กรุงเทพฯ--2 เม.ย.--ปภ.
ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม นี้ เป็นช่วงปิดภาคเรียน ผู้ปกครองจึงถือโอกาสในช่วงปิดภาคเรียนพาบุตรหลานเดินทางไปท่องเที่ยวพักผ่อนตามสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ซึ่งจากสถิติอุบัติเหตุ พบว่า ช่วงปิดภาคเรียนเป็นช่วงที่เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับเด็กมากกว่าในช่วงปกติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอนำเตือนภัยที่มักเกิดขึ้นกับเด็กในช่วงปิดภาคเรียน ดังนี้
1. อุบัติเหตุจากการจราจร
การขับขี่รถจักรยานยนต์ถือเป็นสาเหตุสำคัญที่คร่าชีวิตเด็กในช่วงปิดภาคเรียน เพราะเด็กวัยรุ่นมักขับรถเล่น แข่งขันประลองความเร็วกันในช่วงปิดภาคเรียน ดังนั้น ผู้ปกครองควรดูแลกวดขันและให้ความรู้ในการขับรถอย่างปลอดภัย และสอนให้เด็กสวมหมวกนิรภัยทุกครั้งในขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ และไม่ควรให้เด็กที่ยังมีอายุน้อยขับรถเองอย่างเด็ดขาด เพราะขาดประสบการณ์ ประกอบกับความคึกคะนองและขาดความระมัดระวัง จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุอย่างยิ่ง
สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวด้วยการนั่งท้ายรถกระบะ ที่ไม่มีหลังคานั้น ถือเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้ที่อยู่ท้ายรถจะกระเด็นพลัดตกจากรถได้อย่างง่ายดาย และมีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก เพราะท้ายรถไม่มีอุปกรณ์ยึดเหนี่ยวหรืออุปกรณ์นิรภัยที่สร้างความปลอดภัย หรือบรรเทาความรุนแรงหากเกิดอุบัติเหตุ
2. อุบัติเหตุจากการท่องเที่ยวทะเล
ในหน้าร้อนนี้ หลายครอบครัวมักหาสถานที่ท่องเที่ยวเพื่อคลายร้อน จึงนิยมเดินทางไปพักผ่อนที่ทะเล ซึ่งโอกาสในการเกิดอุบัติเหตุมีสูงมาก จึงต้องเพิ่มความระมัดระวัง ทั้งก่อนการเดินทาง และในขณะท่องเที่ยว ก่อนออกเดินทาง ผู้ปกครองควรวางแผนการเดินทางเสียก่อน ถ้าเป็นการเดินทางด้วยเรือ ให้ติดตาม
การพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยา หากมีคำเตือนเกี่ยวเรื่องพายุหรือคลื่นลมแรงให้งดหรือเลื่อนการเดินทางออกไปก่อน ถ้าเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ควรศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับสภาพเส้นทาง เพื่อวางแผนการเดินทางได้อย่างปลอดภัย และหลีกเลี่ยงการเล่นน้ำในที่ไม่ปลอดภัย เช่น แหล่งเที่ยวหรือที่พักตั้งอยู่ในบริเวณที่มีคลื่นสูงมีสัตว์มีพิษอาศัยอยู่ เพราะอาจได้รับอันตรายได้
ในขณะท่องเที่ยว ผู้ปกครองควรดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ให้เด็กใส่เสื้อชูชีพทุกครั้งก่อนลงเล่นน้ำไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำเพียงลำพัง เพราะอาจได้รับอันตรายจากสัตว์มีพิษ หรือเป็นตะคริวได้ นอกจากนี้ ควรเลือกเล่นน้ำในบริเวณที่ปลอดภัยเท่านั้น โดยให้สังเกตธงที่ปักที่แสดงความลึกของระดับน้ำ ถ้าเป็นธงสีเขียวสามารถลงเล่นน้ำได้ หากเป็นธงสีแดง 2 อัน แสดงว่า พื้นที่นั้นอันตรายมาก ไม่ควรลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด ถ้าเป็นธงสีแดงอันเดียว หมายถึงอันตราย ธงสีเหลือง ให้ระวัง และเมื่อได้รับฟังการประกาศเตือนเรื่องพายุหรือคลื่นแรง ให้งดเว้นการโดยสารทางเรือ และไม่ลงเล่นน้ำอย่างเด็ดขาด เมื่อประสบอุบัติเหตุเรือล่มให้ว่ายน้ำผละออกจากเรือโดยเร็วจะได้ไม่ถูกน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือ ระหว่างการพยุงตัวลอยน้ำ ให้ถอดสิ่งของหนักทิ้งให้หมด พยายามคว้าสิ่งที่ลอยน้ำได้ เพื่อพยุงตัวรอการช่วยเหลือ
