กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--คิธ แอนด์ คินฯ
ในขณะที่มนุษยชาติกำลังกังวลอยู่กับภาวะโลกร้อน จากการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์เอง โดยเฉพาะการใช้พลังงานอย่างฟุ่มเฟือย ดังนั้นสิ่งที่เราจะร่วมมือกันช่วยลดภาวะโลกร้อนได้ก็คือการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด โดยเริ่มต้นจากตัวเอง และขยายไปยังคนรอบข้าง
ดั๊บเบิ้ล เอ ในฐานะผู้ผลิตกระดาษ จากไม้ปลูกของเกษตร ซึ่งเป็นหนึ่งในแนวทางการลดการใช้ทรัพยากรธรมชาติ ได้ส่งเสริมและให้ความรู้แก่เยาวชนในการรณรงค์ให้ใช้กระดาษที่ผลิตมาจากไม้ปลูก ด้วยการร่วมมือกับ สมาคมสิ่งแวดล้อมไทย และสมาคมโฆษณาธุรกิจแห่งประเทศไทย ในการจัดโครงการประกวด “สื่อรณรงค์” การใช้กระดาษจาก “ไม้ปลูก”
ซึ่งการประกวดในครั้งนี้ได้จัดกิจกรรม “ท่องปราจีนชมแหล่งกำเนิดกระดาษจากไม้ปลูก”โดยการนำผู้ร่วมส่งผลงานเข้าร่วมประกวดในโครงการฯไปสัมผัสกับขั้นตอนการผลิตกระดาษเริ่มตั้งแต่กำเนิดต้นกล้ากระดาษ เติบโตเป็นต้นกระดาษ ผ่านกระบวนการอีกหลายขั้นตอนก่อนจะมาเป็น “กระดาษ” ที่เราใช้ในชีวิตประจำวัน ณ โรงงาน จ.ปราจีนบุรี ซึ่งทำให้ทุกคนทึ่งกับสิ่งที่ได้พบ และภูมิใจที่กระดาษของไทยสามารถใช้ไม้ของเกษตรกรโดยไม่ต้องใช้ป่าธรรมชาติมาเป็นวัตถุดิบอย่างที่หลายคนเข้าใจกันอีกแล้ว
เช้าวันเสาร์ของเดือนกรกฎาคม ตัวแทนเยาวชนผู้ร่วมโครงการฯ มาพร้อมหน้ากัน ณ จุดนัดพบที่อาคารดั๊บเบิ้ล เอ บุ๊ค ทาวเวอร์ พอล้อหมุน กิจกรรมจากพี่ ๆ ดั๊บเบิ้ล เอ ก็เรียกความสนุกสนาน จากน้องๆ ได้ไม่น้อย ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯถึง ปราจีนบุรี สั้นลงไปแค่ชั่วพริบตา ช่วงสายๆพอถึงที่หมาย เราเริ่มต้นด้วยการเยี่ยมชมกระบวนการผลิตต้นกล้ากระดาษของดั๊บเบิ้ล เอ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของกระดาษคุณภาพ ที่ผลิตมาจากการเพาะเลี้ยง “เนื้อเยื่อ” ในห้องปฏิบัติการ ทำให้ต้นกล้าที่ได้มีลักษณะที่ดีเหมือนกับต้นแม่ทุกประการ คือ ลำต้นตรง โตดีให้คุณภาพเยื่อที่ดี ไม่มีรากแก้วที่หยั่งลึกลงดิน แถมยังได้ไปดูแปลงจริงของเกษตรกร ที่ปลูกอยู่บนคันนาข้าว ซึ่งเป็นการสร้างรายได้เสริมให้กับเกษตรกร ถึงขนาดมีรายได้หมุนเวียนไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
หลังจากสัมผัสกับต้นกล้ากระดาษกันมาพอสมควร ก็ถึงเวลาที่จะเข้าไปเยี่ยมชมการผลิตกระดาษกันบ้าง ซึ่งผู้ร่วมกิจกรรม ก็ได้รับรู้ทุกขั้นตอนของการผลิต เริ่มตั้งแต่การนำไม้ของเกษตรกร ส่งเข้าโรงชิ้นไม้สับ และส่งต่อสายพานไปยังโรงผลิตเยื่อ เมื่อได้เยื่อคุณภาพแล้ว ก็ส่งต่อไปเข้าสู่เครื่องจักรผลิตกระดาษ ฉีดน้ำเยื่อเข้าสู่ตระแกรงลวดเดินแผ่น กดรีดน้ำ อบแห้ง ผ่านกระบวนการเคลือบผิวกระดาษ และขัดผิวกระดาษ เพื่อทำให้แผ่นกระดาษที่ยาวต่อเนื่องออกมาเป็นกระดาษม้วนใหญ่ ซึ่งแต่ละม้วนหนักกว่า 30 ตัน จนมาถึงการตัดเป็นม้วนหรือเป็นแผ่นเพื่อนำออกจำหน่าย
