กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--อุทยานการเรียนรู้ TK park
เมื่อเร็วๆ นี้ อุทยานการเรียนรู้ TK park ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “นวัตกรรมการทำดี คนไอทีเพื่อสังคม” ขึ้นเพื่อเป็นเวทีในการพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของกลุ่มคนทำดีเพื่อสังคม โดยนำไอทีมาใช้ประโยชน์
นายไพบูลย์ แดงประสิทธิ์ บรรณาธิการบริหาร บริษัท พีดับบลิวดี มัลติมีเดีย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบัน จากสถิติขององค์การอนามัยโลกพบว่ามีคนพิการจากทั่วโลกกว่า10% ขณะที่ในประเทศไทยจากตัวเลขของสำนักงานส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการพบว่า มีอยู่ถึง 1,216,664 คน (ข้อมูล ณ วันที่ 31 มกราคม 2554 ) ส่วนใหญ่เป็นเพศชายมากกว่าเพศหญิง โดยสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุที่เพิ่มมากขึ้น คาดว่า ในปีนี้จะมีแนวโน้มคนพิการจากอุบัติเหตุเพิ่มขึ้นถึง 20,000 คน
หากแบ่งคนพิการตามประเภท จะพบว่า ส่วนใหญ่เป็นคนพิการทางร่างกายหรือการเคลื่อนไหว ที่มีอยู่กว่า 20% , คนพิการทางการได้ยิน 14% ,คนตาบอด 10% และมีเพียง .13% ที่เป็นคนพิการด้านการเรียนรู้ หากแบ่งตามภูมิภาค พบว่า ภาคอีสานจะมีคนพิการมากที่สุดถึง 36% รองลงมาคือ ภาคเหนือ 22% , ภาคกลางและภาคตะวันออก รวมกันประมาณ 21% และภาคใต้ 11 % ส่วนกรุงเทพมหานคร มีคนพิการประมาณ 4%
นายไพบูลย์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีโอกาสสัมผัสและร่วมงานกับคนพิการจากงาน OTOP City ทำให้เห็นถึงอุปสรรคสำคัญต่อการดำรงชีวิตของคนพิการ คือ การที่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน มีความลำบากและต้องใช้เวลาเตรียมตัวนานหลายชั่วโมงมากกว่าคนปกติ ทั้งเรื่องการเดินทาง การติดต่อสื่อสาร บางครั้งอาจต้องเสี่ยงกับอันตรายบนท้องถนน และมีค่าใช้จ่ายสูง ดังนั้น การเดินทางออกนอกบ้านของคนพิการในแต่ละครั้งจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งคนพิการทางร่างกายหรือพิการทางการเคลื่อนไหวจะยากลำบากมากขึ้น
“ บริษัทจึงมีแนวคิดนำเทคโนโลยีหรือไอทีมาใช้ ทำให้คนพิการสามารถเพิ่มพูนทักษะและนำไปประกอบอาชีพได้เองในบ้าน โดยการจัดฝึกอบรม สอนวิธีการใช้ไอทีให้คนพิการ สามารถใช้ส่วนหนึ่งส่วนใดของร่างกายขยับเม้าท์หรือทำงานบนคอมพิวเตอร์ได้ และการเขียนเว็บบล็อก รวมทั้งการพัฒนาโปรแกรมขึ้นมาให้คนพิการสามารถทำงานได้เองที่บ้าน ก็จะช่วยลดค่าใช้จ่าย ลดอัตราความเสี่ยงที่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน เรียกว่า เป็นการใช้ไอที สำหรับการดำรงชีพให้กับคนพิการ และมีรายได้โดยไม่ต้องเดินทางออกนอกบ้าน”
