กรุงเทพฯ--23 พ.ค.--สคส.
เมื่อวันที่ 17-18 พฤษภาคม ที่ผ่านมา กรมการแพทย์ได้จัดงาน "KM Forum และนำเสนอผลงาน" ขึ้น ณ โรงแรมริชมอนด์ จังหวัดนนทบุรี เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ มีเวทีนำเสนอผลงาน และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ ซึ่งกันและกันอีกทั้งเพื่อให้บุคลากรในหน่วยงานสังกัดกรมการแพทย์ ทราบแนวทางและตระหนักถึงการใช้กระบวนการ "การจัดการความรู้" (KnowledgeManagement:KM) เป็นเครื่องมือพัฒนาคนและงานให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้โดยมีหน่วยงานและสถานพยาบาลในสังกัดกรมการแพทย์เข้าร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กระบวนการการจัดการความรู้และนำเสนอผลงานกว่า 19 หน่วยงาน
ทั้งนี้ในงานดังกล่าวได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของหน่วยงานในสังกัด 4 หน่วยงานซึ่งเป็นต้นแบบในด้านการนำกระบวนการ "การจัดการความรู้" ไปใช้พัฒนาบุคลากรและงานในองค์กร คือ โรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ (วัดไร่ขิง) สถาบันธัญญารักษ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี และสถาบันทันตกรรม
โดยทันตแพทย์ชุมพล ชมะโชติ หัวหน้าฝ่ายการจัดการความรู้ และทรัพยากรบุคคล สถาบันธัญญารักษ์ กล่าวว่า สถาบันมีจุดเด่นในการนำกระบวนการการจัดการความรู้ไปใช้กับ ผู้ป่วยติดสารเสพติดและญาติ โดยจัดกระบวนการให้ผู้ป่วยที่สามารถลด ละเลิกสารเสพติดได้ประสบความสำเร็จ มาเล่าวิธีการและเคร็ดลับที่ทำให้สามารถลด ละ เลิกสารเสพติดได้ให้ผู้ป่วยที่ยังไม่สามารถปฏิบัติตัวได้ฟังในวงพูดคุยทุกวันเสาร์นอกจากนี้ในเวทีดังกล่าวยังประกอบไปด้วยญาติผู้มีประสบการณ์ในการสร้างกำลังใจให้ผู้ป่วยสามารถลดละ เลิกสารเสพติดได้มาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ภายใต้การดูแลของพยาบาล
นายแพทย์ศักดิ์ชัย ถิรวิทยาคม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลเมตตาประชารักษ์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาองค์กรพยายามผลักดันให้เกิด "ชุมชนนักปฏิบัติ" ซึ่งแบ่งตามหน่วยงานที่ภารกิจเหมือนๆ กันให้ได้ใช้กระบวนการการจัดการความรู้ด้วยการ "แลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน" แต่การผลักดันให้เกิดโดยการบังคับไม่ได้ผลดีเท่าที่ควรแต่อย่างไรก็ตาม ก็เป็นโอกาสดีที่ทำให้ได้เรียนรู้วัฒนธรรมขององค์กร และเกิดผลสามารถทำให้คนในหน่วยงานเรียนรู้จากกันและกันผ่านเว็บไซด์ขององค์กร คือ E-Learning, E-traning ซึ่งระยะต่อไปก็จะพัฒนากระบวนการการจัดการความรู้ให้เนียนอยู่ในวัฒนธรรมขององค์กรให้ได้ในที่สุด
เภสัชกรหญิงนวภรณ์ วิมลสาระวงศ์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า สถาบันฯ ได้นำกระบวนการการจัดการความรู้มาใช้เพื่อพัฒนาระบบบริหารจัดการความรู้ของสถาบันที่มีอยู่กระจัดกระจายให้เป็นระบบและสามารถนำมาพัฒนาบุคลากร และงานให้มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น โดยมีหลักในการเริ่มต้นกระบวนการโดยต้องเลือกหัวข้อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่คิดว่าทุกคนหรือคนส่วนใหญ่ในองค์กรสามารถมีส่วนร่วมได้โดยมีเป้าหมายเริ่มต้นเพื่อให้ทุกคนเรียรู้เรื่อง การจัดการความรู้ร่วมกันก่อน จากนั้นก็จะจัดเวทีให้บุคลากรแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันเพียง 4-5 ครั้งแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือบุคลากรในองค์กรเข้าใจกระบวนการการจัดการความรู้มากขึ้น กระทั่งหน่วยงานในองค์กรตั้ง "ชุมชนนักปฏิบัติ" เองอย่างน้อย 1 หน่วยงานต่อ 1 ชุมชนนักปฏิบัติ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันและกันและต่อยอดเพื่อพัฒนางานของตนเองในที่สุด ซึ่งในวันที่ 4-8 มิถุนายน นี้จะจัดงาน "สัปดาห์การจัดการความรู้" เพื่อให้ทุกหน่วยงานนำผลงานและนวัตกรรมมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้แบบข้ามหน่วยงานด้วย
ขณะที่ทันตแพทย์กฤษดา ปัญจนุวัฒน์ จากสถาบันทันตกรรม เปิดเผยว่า สถาบันได้นำกระบวนการจัดการความรู้ไปพัฒนาเรื่อง"การประชุมที่มีประสิทธิภาพ" ทำให้ขณะนี้เลขานุการสามารถสรุปผลการประชุมส่งให้ผู้ร่วมประชุมได้หลังการประชุมเสร็จสิ้นไม่เกิด 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังทำให้เกิดบรรยากาศที่ดีในการประชุม มีการนำความคิดเชิงบวกเข้ามาใช้ในการประชุม ทำให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากขึ้น
อย่างไรก็ตามในการจัดงานครั้งนี้ยังก่อให้เกิดการรวมตัวกันของหน่วยงานในสังกัดกรมการแพทย์ที่เห็นความสำคัญของ "การจัดการความรู้" รวมตัวกันเป็นเครือข่ายระดับภูมิภาคเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์กันและกันเช่น สำนักการพยาบาล และสถาบันมะเร็ง เป็นต้น
รายละเอียดเพิ่มเติม ประชาสัมพันธ์สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม
(สคส.) โทร. 02-2701350-4 ต่อ 114
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net