กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ไอแอม พีอาร์
ในอดีตการเรียนรู้เรื่องประวัติศาสตร์ อาจฟังดูแล้วเป็นชั่วโมงที่น่าเบื่อสำหรับหลายๆ คนโดยเฉพาะเด็กๆ วัยซุกซน เพราะเรื่องเก่าๆ มักถูกนำมาเล่าด้วยวิธีพื้นๆ ดูแล้วไม่มีอะไรตื่นเต้นน่าสนใจ
แต่เมื่อ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ สังกัด สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์กรมหาชน) ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ที่จะบ่มเพาะเด็กและเยาวชนไทยรุ่นใหม่ให้เป็นผู้ใฝ่รู้ อันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์สังคมแห่งการเรียนรู้ เพื่อรองรับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน ได้นำเรื่องเก่ามาเล่าใหม่ผ่านการนำเสนอที่สร้างสรรค์และน่าสนใจผ่านการเรียนรู้ที่สนุกสนานในรูปของ Discovery Museum ที่มุ่งเน้นให้ผู้ชมได้เรียนรู้ด้วยตนเอง
โดยนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์ชาติไทยผ่านการตีความและนำเสนอในรูปแบบใหม่ในนิทรรศการถาวรที่มีชื่อว่า “เรียงความประเทศไทย” ซึ่งจัดแสดงอยู่ที่ “มิวเซียมสยาม” ท่าเตียน กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้รูปแบบใหม่ ที่ประสบความสำเร็จและได้รับเสียงตอบรับอย่างล้นหลาม
และเพื่อไม่ให้ “ความรู้” กระจุกตัวอยู่แต่ในเมืองหลวง สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ(สพร.) จึงได้จัดทำโครงการนิทรรศการและกิจกรรมการเรียนรู้เคลื่อนที่ “Muse Mobile พิพิธภัณฑ์ติดล้อ” ย่อส่วนนิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย” จาก “มิวเซียมสยาม” เดินทางออกไปบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของประเทศไทยจากเหนือจรดใต้ เพื่อกระตุกต่อมคิดจุดประกายขยายพื้นการเรียนรู้รูปแบบใหม่สู่เยาวชนไทยทั่วประเทศ
โดยล่าสุดได้ร่วมกับ สถาบันทักษิณคดีศึกษา, เทศบาลนครหาดใหญ่ และ ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ นำ “Muse Mobile พิพิธภัณฑ์ติดล้อ” มาร่วมเปิดพื้นที่สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้กับเยาวชนในจังหวัดสงขลา ซึ่งในครั้งนี้ถือเป็นการเดินทางครั้งที่ 5 หลังจากประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี จากการสัญจรไปให้ความรู้กับเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2552 ยังจังหวัดลำปาง, จังหวัดน่าน, จังหวัดพิษณุโลก และจังหวัดตรัง
ดร.วิทูร กรุณา ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวถึงการจัดกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียนให้แก่เด็กและเยาวชนว่าเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเยาวชนไทย ท่ามกลางการไหลบ่าของวัฒนธรรมสมัยใหม่ในโลกไร้พรมแดน
“ในปัจจุบันเราต้องสร้างวัคซีนให้กับสังคม ให้เยาวชนรู้จักเลือกที่จะรับ โดยมีครอบครัว โรงเรียน และสังคมเป็นผู้กลั่นกรอง ว่าสิ่งไหนดีหรือไม่ดี เพราะเราไม่สามารถปิดกั้นการไหลบ่าของวัฒนธรรมในโลกไร้พรมแดนได้ ดังนั้นเราจึงต้องช่วยกันคิด ช่วยกันฉีดวัคซีนให้กับสังคม ซึ่งการจัดกิจกรรมพิพิธภัณฑ์เคลื่อนที่ Muse Mobile ที่เดินทางออกไปให้ความรู้กับเด็กและเยาวชนในต่างจังหวัด ก็เท่ากับว่าได้ไปกระตุ้น กระตุกให้เยาวชน ให้พบเห็นสิ่งใหม่ๆ ได้เรียนรู้ในเรื่องใหม่ๆ ได้มีกิจกรรมที่เสริมสร้างประสบการณ์ที่ดี ซึ่งเป็นการสร้างวัคซีนหรือภูมิคุ้มกันที่ดีให้กับเด็กไทยอีกทางหนึ่ง”
นายราเมศ พรหมเย็น รักษาการ ผอ.สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติเปิดเผยว่า พันธกิจหลักขององค์กรคือมีหน้าที่ในการสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเพลิดเพลิน โดยนำเสนอรูปแบบใหม่ในการเรียนรู้นอกห้องเรียน เพราะการเรียนไม่จำเป็นต้องอยู่ในตำราเท่านั้น และ Muse Mobile ก็คือพิพิธภัณฑ์ติดล้อที่สามารถเคลื่อนย้ายไปได้ทุกแห่ง โดยมีการนำเสนอที่สร้างสรรค์และแปลกใหม่ ถอดแบบมาจากนิทรรศการ “เรียงความประเทศไทย” ของ มิวเซียมสยาม กรุงเทพฯ เพื่อบอกเล่าความเป็นมาของประเทศไทยในมุมมองใหม่ ผ่านการเรียนรู้ที่สนุกสนานภายใต้แนวคิด Discovery Museum “Muse Mobile พิพิธภัณฑ์ติดล้อ นำเนื้อหาเรียงความประเทศไทยมาจัดแสดงแบบย่อส่วนอยู่ภายในตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 