ด้านนายปรีดา ลิ้มนนทกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พีดับบลิวดี มัลติมีเดีย จำกัด กล่าวว่า ตนเองก็เป็นคนพิการทางร่างกายคนหนึ่งซึ่งยอมรับว่าการออกจากบ้านในแต่ละครั้งมีอุปสรรคค่อนข้างมาก จึงมาคิดว่า ยังมีคนพิการอื่น ๆ อีกจำนวนมากที่ออกจากบ้านลำบากและมีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้มาคิดได้ว่า หากเราสามารถนำเทคโนโลยีหรือไอทีมาใช้ประกอบอาชีพ ทำให้คนพิการไม่ต้องออกนอกบ้าน สามารถประกอบอาชีพได้เองในบ้านแม้แต่คนพิการระดับที่รุนแรง หรือ ทุพพลภาพขยับได้ตั้งแต่คอขึ้นไปก็สามารถประกอบอาชีพได้ด้วยไอที ที่เรียกว่า Telesales เพื่อคนพิการ จึงเป็นที่มาของโครงการฝึกอบรมการใช้ไอทีให้กับคนพิการ
อย่างไรก็ดี นายปรีดา ยอมรับว่า การเข้ามาทำงานด้านจิตอาสากับคนพิการนั้น ในช่วงแรก ๆ ไม่ได้คิดถึงเรื่องของคนพิการ เพราะตัวเองก็พิการอยู่แล้ว แต่ไม่ต้องการขอความช่วยเหลือจากใคร จนกระทั่งได้รับการชักชวนจากผู้ใหญ่คนรู้จัก ให้เข้ามาช่วยเหลือวงการคนพิการ โดยการนำความรู้ความสามารถทางด้านไอทีมาใช้ จนถึงปัจจุบันนี้ ก็ยังทำอยู่ เพราะเห็นผลชัดเจนจากเดิมที่ต้องอาศัยพี่ชาย อยู่แฟลตตำรวจ พอทำงานได้ เพียง 3 เดือนก็มีรายได้กว่าแสนบาท
“นั่น...จึงเป็นจุดเริ่มต้นการนำไอทีมาใช้ในการทำงานสำหรับคนพิการ เพื่อสร้างรายได้โดยไม่ต้องออกนอกบ้าน นอกจากนี้ ยังทำให้สนุก มีความสุขกับสิ่งที่ทำ และเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ที่สำคัญ ยังแสดงให้เห็นว่า คนพิการก็สามารถช่วยเหลือผู้อื่นได้
เช่น กรณีช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยที่ผ่านมา เราได้มีการจัดตั้งทีมอาสาสมัครคนพิการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยขึ้นมา ด้วยการใช้ไอทีค้นหาและรวบรวมพื้นที่ที่ประสบภัยที่ยังไม่ได้ความช่วยเหลือ โดยการนำSMSขอความช่วยเหลือจากผู้ประสบภัยที่ต้องการความช่วยเหลือเร่งด่วนจากทุกค่ายมือถือมาวางตำแหน่งลงบน Google Maps ด้วยวิธีการที่เรียกว่า เบิร์ดอาย วิว ซึ่งทำให้รู้ตำแหน่งที่ยังต้องการความช่วยเหลือที่ชัดเจนและมองเห็นภาพในมุมที่กว้างมากขึ้น ช่วยให้องค์กรหรือหน่วยงานสามารถเข้าไปช่วยเหลือได้อย่างทั่วถึง ถือเป็นครั้งแรกของไทยที่คนพิการได้มีการนำไอทีเข้ามาช่วยเหลือแก่ผู้ประสบภัยอย่างเป็นรูปธรรม แต่ยังมีสิ่งที่ยังต้องการได้รับการปรับปรุงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดทำหลักสูตรการเรียนการสอนด้านไอที ให้มีการเสริมความรู้ในการนำไปประยุกต์ใช้สำหรับคนพิการเพิ่มเติม เพื่อคนพิการสามารถนำไปใช้งานได้จริง ”
