กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--กรีนพีซ
กรีนพีซเรียกร้องรัฐบาลไทยสร้างอนาคตพลังงานหมุนเวียนให้เกิดขึ้นจริงในประเทศไทย โดยยกเลิกการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มเติมแล้วหันไปให้ความสำคัญกับทางออกที่แท้จริงอย่างพลังงานหมุนเวียน
ข้อเรียกร้องดังกล่าวเกิดขึ้นในกิจกรรม “เราไม่เอาโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ซึ่งชาวนครศรีธรรมราชกว่า 10,000 คน จับมือล้อมรอบที่ว่าการอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เพื่อแสดงพลังปกป้องแผ่นดินท่าศาลาจากโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตจะดำเนินการก่อสร้างในพื้นที่ โดยประชาชนและผู้นำท้องถิ่นในจังหวัดนครศรีธรรมราชได้ร่วมประกาศข้อเรียกร้องให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตยกเลิกโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโดยทันที เนื่องจากชุมชนจะได้รับผลกระทบทั้งทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม
“กรีนพีซสนับสนุนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนที่คัดค้านพลังงานสกปรกอย่างเช่นถ่านหิน บนโลกใบนี้ไม่มีถ่านหินสะอาด ตั้งแต่กระบวนการทำเหมือง การเผาไหม้จนถึงการกำจัดของเสียจากถ่านหิน ซึ่งล้วนส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพของมนุษย์ โครงสร้างทางสังคมของชุมชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณเหมืองถ่านหิน โรงไฟฟ้าและการกำจัดของเสียด้วยกันทั้งสิ้น การเผาไหม้ถ่านหินยังส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ” จริยา เสนพงศ์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านพลังงานและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าว “เพื่อหลีกเลี่ยงมหันตภัยถ่านหินในอนาคต รัฐบาลจะต้องปฏิวัติพลังงาน โดยลงทุนไปกับพลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานอย่างจริงจัง เพราะนี่คือสิ่งที่ชาวนครศรีธรรมราชและประชาชนชาวไทยต้องการและเป็นสิ่งที่รัฐบาลสมควรหยิบยื่นให้แก่ประชาชน”
แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า พ.ศ. 2553-2573 หรือ PDP 2010 กำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จะประกอบด้วยโรงไฟฟ้าถ่านหิน 8,400 เมกะวัตต์ โดยมีเป้าหมายจะก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช 2 แห่ง ซึ่งถูกระบุว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ยุทธศาสตร์ภายใต้โครงการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคใต้ ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ทั้งนี้ ในปัจจุบันถ่านหินคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของเชื้อเพลิงที่นำมาผลิตไฟฟ้าในประเทศไทยซึ่งประกอบด้วยลิกไนต์ร้อยละ 12 และถ่านหินนำเข้าร้อยละ 9 ในแผนพีดีพี 2553 สัดส่วนของถ่านหินนำเข้าจะเพิ่มสูงมากขึ้นเป็นร้อยละ 21 ในปี 2573
โรงไฟฟ้าถ่านหินในประเทศไทยเป็นตัวการปล่อยมลพิษที่ร้ายแรง โรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จังหวัดลำปางนับว่าเลวร้ายที่สุดในเอเชีย เนื่องจากก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาพรวมถึงทำลายวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน เช่นเดียวกับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหิน BLCP และเกคโค่วัน (GHECO-I) ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จังหวัดระยอง จากรายงานของกรีนพีซที่จัดทำขึ้นในปี 2548 ได้เปิดเผยว่าเถ้าถ่านหินจาก BLCP ปนเปื้อนสารพิษอันตรายอย่างเช่นปรอท แคดเมียม ตะกั่ว สารหนู และนิกเกิล ซึ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงของการปนเปื้อนไปในบริเวณใกล้เคียง ล่าสุดโรงไฟฟ้าถ่านหินเกคโค่วันได้ถูกบรรจุอยู่ในรายชื่ออุตสาหกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ที่ยังคงต้องการการประเมินผลกระทบด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ทำให้เกิดความล่าช้าในการขยายโรงไฟฟ้าถ่านหินดังกล่าว
“ทิศทางการพัฒนาของประเทศไทยจะต้องคำนึงถึงความมั่นคงทางพลังงานและความเป็นธรรม แต่แผนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ใช่คำตอบของการพัฒนาด้านพลังงานของประเทศ วันนี้คนท่าศาลาได้ลุกขึ้นแสดงพลังไม่เอาถ่านหิน และยังได้เป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวคัดค้านโรงไฟฟ้าถ่านหินในระดับประเทศ เราจะยังคงเดินหน้ารณรงค์ยุติถ่านหินและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนรวมถึงการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพในชุมชน” ทรงวุฒิ พัฒแก้ว แกนนำเครือข่ายรักษ์บ้านเกิดท่าศาลากล่าว
ระหว่างการรณรงค์ “ปกป้องสิ่งแวดล้อมกับเรนโบว์ วอร์ริเออร์” ในปี 2553 ที่ผ่านมา กรีนพีซได้ร่วมกับชาวนครศรีธรรมราช เรียกร้องให้รัฐบาลไทยก้าวสู่การปฏิวัติพลังงาน ซึ่งเป็นแนวทางที่ยั่งยืนโดยยุติการพัฒนาพลังงานที่สกปรกและอันตราย เปลี่ยนไปสู่พลังงานหมุนเวียนและการจัดการพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ
กรีนพีซทำงานรณรงค์ด้วยหลักการเผชิญหน้าอย่างสันติวิธี นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทัศนคติ และพฤติกรรม เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม และสันติภาพ