กรุงเทพฯ--24 ก.พ.--ก.ก.
นายชุมพล ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามเร่งรัดพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ ครั้งที่ ๒/๒๕๕๔ โดยมี นายบรรหาร ศิลปอาชา ในฐานะประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ นายธีระวัฒน์ ศิริวันสาณฑ์ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร นายธรรมา ปิ่นสุกาญจนะ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายยุทธพล อังกินันทน์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายวัชระ กรรณิการ์ โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา นายสมบัติ คุรุพันธ์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เข้าร่วมในการประชุมในครั้งนี้ด้วย เมื่อวันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๔ ณ ห้องประชุม ๑ชั้น ๒ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ถนนราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ
การประชุมในครั้งนี้ เป็นการรายงานผล รวมถึงความก้าวหน้าในการดำเนินงานของหน่วยงานด้านกีฬา ในสังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คือ กรมพลศึกษา สถาบันการพลศึกษา และการกีฬาแห่งประเทศไทย โดยในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. ๒๕๕๔ ของกรมพลศึกษา มีการเบิกจ่าย ๘๒๔,๗๕๙,๒๓๘ บาท จากงบประมาณที่ได้รับ ๑,๘๘๗,๕๖๑,๖๐๐ บาท สถาบันการพลศึกษา มีการเบิกจ่าย ๖๑๔,๒๓๘,๙๒๗.๑๔ บาท จากงบประมาณที่ได้รับ ๒,๐๑๔,๖๘๔,๘๐๐ บาท การกีฬาแห่งประเทศไทย มีการเบิกจ่าย ๑,๔๙๖,๑๘๖,๒๖๔.๘๔ บาท จากงบประมาณทีได้รับ ๓,๖๓๖,๗๕๓,๘๐๐ บาท
ในส่วนของความก้าวหน้าการก่อสร้างสนามกีฬาอำเภอและตำบล นายชุมพล กล่าวว่า โดยกรมพลศึกษาเป็นผู้ดำเนินการ แบ่งเป็น ระดับอำเภอ ๖๙๐ อำเภอ วงเงิน ๑๖,๕๖๐ ล้านบาท และระดับตำบล ๑,๑๑๔ ตำบล วงเงิน ๑๓,๓๖๘ ล้านบาท ตามนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่ต้องการเสริมสร้าง โอกาสให้ประชาชนทุกกลุ่มออกกำลังกายและเล่นกีฬา โดยประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ ภาคธุรกิจ เอกชน ชุมชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้มีส่วนร่วมในการพัฒนากีฬา จัดหาสถานที่จัดกิจกรรมการออกกำลังกายและเล่นกีฬาอย่างทั่วถึง รวมทั้งส่งเสริมให้เยาวชนมีความสนใจในการกีฬาและใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ รวมถึงปรับปรุงระบบบริหารจัดการด้านการกีฬา โดยส่งเสริมให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมีบทบาทและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการกีฬา จัดกิจกรรมและสถานกีฬา รวมทั้งจัดสร้างลานกีฬา ให้ทุกหมู่บ้านและชุมชน เพื่อพัฒนากีฬาสู่ความเป็นเลิศ โดยมีการเร่งรัดการพัฒนา รวมทั้งก่อสร้างสนามกีฬาต่างๆ ภายในสถานกีฬาทั้ง ๒๘ แห่งของสถาบันการพลศึกษา มีการจัดตั้งศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติทั่วทุกภาค รวม ๕ แห่ง โดยการกีฬาแห่งประเทศไทย พร้อมทั้งนำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ จัดให้มีการควบคุมมาตรฐานการฝึกสอนด้านกีฬาให้มีคุณภาพ และสนับสนุนการจัดการแข่งขันกีฬาในระดับนานาชาติอย่างต่อเนื่อง ส่งเสริมกีฬาไทยให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางและได้รับการยอมรับจากสากล ในส่วนของความก้าวหน้าโครงการ “รัฐวิสาหกิจรวมพลัง กีฬาไทยเข้มแข็ง” ซึ่งเดิมชื่อว่าโครงการ ๑ กีฬา ๑ รัฐวิสาหกิจ ที่ได้สิ้นสุดโครงการไปแล้ว โดยรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ
จึงได้มีแนวคิดที่จะสานต่อโครงการดังกล่าว โดยแบ่งการสนับสนุนออกเป็น ๗ หมวด คือ หมวดการพัฒนากีฬา หมวดการส่งแข่งขัน หมวดการจัดการแข่งขัน หมวดพัฒนาบุคลากร หมวดวิทยาศาสตร์การกีฬา หมวดบริหารงาน และหมวดอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากีฬา ในส่วนของมาตรการลดหย่อนภาษี ได้มอบหมายให้กรมสรรพากร ไปดำเนินการยกร่างระเบียบเพื่อเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาลต่อไป
นายชุมพล กล่าวทิ้งท้ายว่า ตนต้องการเห็นการพัฒนาในส่วนของนักกีฬาของไทย โดยมีแนวคิดที่จะเสริมสร้างความเป็นเลิศ มุ่งให้เยาวชน มีการฝึกฝนกีฬาตั้งแต่ระดับอนุบาลจนเติบโตเป็นผู้ใหญ่ โดยมอบหมายให้สถาบันการพลศึกษา ไปศึกษาความเป็นไปได้เชิงปฏิบัติการ เพราะหากฝึกฝนกีฬาตั้งแต่เด็กๆแล้ว จะทำให้นักกีฬาพัฒนาสู่ความเป็นเลิศได้อย่างรวดเร็ว ในส่วนของการเบิกจ่ายงบประมาณต่างๆก็เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ในส่วนของโครงการ 1 กีฬา1 รัฐวิสาหกิจ (รัฐวิสาหกิจรวมพลัง กีฬาไทยเข้มแข็ง) ตนจะเร่งทางกระทรวงการคลัง เพื่อหาข้อตกลงในการดำเนินงานต่อไป ในส่วนของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพการจัดการแข่งขันกีฬาเอเชี่ยนเกมส์นั้น ตนยังมีความหวังอยู่และยังไม่ล้มเลิกความตั้งใจแน่นอน ตามมติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบในการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพในการจัดการแข่งขันกีฬาระดับนานาชาติ ทั้งนี้ยังคงให้การกีฬาแห่งประเทศไทย ไปดำเนินการอย่างต่อเนื่อง หากครั้งนี้ไม่ได้ ครั้งต่อไปก็อาจจะเป็นไปได้ โดยให้เสนอตัวทุกเจ้าภาพกีฬา ที่เป็นไปได้และมีความพร้อมมากที่สุด ที่ผ่านมา ถือเป็นบทเรียนที่จะต้องเตรียมพร้อมให้มากกว่าที่เป็นอยู่ ไม่อยากให้ทุกฝ่าย ต้องท้อถอยบนความไม่พร้อม
แต่จะต้องช่วยกัน ทำทุกอย่างเพื่อประเทศชาติต่อไป