สุขุมพันธุ์ เปิดตัวโครงข่าย “ซูเปอร์สกายวอล์ค” ครั้งใหญ่ ระยะทาง 50 กิโลเมตร คืนทางเท้าให้คนกรุงเทพฯ เดินได้สะดวกขึ้น

ข่าวทั่วไป Wednesday February 23, 2011 17:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.พ.--กองประชาสัมพันธ์ กทม. - 16 กิโลเมตรแรกเสร็จภายใน 18 เดือน ได้แก่ ถนนสุขุมวิท (12 กม.) ถนนพญาไท (3 กม.) ถนนรามคำแหง (1.3 กม.) วงเวียนใหญ่ (0.5 กม.) - เป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ จะมีโครงข่ายทางเดินลอยฟ้าสำหรับประชาชนอย่างบูรณาการ ทั่วถึง และเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างยั่งยืน - “ทางเดินเท้า ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคสำคัญเพียงอย่างเดียวในกรุงเทพฯ ที่เกือบจะไม่เคยมีการขยายเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเดินเท้าต้องเสียสิทธิที่พึงมีพึงได้ไปเรื่อยๆ” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร วันนี้ ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศเปิดตัวแผนแม่บทสำหรับการก่อสร้าง ‘โครงข่ายทางเดินลอยฟ้า หรือ ซูเปอร์สกายวอล์ค (SuperSkywalk System)’ เพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีทางเดินลอยฟ้าที่ปราศจากสิ่งกีดขวางการเดินเป็นระยะทางรวม 50 กิโลเมตร โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจ “กรุงเทพฯ ก้าวหน้า” ซึ่งมุ่งแก้ปัญหาใหญ่ของกรุงเทพฯ อย่างยั่งยืน โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คดังกล่าวจะแบ่งการก่อสร้างเป็น 2 เฟส โดยการก่อสร้างในเฟสแรกระยะทางรวม 16 กิโลเมตร จะเริ่มในเดือนมีนาคม 2554 ส่วนเฟสที่สอง ระยะทางประมาณ 32 กิโลเมตร มีแผนจะก่อสร้างในปี 2555-2557 ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ให้คำมั่นว่า โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค 16 กิโลเมตรแรก จะก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน18 เดือนเท่านั้น ซึ่งหลังจากเปิดใช้จะทำให้ กรุงเทพฯ มีทางเดินลอยฟ้ายาวขึ้นกว่าเดิม 10 เท่า ทั้งนี้ โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค ส่วนแรกจะสร้างครอบถนนสุขุมวิทเกือบทั้งสาย โดยเริ่มจากซอยนานาไปถึงซอยแบริ่ง และอีก 3 สายบนถนนพญาไท ถนนรามคำแหง และใกล้กับวงเวียนใหญ่ในย่านธนบุรี “นี่ถือเป็นครั้งแรกที่กรุงเทพฯ จะมีโครงข่ายทางเดินลอยฟ้าสำหรับประชาชนที่เชื่อมโยงกันอย่างบูรณาการ ทั่วถึง และเป็นประโยชน์ในวงกว้างอย่างยั่งยืน โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คนี้จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ สามารถเชื่อมต่อจุดต่างๆ ในย่านที่คนพลุกพล่านหลายส่วนของกรุงเทพฯ ได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าวว่า “โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค จะช่วยให้คนกรุงเทพฯ มีพื้นที่ในการเดิน-เท้ามากขึ้น ทำให้สามารถเดินไปยังจุดหมายปลายทางใกล้ๆ ได้อย่างสะดวกสบาย เพื่อให้การเดินเท้าเป็นทางเลือกแทนการขับรถ สำหรับการเดินทางระยะสั้นๆ” นอกจากนั้น โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คทั้งหมดยังได้รับการออกแบบเพื่อให้คนอยากจะใช้บริการระบบขนส่งมวลชนมากขึ้น “ในส่วนของการเดินทางระยะไกลๆ ก็เช่นเดียวกัน ซูเปอร์สกายวอล์คจะช่วยให้คนตัดสินใจจอดรถไว้ที่บ้าน เพราะโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คถูกออกแบบให้สอดรับเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ กล่าวคือคนสามารถจะใช้บริการระบบขนส่งรถไฟฟ้าได้อย่างสบายใจ โดยไม่ต้องกลัวว่าเมื่อออกจากระบบรถไฟฟ้าแล้วจะเดินทางต่อไปยังจุดหมายปลายทางลำบาก เพราะสามารถเดินเท้าต่อไปได้สะดวกรวดเร็วกว่าเดิมมาก ทั้งยังไม่ต้องกลัวแดด และฝนอีกด้วย” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว “ภารกิจกรุงเทพฯ ก้าวหน้า เป็นความตั้งใจของผมมาตั้งแต่ต้น ที่จะไม่ออกแบบโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานแบบครึ่งๆ กลางๆ ในอดีตที่ผ่านมาบ่อยครั้งมีการทำโครงการแบบครึ่งๆ กลางๆ ทำให้เกิดการสูญเปล่า