กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--คต.
นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า หน่วยงาน Federal Agricultural Marketing Authority (FAMA) กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรของมาเลเซีย ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดจำหน่ายผลิตผลทางการเกษตรได้ออกระเบียบ Penggredan (คุณภาพ) , Pembungkusan (การบรรจุ) and Pelabelan (การติดฉลาก) หรือที่เรียกว่าระเบียบ ๓P โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อควบคุมคุณภาพผลิตผลทางการเกษตรที่วางจำหน่ายภายในประเทศ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๕๔ เป็นต้นมา
ระเบียบ ๓P ครอบคลุมสินค้าเกษตร ได้แก่ ผักสด ผลไม้สด ดอกไม้สด เมล็ดกาแฟ ลำต้นอ้อย และพืชที่มีส่วนที่กินได้อยู่ใต้ดิน (เช่น ถั่วลิสง) เป็นต้น โดยสาระสำคัญของกฎระเบียบมีดังนี้
๑. การจำแนกระดับคุณภาพ ต้องเป็นไปตาม Malaysian Standard (MS) สำหรับสินค้าแต่ละชนิด (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.msonline.gov.my) สำหรับสินค้าที่ไม่มีมาตรฐาน MS กำกับ สามารถใช้มาตรฐานของประเทศผู้ส่งออกได้ ในกรณีที่ไม่มีมาตรฐาน MS และมาตรฐานของประเทศผู้ส่งออก ให้ใช้มาตรฐานที่กำหนดโดย FAMA เป็นรายกรณี
๒. การบรรจุ บรรจุภัณฑ์ต้องมีความแข็งแรง ทนทาน และบรรจุผลิตผลทางการเกษตรไม่เกิน ๓๐ กิโลกรัมต่อชิ้น โดยต้องบรรจุเฉพาะผลิตผลประเภทและระดับคุณภาพเดียวกันเท่านั้น
๓. การติดฉลาก
๓.๑ สามารถระบุเป็นภาษาอังกฤษได้ แต่สำหรับข้อมูลต่อไปนี้ ต้องระบุภาษา Bahasa Malaysia กำกับ ได้แก่ ชื่อ-ที่อยู่บริษัทผู้นำเข้าหรือตัวแทนในท้องถิ่น ชื่อสามัญของผลิตผลทางการเกษตร ระดับคุณภาพ ขนาดของผลิตผลทางการเกษตร น้ำหนักสุทธิ และประเทศแหล่งกำเนิด
๓.๒ สามารถพิมพ์หรือใช้สติกเกอร์ระบุข้อมูลดังกล่าวติดบนกล่องบรรจุภัณฑ์ บริเวณที่มองเห็นได้โดยสะดวก โดยสติกเกอร์ต้องมีขนาดอย่างน้อย ๑๑ X ๗ เซนติเมตร และมีสีที่แตกต่างจากพื้นหลังหรือกล่องและใช้ขนาดตัวอักษรไม่ต่ำกว่า ๒๐ point ทั้งนี้ ต้องติดฉลากก่อนที่สินค้าจะไปถึงท่าเรือ
นายสุรศักดิ์ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันหลายประเทศมีการกำหนดมาตรฐานผลิตผลทางการเกษตรและมีการตรวจสอบที่เข้มงวดมากขึ้น ในกรณีของมาเลเซีย นอกจากจะกำหนดให้ฟาร์มหรือสวนผู้ผลิตต้องมีมาตรฐาน GAP และโรงคัดบรรจุต้องมีมาตรฐาน GMP แล้ว ยังมีข้อกำหนดเกี่ยวกับการติดฉลากตามระดับคุณภาพ ซึ่งหากไม่ติดฉลากก่อนที่สินค้าจะไปถึงท่าเรือที่มาเลเซียก็อาจถูกปฏิเสธการนำเข้าหรือถูกกักอยู่ที่ด่าน จนกว่าจะปฏิบัติตามข้อกำหนดให้ถูกต้อง ผู้ประกอบการไทยจึงควรติดฉลากให้ถูกต้องตามระเบียบของมาเลเซียเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นดังกล่าว
ทั้งนี้ ในปี ๒๕๕๓ ไทยส่งออกผลิตผลทางการเกษตรดังกล่าวข้างต้นไปทั่วโลกรวมทั้งสิ้นมูลค่าประมาณ ๒๗,๐๐๐ ล้านบาท ลดลงจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๓ โดยมีจีนเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับแรก สำหรับมาเลเซียเป็นตลาดส่งออกสำคัญอันดับ ๗ มีมูลค่าส่งออกประมาณ ๖๐๐ ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ร้อยละ ๑๖ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๒.๒ ของการส่งออกผลิตผลทางการเกษตรทั้งหมดของไทย
ที่มา : สถาบันอาหาร