กรุงเทพฯ--19 ก.พ.--สสวท.
ป่าชายเลน เป็นระบบนิเวศสุดแสนมหัศจรรย์ ที่เกิดขึ้นบริเวณรอยต่อระหว่างแผ่นดินกับผืนน้ำทะเลที่มีคุณค่ามากมายมหาศาล เช่น เป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นที่อยู่ของสัตว์เศรษฐกิจ เป็นที่ทำมาหากินของชาวประมงพื้นบ้าน
แต่ปัจจุบันป่าชายเลนบ้านเราลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ถึงแม้จะมีความพยายามปลูกป่าเพิ่มเติม แต่พันธุ์ไม้ที่ปลูกเกือบทั้งหมดเป็นไม้โกงกาง ไม่สามารถสร้างระบบนิเวศที่สลับซับซ้อนอย่างธรรมชาติได้ ดังนั้น เยาวชนและคนทั่วไปจึงควรได้รับความรู้เกี่ยวกับคุณค่าความหมายของป่าชายเลน โดยเฉพาะคนในพื้นที่เพื่อให้เกิดความตระหนักและนำไปสู่การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในท้องถิ่น
เมื่อปลายเดือนมกราคมที่ผ่านมา สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) จับมือกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต จัด “ค่ายบูรณาการป่าชายเลน” ให้แก่ครูในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 7 โรงเรียน ได้แก่ โรงเรียนเมืองภูเก็ต โรงเรียนบ้านตลาดเหนือ โรงเรียนเชิงทะเลวิทยาคม โรงเรียนบ้านไม้เรียบ โรงเรียนกะทู้วิทยา โรงเรียนบ้านนาบอน โรงเรียนถลางพระนางสร้าง รวม 41 คน เพื่อให้ครูได้แนวทางการจัดกิจกรรมบูรณาการจากป่าชายเลน เพื่อนำไปถ่ายทอดต่อให้แก่เด็ก ๆ ในโรงเรียน
สสวท. เองก็มีแนวทางการจัดการเรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมภายใต้โครงการ GLOBE (Global Learning and Observations to Benefit the Environment) ที่มุ่งให้นักเรียน ครู และชุมชน ทั่วโลก สามารถพัฒนาศักยภาพในการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม ในธรรมชาติด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะเข้าใจความสัมพันธ์ของระบบต่างๆของโลก และตระหนักถึงสภาพและปัญหาสิ่งแวดล้อมในระดับท้องถิ่นและระดับโลก ในเรื่องอากาศ น้ำ ดิน สิ่งปกคลุมดิน/ชีววิทยา
วิธีการวิจัยค้นคว้าของ GLOBE มุ่งให้นักเรียนที่มีอายุตั้งแต่ 5-18 ปี ทั่วโลก ทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมในท้องถิ่นของตนโดยการสังเกตตรวจวัดภาคสนาม ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะใช้ในการวิจัยค้นคว้าของ นักวิทยาศาสตร์ของ GLOBE และนักเรียนอื่นๆ ทั่วโลก
งานนี้นักวิชาการของ สสวท. ทั้งจากโครงการ GLOBE สาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สาขาคณิตศาสตร์มัธยมศึกษาและโครงการเทคโนโลยี จึงได้ตบเท้านำทีมกันลงใต้ เพราะเรื่องของป่าชายเลน สามารถจัดกิจกรรมได้มากมาย บูรณาการได้ทั้งวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
กิจกรรมจัดที่ห้องประชุมของสำนักผู้ตรวจราชการเขต 10 โดยวันแรก ช่วงเช้า เริ่มจากการพัฒนาการคิดด้วยคณิตศาสตร์ ครูได้เล่นเกมนักสืบรอยนิ้วมือ ตรวจสอบวัตถุพยาน และใช้เครื่องมือหาหลักฐานร่องรอยจากสถานการณ์สมมติ เพื่อใช้เครื่องมือพื้นฐานสำหรับการสำรวจลายนิ้วมือ
และให้เห็นความสำคัญของแบบรูป และเห็นความเชื่อมโยงของวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ ช่วงบ่ายย้ายคณะไปที่โรงเรียนเมืองภูเก็ต เพื่อใช้คอมพิวเตอร์เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ตรวจสอบป่าชายเลนตามสถานที่ต่าง ๆ ด้วย GOOGLE EARTH ฝึกการนำ GPS ไปใช้ประโยชน์ต่อการศึกษาป่าชายเลน และศึกษาดาวโดยใช้ไอทีและแผนที่ดาว เตรียมพร้อมสู่การดูดาวในภาคกลางคืน
ตอนกลางคืนหลังจากร่ำเรียนภาคทฤษฎีกันแล้ว ก็มาฝึกดูดาวภาคปฏิบัติจากของจริง ครูหลายคนบอกว่าเข้าใจแล้ว รู้แล้วว่าจะใช้หลักการดูดาวและนำไปสอนเด็ก ๆ ได้อย่างไร ถึงแม้ไม่มีกล้องดูดาวทันสมัย ก็สามารถดูดาวตาเปล่าโดยใช้แผนที่ดาวก็ได้
