กรุงเทพฯ--25 ก.พ.--กนกรัตน์ แอนด์ เฟรนด์
การมีสุขภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรง เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ซึ่งกุญแจสำคัญที่ไขสู่การมีสุขภาพกายและใจที่สมบูรณ์พร้อมได้นั้น คือ การเอาใจใส่ดูแลสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ ทั้งการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อนให้เพียงพอ รวมถึงการให้ความสำคัญกับการดูแลโครงสร้างร่างกายให้สมดุล เพื่อให้การทำงานของอวัยวะและระบบต่าง ๆ ในร่างกายทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของการมีสุขภาพที่ดีและโครงสร้างร่างกายที่แข็งแรง แต่หลายคนอาจมองข้ามการดูแลโครงสร้างของตนเอง และละเลยจนเกิดอาการเจ็บป่วยถามหา แล้วพบว่าปัญหาของโรคภัยร้ายแรงอย่างโรคข้อเสื่อมนั้น ล้วนมาจากปัญหาด้านความสมดุลของโครงสร้างร่างกายนั่นเอง
เชื่อว่าทุกคนคงต้องเคยประสบกับปัญหาอาการปวดต่าง ๆ ไม่ว่าจะกล้ามเนื้อ หรือ ข้อต่อต่าง ๆ ของทั้งคอและหลังโดยเฉพาะหนุ่มสาวออฟฟิคอย่างเรา ๆ ที่มักจะนั่งอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์เป็นประจำ หรือการอยู่ในอิริยาบถเดิม ๆ ยิ่งเมื่อเรามีอายุย่างเข้าสู่วัยสามสิบ ปริมาณของแคลเซี่ยมในกระดูก และคอลลาเจนในข้อต่อจะเริ่มลดลง ผลที่ตามมาจะทำให้กระดูกและข้อต่อเริ่มเสื่อมลง ทำให้เกิดอาการปวดข้อตลอดวัน หรือปวดมากเวลาใช้งาน ซึ่งบางคนคิดว่าแค่นวด ทายา หรือกินยาเป็นครั้งคราวไปก็น่าจะเพียงพอ แต่จริง ๆ แล้วอาการเหล่านี้ เป็นสาเหตุของโรคข้อเสื่อม ซึ่งถือว่าเป็นโรคที่พบได้บ่อยที่สุดของปัญหาโรคข้อที่ต้องได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง
นพ. มีชัย อินวู้ด ที่ปรึกษาด้านการแพทย์ บริษัท ไบโอโกรว์ (ทีเอช) จำกัด ให้คำแนะนำว่า “โรคข้อเสื่อม เป็นโรคที่กระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อเกิดความผิดปกติ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกอ่อนบริเวณผิวข้อทั้งทางด้านรูปร่าง โครงสร้าง และทางเคมี โดยปกติกระดูกอ่อนจะมีความยืดหยุ่น ทำหน้าที่ลดแรงที่กระทำต่อข้อกระดูก และทำให้ข้อเคลื่อนไหวด้วยความราบรื่น เมื่อกระดูกอ่อนเสื่อม กระดูกแท้จะเสียดสีกัน ทำให้เกิดความเจ็บปวด และเกิดเสียงดังจนทำให้สูญเสียหน้าที่ในการเคลื่อนไหว รับน้ำหนัก และกระจายแรง ซึ่งภาวะข้อกระดูกเสื่อมมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามอายุที่มากขึ้น สำหรับสถิติของผู้ป่วยโรคข้อเสื่อมในปัจจุบันพบว่ามีอัตราสูงขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากมีปัจจัยส่งเสริม เช่น ภาวะอ้วน ยิ่งน้ำหนักตัวมากขึ้นเท่าไร ก็ยิ่งมีโอกาสมากขึ้นที่จะเป็นโรคข้อเสื่อม เพราะข้อเข่าหรือข้อสะโพกของเราแบกรับน้ำหนักมากเกินไป, การใช้งานของข้อเข่าซ้ำ ๆ รวมทั้งมีแรงกดที่เพิ่มมากขึ้น เช่น ผู้ที่ทำงานแบบแบกหาม, นักกีฬาที่ต้องกระโดดบ่อย ๆ หรือพนักงานขายของที่ต้องยืนนาน ๆ อีกทั้งการใช้งานของข้อต่อที่ไม่ถูกต้อง เช่น การนั่งยอง ๆ, นั่งพับเพียบ, นั่งขัดสมาธิ หรือนั้งคุกเข่า เหล่านี้ก็ทำให้ข้อของเรามีโอกาสเกิดข้อเสื่อมได้มากขึ้น รวมทั้งคนหนุ่มสาวที่ใช้ชีวิตเร่งรีบ, เครียด, ดื่มเหล้า, สูบบุหรี่, รับประทานอาหารที่ด้อยคุณภาพ และขาดการออกกำลังกาย ก็มีความเสี่ยงสูงต่อการเป็นโรคข้อเสื่อมเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาโรคข้อเสื่อมให้หายขาดได้ แต่ก็มีหลายวิธีที่สามารถลดอาการปวดข้อได้ เช่น การบริหารร่างกาย เพื่อทำให้ข้อมีการเคลื่อนไหวสม่ำเสมอ เพิ่มความแข็งแรงให้กล้ามเนื้อ ช่วยบรรเทาอาการปวดข้อได้ นอกจากนี้ยังมีวิธีการผ่าตัด ซึ่งในปัจจุบันได้รับความนิยมมากเป็นอย่างมาก เนื่องจากได้ผลดี และโรคแทรกซ้อนไม่มาก และวิธีสุดท้ายที่สามารถลดอาการปวดข้อได้ดีอีกวิธีหนึ่ง คือ การใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อเสริมสร้างและป้องกันโรคข้อเสื่อม เช่น แคลเซี่ยม แอล-ทรีโอแนต ที่มีคอนดรอยตินซัลเฟต ควรรับประทานวันละ 1-2 เม็ด เพื่อช่วยกระตุ้นการสร้างเซลล์กระดูก และกระตุ้นการเจริญของกระดูกอ่อนในข้อต่อ ช่วยเสริมสร้างกระดูกและข้อต่อให้แข็งแรง ทั้งนี้ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่างใกล้ชิด แต่วิธีที่ดีที่สุดต้องรู้จักดูแลตัวเอง อย่าใช้งานพวกข้อมากจนเกินไป เพราะจะทำให้เสื่อมเร็วขึ้น” นพ. มีชัย กล่าวทิ้งท้าย
จะเห็นได้ว่า โรคข้อเสื่อมล้วนมีปัจจัยใกล้ตัวซึ่งก็คือ “พฤติกรรม” ของการใช้ร่างกายตนเองอย่างไม่เหมาะสมเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระบบข้อต่อ การมีอิริยาบถในชีวิตประจำวันที่ผิดท่าทางและเกิดขึ้นซ้ำ ๆ จนก่อให้เกิดการเกร็งผิดปกติของกล้ามเนื้อ ส่งผลต่อกระดูก ซึ่งเป็นโครงสร้างเสาหลักของร่างกาย ส่งผลเสียต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ตามมา ถึงเวลาแล้วที่เราต้องป้องกันตัวเองให้ห่างไกลจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยการทำโครงสร้างร่างกายให้สมดุล ควบคู่ไปกับการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และทำจิตใจให้เบิกบานแจ่มใส เพราะเรื่องสุขภาพร่ายการป้องกันไว้ดีกว่าแก้แน่นอน