สำนักงาน คปภ. ปรับมาตรฐานระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-claim) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 24, 2011 12:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--คปภ. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) พัฒนาระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-claim) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้แก่ผู้ประสบภัยจากรถ ในการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ได้เต็มวงเงินความคุ้มครองตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 50,000 บาท โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความถูกผิด นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการ คปภ. เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ.ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง จัดตั้งคณะทำงานพัฒนาระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-claim) เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวก รวดเร็ว และบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนผู้ประสบภัยจากรถที่ต้องสำรอง ค่ารักษาพยาบาลไปก่อน โดยคณะกรรมการดังกล่าวฯ จะร่วมกันกำหนดแนวทางและพิจารณาหลักเกณฑ์ การเบิกจ่ายค่ารักษาพยา บาลผ่านระบบสินไหมทดแทนอัตโนมัติ (E-claim) ซึ่งจากเดิมการเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลเบื้องต้น ผู้ประสบภัยจากรถจะได้รับความคุ้มครองตามที่จ่ายจริง ในวงเงินไม่เกิน 15,000 บาท โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความถูกผิด ให้สามารถขยายวงเงินการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ให้ได้รับความคุ้มครองตามที่จ่ายจริงในวงเงินไม่เกิน 50,000 บาท โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ความถูกผิด ให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศและสามารถตรวจสอบได้ เพื่อประโยชน์ของประชาชนและผู้ประสบภัยจากรถต่อไป เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ ขอแจ้งให้ผู้เป็นเจ้าหนี้ตามสัญญาประกันภัยของบริษัท เอ.พี.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล อินชัวรันส์ จำกัด หรือเจ้าหนี้ที่เคยร้องเรียนกับสำนักงาน คปภ. ที่ยังไม่ได้ยื่นขอรับชำระหนี้กับผู้ชำระบัญชี ให้รีบนำเอกสารต้นฉบับพร้อมทั้งสำเนาเอกสาร ประกอบด้วย กรมธรรม์ประกันภัย บัตรประจำตัวประชาชน ใบเคลม ใบนัดชำระหนี้ เอกสารอื่นใดที่แสดงถึงมูลหนี้ หนังสือรับรองการจดทะเบียนนิติบุคค ล (กรณีเจ้าหนี้เป็นนิติบุคคล) หรือหนังสือมอบอำนาจพร้อมบัตรประชาชน ผู้มอบอำนาจและผู้รับมอบอำนาจ (กรณีไม่สามารถมายื่นได้ด้วยตนเอง) มายื่นคำขอรับชำระหนี้กับผู้ชำระบัญชี ภายในวันที่ 3 มีนาคม 2554 ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้เป็นการเสียประโยชน์แก่ประชาชนและผู้เอาประกันภัย หากมีข้อสงสัยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนประกันภัย 1186
แท็ก ประกันภัย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