วันที่สอง วันนี้คุณครูเข้าไปที่สถานีวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ภูเก็ต เรามี คุณสมบัติ กาญจนไพหาญ นักวิชาการป่าไม้ ร่วมเป็นวิทยากรพิเศษ หลังจากได้ระดมความคิด อภิปรายถึงสภาพปัญหาและคุณค่า และวางแผนการสำรวจป่าชายเลน อาทิ การตรวจวัดดินและน้ำแล้วก็ได้ลงไปคลุกของจริงในเส้นทางศึกษาธรรมชาติป่าชายเลน
คุณครูได้ศึกษาลักษณะทางกายภาพของป่าชายเลน ทั้งสำรวจ สังเกตสภาพแวดล้อมที่พบเห็น บันทึก เก็บตัวอย่าง วิเคราะห์ แล้วนำไปอภิปรายผล จากนั้นก็มีกิจกรรมห่วงโซ่อาหารในภาคเย็น และ Think Rally ในภาคค่ำ
“การที่เด็ก ๆ จะได้ไปศึกษาที่ป่าชายเลน จะทำให้พวกเขาเห็นความสัมพันธ์ต่าง ๆ ชัดขึ้นจากของจริง แต่ก็ควรให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้แบบค่อยเป็นค่อยไปตามลำดับ โดยไม่ยัดเยียดความรู้ทั้งหมดเกี่ยวกับป่าชายเลนให้นักเรียนในครั้งเดียว แต่ให้นักเรียนได้ค้นพบจากกระบวนการเรียนรู้อย่างเป็นขั้นตอน เนื่องจากถ้าครูบอกสิ่งที่นักเรียนไม่อยากรู้เลย ก็จะเป็นการเรียนรู้โดยปราศจากความหมาย หากเด็กอยากรู้ กระตือรือร้นหาคำตอบด้วยตัวเอง และ เห็นคุณค่าของสิ่งที่พวกเขาเรียนรู้ การเรียนรู้นั้นจะมีความหมายและมีประโยชน์มากกว่า” ดร. จริยา สุจารีกุล ผู้เชี่ยวชาญพิเศษโครงการ GLOBE กล่าว
วันสุดท้าย เป็นกิจกรรมการนำเสนอข้อมูลของครูแต่ละกลุ่ม เล่นเกมเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของสิ่งมีชีวิตกับสิ่งไม่มีชีวิตในป่าชายเลน ก่อนที่จะสรุปกิจกรรม พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่ว่าครูจะต้องนำไปจัดกิจกรรมให้เด็ก ๆ ต่อให้ได้
ทั้งนี้ สิ่งที่ สสวท. ฝากไว้ก็คือ ป่าชายเลนมีลักษณะเด่นกว่าระบบนิเวศอื่น ๆ ตรงที่มีการปรับตัวเยอะมาก ครูควรหาลักษณะเด่นเหล่านั้น และดูไปถึงสภาพแวดล้อมอื่น ๆ ค่ายที่จะจัดให้นักเรียน ควรให้นักเรียนได้สังเกต ได้เรียนรู้จากประจักษ์พยาน แล้วนำไปสู่ข้อสรุป โดยมีครูเป็นผู้ช่วยเหลือ แต่คุณครูอย่าเป็นนักฟันธง ให้ช่วยกันหาคำตอบร่วมกันจะดีกว่า
“สิ่งใดที่นักเรียนสังเกต สร้างองค์ความรู้เองได้ ครูไม่บอก ครูเพียงแต่จัดสถานการณ์ให้นักเรียนได้ค้นคว้า แต่สิ่งใดที่เป็นความรู้ที่ไม่ได้จากการสังเกต ครูคงต้องอธิบาย หรืออาจไม่บอกทั้งหมดแต่ต้องแนะนำแหล่งความรู้ที่นักเรียนจะไปคิดต่อและค้นพบคำตอบได้” อาจารย์ชุติมา เตมียสถิตย์ รักษาการหัวหน้าสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา สสวท. ฝากเอาไว้
ในส่วนของคุณครูที่เข้ารับการอบรม ก็ตั้งใจเต็มที่ หลังจากเก็บเกี่ยวความรู้จากทีมวิทยากรไปแล้ว ก็จะไปจัดกิจกรรมให้คุณหนู ๆ ในโรงเรียนกันแน่นอน
โดย คุณครูสุวิสา ศุภผล สอนชั้น ป. 2 โรงเรียนบ้านตลาดเหนือ กล่าวชมว่า กิจกรรมนี้ดีมาก กระตุ้นให้เราสนใจอยู่ตลอดเวลา ความรู้ที่ได้ก็เหมาะสมแก่เวลา เราสามารถนำความรู้ที่ได้ไปจัดกับเด็กได้เลย ทั้งกิจกรรมป่าชายเลนและดูดาว “ที่ผ่านมาโรงเรียนก็เคยจัดกิจกรรมแบบนี้ แต่ในค่ายนี้เราได้แนวทางอื่น ๆ มาเพิ่มเติมเยอะ และละเอียดขึ้น ครูจากโรงเรียนบ้านตลาดเหนือมากัน 12 คน และตั้งใจว่ากลับไปจะนำไปจัดกิจกรรมให้นักเรียนตั้งแต่ ป. 1 — ม. 3 เลยทีเดียว สถานีวิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 อยู่ใกล้โรงเรียนมากอยู่แล้ว หลังโรงเรียนก็เป็นคลองร่องน้ำเดียวกับสถานีวิจัย ฯ ก็ยิ่งดีใหญ่เพราะสะดวกต่อการพานักเรียนไปเรียนรู้ ผู้บริหารในท้องถิ่นก็สนับสนุนด้วย”
อย่างนี้คุณหนู ๆ โรงเรียน อบจ. เมืองภูเก็ตก็จะได้เรียนรู้ถึงคุณค่า ความหมายของป่าชายเลนในบ้านเกิดของตัวเองมากขึ้น เนื่องจากป่าชายเลนมีความสำคัญต่อมนุษย์ และสิ่งมีชีวิตที่อาศัยอยู่ในบริเวณนั้นเป็นอย่างมาก ซึ่งหากป่าชายเลนถูกทำลายก็ย่อมมีผลกระทบต่อระบบนิเวศในบริเวณใกล้เคียงแน่นอน
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net