และเป็นการใช้เงินภาษีอากรของประชาชนอย่างไม่มีประสิทธิภาพ แต่ในส่วนของโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คนี้ ผมไม่สร้างสกายวอล์คแบบแยกส่วน แต่จะทำเป็นแผนบูรณาการครอบคลุมรอบพื้นที่อย่างทั่วถึง” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว นอกจากนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับคนเดินเท้าในเวลากลางคืน ตลอดแนวเส้นทางโครงข่ายซูเปอร์-สกายวอล์คจะมีไฟฟ้าส่องสว่าง พร้อมกับกล้องวงจรปิดที่คอยตรวจจับความเคลื่อนไหว ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ ตั้งข้อสังเกตว่า “ทางเดินเท้า ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐาน หรือสาธารณูปโภคสำคัญเพียงอย่างเดียวในกรุงเทพฯ ที่เกือบจะไม่เคยมีการขยายเลยในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนเดินเท้าต้องเสียสิทธิที่พึงมีพึงได้ไปเรื่อยๆ” “การขยายตัวของเมืองที่มาพร้อมกับความหนาแน่นของประชากร ทำให้เราเพิ่มพื้นที่ในส่วนของที่พักอาศัยและสำนักงาน ด้วยการก่อสร้างอาคารสูงมากขึ้น ขยายถนนให้มากขึ้น เพิ่มกำลังการผลิตกระแสไฟฟ้า เพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ และขยายศักยภาพของระบบโทรคมนาคม แต่ทั้งหมดทั้งปวง เราแทบจะไม่ได้เพิ่มพื้นที่ทางเดินเท้าเพื่อรองรับกับความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มขึ้นเลย โครงข่ายซูเปอร์-สกายวอล์คจะเข้ามาเสริมให้คนใน กรุงเทพฯ มีพื้นที่เดินเท้าที่สะดวกสบายเพิ่มขึ้น และผมมั่นใจว่า เมื่อเปิดใช้บริการจะมีคนกรุงเทพฯ ใช้ซูเปอร์สกายวอล์คเป็นทางเลือกในการเดินทางมากขึ้น” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ได้ยกตัวอย่างถนนอโศก ซึ่งเป็นย่านที่มีการก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐานเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงการขยายถนนและก่อสร้างตึกสูงไว้ว่า “ราวปี พ.ศ. 2520 มีผู้พักอาศัย หรือทำมาหากินอยู่ในย่านอโศกประมาณ 50,000 คน ช่วงนั้นยังไม่มีการสร้างคอนโดมิเนียมและอาคารสำนักงานสูงๆ เลย แต่ทุกวันนี้ ย่านอโศกมีผู้คนเข้ามาใช้พื้นที่ประมาณ 1,000,000 คนต่อวัน เรียกว่าเพิ่มขึ้นถึง 20 เท่า มีการขยายถนนให้ใหญ่ขึ้นมาก ระบบระบายน้ำและสาธารณูปโภคอื่นๆ ก็ได้รับการพัฒนาขยับขยายขึ้นรองรับการใช้งาน เช่นเดียวกับอาคารสำนักงานและโครงการคอนโดมิเนียมใหญ่ๆ ก็เกิดขึ้นเป็นเงาตามตัว แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เพิ่มขึ้นเลยคือ พื้นที่ทางเดินเท้ายังมีอยู่เท่าเดิม” ม.ร.ว. สุขุมพันธุ์ กล่าว สำหรับงบประมาณการก่อสร้างโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์คในเฟสแรกประมาณ 5,200 ล้านบาท ส่วนเฟสที่สองของโครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค จะก่อสร้างในปี 2555 - 2557 และคาดว่าจะใช้งบประมาณในการก่อสร้างราว 10,000 ล้านบาท สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ กองประชาสัมพันธ์ กรุงเทพมหานคร โทรศัพท์ 02-621-0708 โทรสาร 02-621-0707 หมายเหตุถึงบรรณาธิการ: โครงข่ายซูเปอร์สกายวอล์ค ภายใต้ ภารกิจ กรุงเทพฯ ก้าวหน้า ออกแบบขึ้นเพื่อให้คนกรุงเทพฯ ลดการใช้รถส่วนตัว - สำหรับการเดินทางระยะสั้นๆ ระบบซูเปอร์สกายวอล์คจะเป็นพื้นที่ทางเดินเท้าที่สะดวกสบาย ปราศจากสิ่งกีดขวาง - สำหรับการเดินทางระยะไกล สะดวกสบายสำหรับการใช้บริการระบบขนส่งรถไฟฟ้า และสามารถเดินเท้าไปยังจุดหมายปลายทางได้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยไม่ต้องกลัวแดด และฝน สกายวอล์คที่ใช้อยู่ในปัจจุบันนี้มีความยาว: ประมาณ 1.5 กม. — สร้างขึ้นในช่วง 10 ปีที่แล้ว เฟสที่ 1 ระยะทาง: ประมาณ 16 กม. — ก่อสร้างปี 2554-2555 เฟสที่ 2 รวมระยะทางทั้งหมด: ประมาณ 50 กม. — ก่อสร้างปี 2555-2557 - จุดที่ตั้งปัจจุบัน: ราชประสงค์ / ถนนวิทยุ-โรงงานยาสูบ / แยกพระราม 4-สีลม - จุดที่ตั้งของเฟสที่ 1: สุขุมวิท / พญาไท / รามคำแหง / วงเวียนใหญ่ - จุดที่ตั้งของเฟสที่ 2: ราชดำริ / สีลม / สาทร / เพชรบุรี / รามคำแหง / ทองหล่อ / เอกมัย / พหลโยธิน / กรุงธนบุรี / บางหว้า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