กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--อาร์ค เวิลดไวด์
รู้หรือไม่ว่า ทุกวันนี้โลกใต้ท้องทะเลยังมีสิ่งมีชีวิตอีกหลากหลายสายพันธุ์ที่ร่วมกันสร้างสีสันและความสวยงามให้กับโลกใต้ท้องทะเล แต่มีสิ่งมีชีวิตบางสายพันธุ์ ที่คนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสได้เห็นความสวยงามของมันอีก ดังเช่น หอยมือเสือ หอยทะเลชนิดหนึ่งที่ถูกขนามนามว่าเป็น “อัญมณีใต้ท้องทะเล” ที่เคยเกือบจะสูญพันธุ์ด้วยน้ำมือมนุษย์
หอยมือเสือเป็นหอยสองฝาที่ใหญ่ที่สุดในโลกอาศัยอยู่ตามแนวปะการังที่มีน้ำใสอยู่ลึกไม่เกิน 20 เมตร พบแพร่กระจายอยู่ในทะเลเขตร้อนแถบอินโดแปซิฟิกเท่านั้น สำหรับประเทศไทยพบว่ามีหอยมือเสืออาศัยอยู่เพียง 3 ชนิด ได้แก่ Tridacna squamosa, T.maxima และ T.crocea หอยมือเสือมีลักษณะที่พิเศษแตกต่างจากหอยสองฝาชนิดอื่นๆ ทั่วไปคือ ในเนื้อเยื่อแมนเทิลซึ่งมีสีสันหลากหลายนั้น มีสาหร่ายอาศัยอยู่และสามารถสังเคราะห์แสงเป็นอาหารแก่หอยมือเสือได้ ซึ่งปัจจุบันหอยมือเสือถือเป็นสัตว์ทะเลหายาก เนื่องจากมีแหล่งอาศัยอยู่ตามแนวปะการังที่ระดับน้ำไม่ลึก เพราะต้องอาศัยอยู่ในแหล่งที่มีแสงสว่างช่วยในการดำรงชีพ เพื่อให้สาหร่ายที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของหอยมือเสือสามารถสังเคราะห์แสงได้ จึงทำให้หอยมือเสือถูกจับขึ้นมาได้ง่าย ซึ่งผู้คนนิยมนำมาใช้ประโยชน์โดยนำมาบริโภค นำเปลือกไปทำเครื่องใช้ เครื่องประดับ หรือนำมาเลี้ยงประดับในตู้ปลาสวยงาม จึงทำให้หอยมือเสือถูกจับขึ้นมาใช้ประโยชน์มากเกินกำลังธรรมชาติจะทดแทนได้ ประกอบกับปัญหาสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรม จนเป็นเหตุให้ทรัพยากรหอยมือเสือตกอยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์หรือบางชนิดถูกทำลายไปจนหมด
หอยมือเสือจึงเป็นหนึ่งในจำนวนสัตว์น้ำที่ได้รับการขึ้นบัญชีในรายชื่อสัตว์และพืชที่ใกล้สูญพันธุ์หรือหายากในอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดของสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ หรือ CITES (The Convention on International Trade in Endangered Species of Wild Fauna and Flora) และจัดอยู่ในบัญชีสัตว์สงวนและคุ้มครองประเภท 2 ตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 จึงจำเป็นต้องเร่งทำการศึกษาวิจัยเพื่อหามาตรการอนุรักษ์หรือแนวทางที่จะสามารถใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและยั่งยืนต่อไป
ทำให้กรมประมง โดยศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ ทำการวิจัยเพื่อเพาะและขยายพันธุ์หอยมือเสือนับตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 เป็นต้นมา และประสบความสำเร็จในการเพาะพันธุ์ลูกหอยมือเสือชนิด Tridacna squamosa ซึ่งเป็นชนิดที่พบน้อย อยู่ในสภาวะใกล้สูญพันธุ์ในปี พ.ศ.2536 จนปัจจุบันประสบความสำเร็จสามารถเพาะพันธุ์หอยมือเสือได้เป็นอย่างมาก และดำเนินงานเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรหอยมือเสืออย่างต่อเนื่องมายาวนานกว่า 16 ปี ลูกหอยที่ได้จากการเพาะพันธุ์จำนวนนับแสนตัวได้นำลงปล่อยสู่แนวปะการังธรรมชาติที่ทะเลไทย ซึ่งในจำนวนนี้ได้เติบโตจนสามารถแพร่ขยายพันธุ์สร้างหอยมือเสือรุ่นใหม่ให้กับแนวปะการังในหลายพื้นที่ พร้อมกับปลูกจิตสำนึกแก่คนที่เกี่ยวข้องให้ร่วมกันดูแลรักษาทรัพยากรที่มีค่าให้คงอยู่คู่ทะเลไทยต่อไป