4 ตู้ โดยแบ่งการนำเสนอออกเป็นหัวข้อต่างๆ คือ อะไรคือไทยแท้? สุวรรณภูมิอยู่ที่ไหน? กรุงเทพฯภายใต้ฉากของอยุธยา และ จุดเปลี่ยนประเทศไทย เพื่อที่จะทำให้ผู้เข้าชมมีความได้เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับสุวรรณภูมิและคนไทยมากยิ่งขึ้น สำหรับการจัด Muse Mobile พิพิธภัณฑ์ติดล้อ ในครั้งนี้มีความพิเศษกว่าการสัญจรไปยังจังหวัดอื่นๆ ก็คือ ทาง สพร. ได้ร่วมกับ สถาบันทักษิณคดีศึกษา จัดแสดงนิทรรศการประวัติศาสตร์ท้องถิ่นของจังหวัดสงขลา เพื่อให้เกิดความเข้าใจในท้องถิ่นของตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งการจัดนิทรรศการในครั้งนี้จะเป็นต้นแบบของการสร้างพื้นที่การเรียนรู้รูปแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย อันจะนำมาซึ่งการสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญของการพัฒนาประเทศต่อไป โดยหลังจากที่จบการแสดงที่หาดใหญ่ก็จะเดินทางออกไปให้ความรู้กับเยาวชนในจังหวัดพัทลุงเป็นลำดับต่อไป”
ภายในงานนอกจากนิทรรศการเรียงความประเทศไทยในตู้คอนเทนเนอร์ทั้ง 4 ตู้ที่เปิดโอกาสเด็กๆ ทุกคนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง ผ่านการดู เล่น หยิบ จับ และร่วมทดลองในทุกๆ เรื่องแล้ว พื้นที่โดยรอบยังจัดให้มีกิจกรรมต่างๆ มากมาย ให้ได้เรียนรู้และร่วมสนุกอย่างเพลิดเพลิน ที่จะทำให้เข้าใจเรื่องราวเกี่ยวกับ “สุวรรณภูมิ” และ “คนไทย” มากยิ่งขึ้น อาทิ ลานกิจกรรมที่เปิดโอกาสให้เด็กได้เข้ามาขีดเขียนแสดงความคิดเห็นบนพื้นและความสามารถด้านศิลปะอย่างเต็มที่ มีมุมวาดเขียนระบายสี พับและตัดกระดาษ สำหรับเด็กเล็กและผู้ปกครองที่สามารถเข้ามาร่วมสนุกได้ทั้งครอบครัว นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมหลุมขุดค้นโบราณคดีที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้เป็นนักสำรวจ ลงมือขุดค้นหาของโบราณด้วยตนเอง กิจกรรมที่สามารถสอดแทรกความรู้และเรื่องราวด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีได้อย่างสนุกสนาน
ด้าน เด็กหญิงกสิณา ศรีละนันท์ หรือ “น้องเพื่อน” และเด็กหญิงหทัยพร พาศมานุรักษ์ หรือ “น้องส้ม” นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 จากโรงเรียนเทศบาล 1 อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา กล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า รู้สึกสนุกมากที่ได้มาชมและร่วมกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้นในนิทรรศการครั้งนี้ โดยชอบกิจกรรมในตู้คอนเทนเนอร์จุดเปลี่ยนประเทศไทยมากที่สุด เพราะเปิดโอกาสให้ เลือกเสื้อผ้าแต่งกายย้อนยุคพร้อมถ่ายภาพเป็นที่ระลึกได้อีกด้วย
“ชอบกิจกรรมตรงนี้ก็เพราะว่า ได้เห็นบรรยากาศที่ย้อนยุคกลับไป ไปในสมัยที่พวกเรายังไม่เกิด ของทุกอย่างที่จัดแสดงเราสามารถหยิบมาเล่นได้ เอาเสื้อผ้า วิกผม แว่นตาเครื่องประดับมาใส่ แปลงโฉมถ่ายรูปกัน ทำให้เห็นเพื่อนๆ ในอีกแบบหนึ่ง”
แต่สำหรับ เด็กชายวรวุฒิ หายหา หรือ “น้องนัท” นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 จากโรงเรียนเทศบาล 4 วัดคลองเรียน กลับชอบที่จะเป็นนักสำรวจ โดยร่วมกิจกรรมในการขุดค้นทางโบราณคดีเพื่อค้นหาของโบราณต่างๆ ที่ถูกฝังอยู่ใต้ผืนทราย
“วันนี้มีเพื่อนมาร่วมกันขุดหลายคน สนุกมาก ชอบกิจกรรมแบบนี้ เพราะได้ขุดหาสมบัติ หาของโบราณที่มีค่าด้วยตัวเอง วันนี้ได้เจอลูกปัด และหอยด้วย ในวันหยุดก็จะชวนพ่อกับแม่ให้พามาเที่ยวอีก”
นิทรรศการเคลื่อนที่ “Muse Mobile พิพิธภัณฑ์ติดล้อ” เรียนรู้และเข้าใจประวัติศาสตร์ชาติไทยในมุมมองใหม่ที่สนุกสนาน มีกำหนดจัดแสดง ณ ลานจอดรถ ศูนย์การค้าไดอาน่าคอมเพล็กซ์ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปจนถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2554
โดยเปิดให้เข้าชมฟรีในวันจันทร์-ศุกร์ ตั้งแต่เวลา 10.00-18.00 น. และในวันเสาร์-อาทิตย์ ตั้งแต่เวลา 12.00-20.00 น. ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราชการและวันหยุดนักขัตฤกษ์ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ โทร. 02-225-2777 ต่อ 416 หรือที่สำนักการศึกษา 074-231-138, คุณอัญชนา โทร.080-056-1592 และที่เว็บไซต์ www.museumsiam.com, www.facebook.com/museumsiamfan