3. อุบัติเหตุการเล่นเครื่องเล่น
สวนสนุก เป็นสถานที่ที่ผู้ปกครองนิยมพาบุตรหลานไปเที่ยว โดยขาดความระมัดระวังในการดุแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด ปล่อยให้เด็กเล่นเครื่องเล่นตามลำพัง ทำให้เกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวเด็ก ดังนั้น ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิดในขณะที่เด็กกำลังเล่นเครื่องเล่น และเลือกอุปกรณ์หรือเครื่องเล่นที่มีความปลอดภัยและเหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก และส่วนเด็กเองควรปฏิบัติตามกฎระเบียบของสวนสนุกอย่างเคร่งครัด ไม่เล่นเครื่องเล่นด้วยความประมาทและโล่ดโผน เพราะจะทำให้เกิดอันตรายหรืออุบัติเหตุขึ้นได้
4. อุบัติเหตุทางน้ำ
จากสถิติการเสียชีวิตของเด็กไทย การจมน้ำถือเป็นสาเหตุอันดับต้นๆ ส่วนใหญ่เกิดจากผู้ปกครองไม่สนใจจัดการสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณบ้านให้เหมาะสมกับพัฒนาการของเด็ก โดยพบว่าเด็กกว่าร้อยละ 80 จมน้ำเสียชีวิตบริเวณบ้าน ซึ่งบ้านที่มีบ่อน้ำในบริเวณรอบบ้าน ควรจัดการสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัย ด้วยการสร้างรั้วรอบบ่อน้ำและรอบบริเวณบ่อกักเก็บน้ำ และสาเหตุการเสียชีวิตของเด็กมักเกิดจากความประมาทเลินเล่อของผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลาน โดยเฉพาะการปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังแล้วไปทำธุระในช่วงเวลาสั้นๆ เช่น การรับโทรศัพท์ การเข้าห้องน้ำ การซักผ้า การล้างจาน ซึ่งหลายครั้งพบว่า เด็กเสียชีวิตโดยคว่ำหน้าในอ่างล้างจาน หรือกำลังก้าวเดินตกแม่น้ำ ไม่ทันช่วยชีวิตได้ทันเวลา ดังนั้น ผู้ปกครองควรจัดสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัย ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำตามลำพัง และควรสอนให้เด็กว่ายน้ำให้เป็นเพื่อจะได้ช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน
สุดท้ายนี้ อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกขณะทั้งในเวลาเปิดภาคเรียนและปิดภาคเรียน ดังนั้น ไม่ว่าเด็กจะอยู่ในความควบคุมดูแลของครูและอาจารย์เมื่อเปิดภาคเรียน หรืออยู่ในความดูแลของผู้ปกครองเองในช่วงปิดภาคเรียนก็ตาม ผู้ปกครองและคุณครู ควรให้ความมั่นใจกับเด็ก ด้วยการร่วมกันป้องกันอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นกับเด็ก โดยหมั่นดูแลเอาใจใส่เด็กอย่างใกล้ชิด ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นตามลำพัง รวมทั้งควรปลูกฝัง ค่านิยม และวัฒนธรรมที่ดีงาม การช่วยเหลือตนเองเมื่อเกิดภัย ตลอดจนให้คำแนะนำถึงวิธีการปฏิบัติตนอย่างถูกต้องและปลอดภัยในการดำเนินชีวิตในสังคมปัจจุบัน ส่วนบุตรหลานควรเชื่อฟังคำสั่งสอนและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้ปกครอง เพื่อที่จะได้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีศักยภาพเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาประเทศชาติต่อไป