คุณจินตนา นักระนาด ผู้อำนวยการของศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์กล่าวว่า
“ถึงทางศูนย์วิจัยฯ จะสามารถเพาะพันธุ์หอยมือเสือได้เป็นจำนวนมากและนำปล่อยสู่แนวปะการังตามธรรมชาติมานับแสนตัว แต่ถ้าหากคนเรายังมีการลักลอบจับหอยมือเสือขึ้นมาใช้ประโยชน์ในทางที่ผิด การอนุรักษ์หอยมือเสือคงเป็นไปได้ยากที่จะทำให้หอยมือเสือสามารถเจริญเติบโตได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งเป็นเป้าหมายหลักของทางศูนย์ในการอนุรักษ์ทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดนี้ให้ดำรงคงอยู่คู่ทะเลไทยต่อไป ดังนั้นความร่วมมือจากคนไทยทุกคนจึงเป็นสิ่งสำคัญในการอนุรักษ์ หากแต่เราต้องช่วยกันปลูกจิตสำนึกให้ทุกคนเห็นถึงความสำคัญของหอยมือเสือ หรือไม่ว่าจะเป็นสัตว์ทะเลชนิดอื่นๆ ก็ตาม”
สำหรับการเพาะพันธุ์หอยมือเสือสามารถทำได้โดยรวบรวมหอยมือเสือขนาดที่เหมาะสมจากธรรมชาติ นำมาพักเลี้ยงไว้ในบ่อที่เตรียมไว้ เมื่อเริ่มขั้นตอนการเพาะพันธุ์จะนำพ่อแม่พันธุ์มาทำความสะอาดเปลือก แล้วกระตุ้นให้ปล่อยน้ำเชื้อและไข่ เพื่อนำมาผสมกันในอัตราส่วนที่เหมาะสมใส่ลงในถังฟัก เมื่อลูกหอยพัฒนาเข้าสู่ระยะที่พอดี จึงเริ่มให้สาหร่ายพร้อมย้ายไปอยู่บริเวณที่มีแสงสว่างเพียงพอ จนกระทั่งสังเกตว่าสาหร่ายเข้าไปอาศัยเจริญเติบโตอยู่ในเนื้อเยื่อของลูกหอยเรียบร้อยแล้ว การอนุบาลนั้นถือเป็นช่วงสำคัญต้องมีการดูแลอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะต้องคอยดูดตะกอนก้นบ่อ กำจัดสาหร่ายที่ขึ้นปกคลุมตัวหอย คัดแยกขนาดเป็นระยะๆ เพื่อย้ายบ่ออนุบาลตามควาเหมาะสม ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาไม่น้อยกว่า 3 ปี ลูกหอยมือเสือจึงจะมีขนาดโตพอที่จะต้านทานศัตรูในธรรมชาติและพร้อมที่จะสามารถนำลงปล่อยสู่ท้องทะเลได้
ด้วยเหตุนี้ สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล กรุงเทพ อุทยานสัตว์น้ำที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในฐานะองค์กรที่ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ตระหนักถึงความสำคัญของหอยมือเสือที่มีต่อระบบนิเวศทางทะเล จึงร่วมมือกับศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ เป็นส่วนหนึ่งในการช่วยอนุรักษ์หอยมือเสือ โดยนำหอยมือเสือของทางศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงชายฝั่งประจวบคีรีขันธ์ที่เพาะพันธุ์ได้ มาดูแลไว้จำนวน 30 ตัว ซึ่งทางสยาม โอเชี่ยน เวิร์ลจะนำหอยมือเสือมาจัดแสดงไว้เพื่อเผยแพร่ข้อมูล ความรู้ของหอยมือเสือให้เป็นที่รู้จัก พร้อมทั้งร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยปลูกจิตสำนึกให้ผู้คนเล็งเห็นถึงความสำคัญของหอยมือเสือ และร่วมอนุรักษ์หอยมือเสือให้อยู่คู่คนไทย เพื่อชนรุ่นหลังได้มีโอกาสศึกษาต่อไป
สำหรับใครทีอยากเรียนรู้และชมความงามของ “อัญมณีใต้ท้องทะเล” หรือหอยมือเสืออย่างใกล้ชิด ก็สามารถมาชมได้ที่ สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล ที่โซน Weird and Wonderful (แปลกประหลาดมหัศจรรย์) และสามารถชมหอยมือเสือขนาดต่างๆ ได้ที่กิจกรรม Back of house tour ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปที่ สยาม โอเชี่ยน เวิร์ล ชั้น B1-B2 ศูนย์การค้าสยามพารากอน
สอบถามข้อมูลประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม : อาร์ค เวิลดไวด์ ประเทศไทย
ญาดา ศรีสัมมาชีพ (นุ่น) / โทร + 66 2 684 5690
ณัฏฐภัทร จันทร์เปล่งแก้ว (อุ๊บ) โทร + 66 2 684 5731