือกับ IVL ครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในการพัฒนาตลาด PLA เนื่องจาก IVL คือผู้ผลิตโพลีเอสเตอร์รายที่ใหญ่ที่สุดในโลกและยังเป็นผู้นำในการผลิตวัตถุดิบสำหรับสิ่งทอและบรรจุภัณฑ์" นายเจอราร์ดเสริมว่า "การร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการขยายขอบเขตแอพพลิเคชั่นที่เป็นวัสดุที่ย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และเร่งการพัฒนาตลาดของ PLA นี่จะเป็นอีกหนึ่งก้าวย่างที่สำคัญสำหรับไบโอพลาสติกในตลาดบรรจุภัณฑ์ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว"
"เราเชื่อมั่นในการสร้างคุณค่าที่เหนือกว่าให้แก่ลูกค้าของเรา โดยการลงทุนในผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีที่มีความยั่งยืน" นาย อาลก โลเฮีย ประธานบริหารกลุ่ม บมจ. อินโดรามา เวนเจอร์ส กล่าว "พูแรค ได้หยิบยื่นโอกาสสำคัญทำให้เราก้าวเข้าสู่วัสดุในยุคใหม่ วัสดุที่มีความยั่งยืนสูง, เป็นวัสดุชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ ตลอดจนมีปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ต่ำ”