ขณะที่ นางสาวสุจิตรา สาระอินทร์ ผู้ช่วยผู้จัดการ มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย (อพท.) กล่าวว่า มูลนิธิเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไร ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 การดำเนินงานจะเป็นการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้อินเทอร์เน็ตอย่างสร้างสรรค์และปลอดภัยให้กับเด็ก ๆ ครู และบุคคลทั่วไป รวมทั้งคนพิการ โดยล่าสุดได้เปิด “ศูนย์สาธิตอุปกรณ์และโทรคมนาคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ” ขึ้น เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา เพราะได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ เพื่อให้เข้าถึงการใช้ไอทีได้เช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยการสาธิตอุปกรณ์และการให้บริการด้านโทรคมนาคม รวมถึงการให้ความรู้เรื่องสิทธิของคนพิการด้วย
นอกจากนี้ ทางมูลนิธิฯ ยังได้ร่วมกับเนคเทค (สวทช.) พัฒนาโปรแกรม หรือ ซอฟต์แวร์ ที่เรียกว่า “โอภาปราศรัย” เพื่อเป็นเครื่องมือในการช่วยแก้ไขอุปสรรคด้านการสื่อสารระหว่างคนพิการกับคนปกติ เช่น กรณีคนพิการที่ไม่สามารถพูดได้ โปรแกรมนี้จะสะกดออกมาเป็นเสียงพูดแทนความต้องการได้ หรือ กรณีคนตาบอด ก็จะมีคีย์บอร์ดที่เป็นอักษรเบลล์ หรือแม้แต่คนพิการทางสายตาที่เลือนลาง ก็จะทำตัวอักษรที่เรียกว่า ซูมแท็ก
นางสาวสุจิตรา กล่าวอีกว่า “ สำหรับคนพิการที่พูดไม่ได้ และหูไม่ได้ยินนั้น ยิ่งลำบากมากในการดำรงชีวิต ดังนั้น การนำไอทีมาใช้จะช่วยเหลือคนพิการเหล่านั้นได้มาก ถือว่าการนำไอทีมาใช้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญยังเป็นการช่วยให้คนพิการและคนปกติได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นด้วย”
นอกจากนี้ ผู้ช่วยผู้จัดการ อพท. ยังได้เชิญชวนผู้ที่ใช้อินเทอร์เน็ต นำไอทีมาใช้ให้เกิดประโยชน์มากกว่าการแชท หรือ บีบี เช่น การตั้งกลุ่มจิตอาสาขึ้นตามโรงเรียนต่าง ๆ โดยใช้เครือข่ายที่มีอยู่ใน social network เป็นเครื่องมือในการกระจายข้อมูลข่าวสารที่ไม่ต้องมีต้นทุน โดยการชักชวนเพื่อน ๆ มารวมกลุ่มกันทำความดีโดยใช้ไอทีให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการอ่านหนังสือให้คนตาบอด หรือคนเจ็บป่วยในโรงพยาบาล
ขณะที่นายปรีดา กล่าวเสริมว่า การมีจิตอาสา ที่จริงแล้วอยู่ใกล้ตัวมาก เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ทำกันมา และถูกปลูกฝังตั้งแต่เด็ก ๆ คือ ความมีน้ำใจและการเอื้อเฟื้อต่อกันอยู่แล้ว พร้อมทั้งได้ให้ข้อคิดว่า ทุกคนมีโอกาสที่จะกลายเป็นคนพิการได้ตลอดเวลา จึงไม่ควรประมาทในการใช้ชีวิต
ทั้งนี้ทางบริษัทฯ ยังได้ร่วมกับทีเคพาร์ค จัดทำโครงการฝึกอบรมด้านไอทีให้กับคนพิการ และบุคคลทั่วไปขึ้นในเร็ว ๆ นี้ ผู้สนใจสามารถติดตามข้อมูลข่าวสารได้ที่อุทยานการเรียนรู้ TK park ชั้น 8 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ หรือที่เว็บไซต์ www.tkpark.or.th