ชาวบ้านมาบตาพุดยื่นหนังสือขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ

ข่าวทั่วไป Monday April 9, 2007 18:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 เม.ย.--สช.
วันนี้ (9 เมษายน 2550) ที่สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ที่ได้รับผลกระทบจากนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง มายื่นหนังสือต่อนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ เพื่อขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550
นายสุทธิ อัชฌาศัย ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก กล่าวว่า พวกเรามายื่นหนังสือต่อเลขาธิการ สช. เพราะเราเห็นว่าเป็นกลไกใหม่ที่น่าจะช่วยแก้ปัญหาให้กับคนมาบตาพุดได้ ทุกวันนี้ในพื้นที่มาบตาพุด จ.ระยอง มีนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ได้แก่ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด นิคมอุตสาหกรรมผาแดง นิคมอุตสาหกรรมตะวันออก และนิคมอุตสาหกรรมเอเชีย ซึ่งก่อมลพิษทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางสังคม เช่น ตรวจพบสารอินทรีย์ระเหย ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็ง เป็นสาเหตุให้คนมาบตาพุดเกิดการเจ็บป่วยและเสียชีวิตสูงขึ้น มีการตรวจพบโลหะหนักเกินค่ามาตรฐานในแหล่งน้ำ ทั้งน้ำใต้ดินและผิวดิน มีการกัดเซาะชายฝั่ง มีผู้ป่วยโรคทางจิตมากขึ้น และมีสถิติการฆ่าตัวตายสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสุขภาวะของคนในพื้นที่มาบตาพุดและคนระยองมาอย่างต่อเนื่อง ยาวนาน และปัจจุบันนี้กำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ ในขณะที่ปัญหาเดิมยังไม่ได้รับการเยียวยาและแก้ไข แต่ภาครัฐยังซ้ำเติมชาวบ้านด้วยการผลักดันให้มีการขยายตัวของอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุดและขยายออกไปยังพื้นที่ใกล้เคียงอีก ทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน โรงไฟฟ้าก๊าซ และการขยายอุตสาหกรรมปิโตรเคมีระยะที่ 3 อีก ดังนั้นพวกเราต้องปกป้องสุขภาวะของพวกเรา โดยการขอใช้สิทธิตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ดังนี้
1. อ้างสิทธิในมาตรา 5 ชาวมาบตาพุดและชาวระยองมีสิทธิในการดำรงชีวิตในสิ่งแวดล้อมและสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อสุขภาพ
2. อ้างสิทธิในมาตรา 10 ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ทั้งหมดเร่งดำเนินการ ชี้แจงให้ประชาชนในพื้นที่ทราบข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพที่เกิดขึ้นจากการทำอุตสาหกรรมในพื้นที่มาบตาพุด
3. อ้างสิทธิในมาตรา 11 ขอให้ก่อนที่รัฐบาลจะตัดสินใจขยายอุตสาหกรรมระยะต่อไป จะต้องประเมินผลกระทบทางสุขภาพจากนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมในพื้นที่ จ.ระยอง
4. ขอให้มีการจัดสมัชชาสุขภาพ ตามมาตรา 40 เพื่อนำไปสู่การใช้ความรู้และปัญญาในการแก้ไขปัญหาและความขัดแย้ง รวมถึงการพัฒนาศักยภาพชุมชนให้มีส่วนร่วมกำหนดนโยบายสาธารณะในพื้นที่และนำไปสู่การสร้างความเป็นธรรมทางด้านสุขภาพของคนมาบตาพุดและคนระยอง
“เราหวังว่า พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ แม้จะเป็นกฎหมายที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานมานี้ แต่เราเห็นว่าเป็นกลไกที่ดี น่าจะเป็นความหวังของพวกเรา ในการแก้ปัญหาต่างๆ ของพวกเราได้ ขณะนี้ปัญหาด้านสุขภาพ ด้านสังคม ด้านสิ่งแวดล้อมมีมากอยู่แล้วและยังไม่ได้รับการแก้ไข รัฐยังมีนโยบายจะขยายพื้นที่อุตสาหกรรมออกไปอีก ทุกวันนี้โรงงานล้นจนเราเองไม่รู้จะอยู่กันอย่างไรแล้ว” นายสุทธิกล่าว
ด้านนายแพทย์อำพล จินดาวัฒนะ ปฎิบัติหน้าที่เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวขอบคุณชาวบ้านที่สนใจนำ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติมาใช้ในกรณีมาบตาพุด พร้อมทั้งบอกว่า กฎหมายนี้ไม่ได้มีอำนาจสั่งการ ไม่ได้มีอำนาจอนุมัติ อนุญาตใดๆ แต่เป็นเครื่องมือสำคัญที่ให้ทุกฝ่ายร่วมกันใช้กระบวนการทางปัญญา โดย สช.มีหน้าที่ในการประสานงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาปรึกษา และหาแนวทางการทำงานร่วมกัน ทั้งหน่วยงานที่กำลังจะทำการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ เคยทำการประเมินผลกระทบกรณีมาบตาพุด และเคยทำการประเมินผลกระทบกรณีนิคมอุตสาหกรรม มาพูดคุยกันเพื่อวางกรอบการทำงานและตั้งทีมทำงาน เพื่อแก้ไขปัญหาของคนมาบตาพุดและคนระยอง และจะสนับสนุนให้เกิดการจัดสมัชชาสุขภาพในพื้นที่จังหวัดระยองเพื่อให้เกิดการพูดคุยกัน ร่วมกันออกแบบการอยู่ด้วยกันของคนในพื้นที่ ซึ่งอาจจะไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทันที แต่ปัญหาค่อยๆ คลี่คลายไปได้
“แม้กฎหมายนี้จะเป็นกฎหมายใหม่ เพิ่งประกาศใช้ได้ไม่นาน และขณะนี้ยังไม่มีคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) แต่เมื่อปัญหาของชาวบ้านเกิดขึ้นแล้ว และรอไม่ได้ เราทุกคนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างสุขภาวะของคนมาบตาพุด” นายแพทย์อำพลกล่าว
รศ.ดร.เรณู เวชรัชต์พิมล อาจารย์จากคณะวิทยาศาสตร์ ม.ศิลปากร ได้รายงานผลการศึกษาพบว่าสารพันธุกรรม (DNA) ของคนมาบตาพุดที่ตรวจพบจากเนื้อเยื่อในกระพุ่งแก้มถูกทำลายในปริมาณมากกว่า 100 เซลล์ ในขณะนี้ที่คนปกติในจังหวัดอื่นๆ จะพบความผิดปกติอยู่ในระดับ 0-5 เซลล์เท่านั้น ซึ่งใช้วิธีการตรวจโดยใช้มาตรฐานจากต่างประเทศที่ตรวจผู้ที่ทำงานในโรงงานที่มีภาวะเสี่ยงอันตราย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ
โทร.02-590-2304 โทรสาร 02-590-2311
www.nationalhealth.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