นอกจากนี้ ยังได้แวะเยี่ยมชมโรงเรียนโคกกระท้อน ซึ่งเป็นโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการปลูกต้นกระดาษตั้งแต่ปี 2535 โดยใช้พื้นที่ว่างของโรงเรียนกว่า 25 ไร่ ในการเพาะปลูกต้นกระดาษ และนำรายได้มาสนับสนุนการศึกษาให้กับนักเรียน โดยในวันนี้ ด.ญ.วีราภรณ์ ศรีอุทยาน นักเรียนชั้น ป.6 ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงเรียนได้มาบอกเล่าถึงประโยชน์ที่ได้รับจากการปลูกต้นกระดาษ โดยตั้งแต่ปี 2539 โรงเรียนได้นำเงินที่ได้จากการขายต้นกระดาษจากการตัดครั้งที่ 1 กว่า 200,000 บาท สร้างสนามฟุตบอล เพื่อใช้เป็นที่ทำกิจกรรมให้กับนักเรียน การตัดครั้งที่ 2 อีกกว่า 100,000 บาท ใช้ในการต่อเติมอาคารเรียน 4 ห้อง และการตัดครั้งที่ 3 อีกกว่า 40,000 บาท โดยใช้ในการซื้อกล้องดิจิตอล และซื้อคอมพิวเตอร์ให้กับนักเรียนเพื่อใช้ในการศึกษา
ซึ่งนอกจากคณะที่ร่วมเดินทางจะได้รับรู้ถึงประโยชน์ของต้นกระดาษดั๊บเบิ้ล เอ ที่มีต่อโรงเรียนในพื้นที่ต่างจังหวัดแล้ว ในวันนั้นเยาวชนที่ร่วมเดินทางไปกับดั๊บเบิ้ล เอ ยังได้ช่วยกันลดภาวะโลกร้อน และสร้างรายได้ให้กับโรงเรียน ด้วยการร่วมกันปลูกต้นกระดาษในพื้นที่โรงเรียนโคกกระท้อน เพื่อเป็นรายได้ให้กับโรงเรียนต่อไป
ถึงตอนนี้ต้องหันไปสอบถามน้องๆผู้เข้าประกวดแล้วล่ะว่าได้ไอเดียเด็ดอะไรบ้างจากการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ ซึ่งทุกคนต่างก็พูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเปิดเผยไอเดียไม่ได้ แต่ในส่วนของพฤติกรรมการใช้กระดาษหลังจากนี้ไป จะต้องเปลี่ยนแปลงไปอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการเลือกใช้กระดาษจะเลือกใช้กระดาษที่มาจากไม้ปลูกจากเกษตรกร เพราะนอกจากจะไม่ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติหมดไปแล้ว ยังเป็นการสร้างรายได้ให้กับเกษตรอีกด้วย
โดยกลุ่มน้องๆจาก มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า “ รู้สึกประทับใจที่มีการดูแลธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยการผลิตกระดาษจากไม้ปลูกของเกษตรกรไทย ”
ด้านน้องนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกว่า “การมาเยี่ยมชมการผลิตกระดาษของดั๊บเบิ้ล เอ ในครั้งนี้ทำให้รับรู้ถึงขั้นตอนการผลิตกระดาษเริ่มตั้งแต่ยังเป็นต้นกล้าเล็กๆ รวมทั้งได้รับรู้ว่าตัวเราเองก็สามารถช่วยลดการตัดไม้ทำลายป่าได้ด้วยการใช้กระดาษที่ผลิตจากไม้ปลูกจากเกษตรกรได้ เพราะนอกจากจะไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังสามารถสร้างออกซิเจนให้กับชั้นบรรยากาศได้ด้วยการปลูกต้นกระดาษขึ้นมาทดแทน”
นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ร่วมเดินทางไปกับกิจกรรม “ท่องปราจีนชมแหล่งกำเนิดกระดาษจากไม้ปลูก” กล่าวว่า “ถือเป็นสิ่งที่ดีที่ได้มาดูขั้นตอนการผลิตกระดาษ ทำให้รู้ถึงคุณค่าของกระดาษมากขึ้น เพราะจากที่ไม่เคยรู้มาก่อนว่าขั้นตอนการผลิตกระดาษจะต้องทำอย่างไร และใช้วัตถุดิบอะไรบ้าง รวมทั้งไม่รู้ว่ากระดาษสามารถผลิตได้จากไม้ปลูกของเกษตรกรไม่ใช่มาจากไม้จากป่าธรรมชาติ ซึ่งการมาในครั้งนี้ถือว่าเป็นประโยชน์อย่างมากเพราะนอกจากจะได้ไอเดียในการผลิตสื่อที่จะส่งเข้าประกวดแล้ว ยังทำให้ได้รับรู้ว่าตัวเราเองสามารถร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมได้ ด้วยการใช้กระดาษอย่างประหยัดและใช้กระดาษจากไม้ปลูกของเกษตรกร”
สำหรับการประกวด “สื่อรณรงค์” การใช้กระดาษจาก “ไม้ปลูก” ได้เปิดโอกาสให้กับเยาวชน ทั้งระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษา และประชาชนทั่วไป ได้ร่วมส่งผลงานเข้าประกวด โดยแบ่งการประกวดออกเป็น 3 ประเภท คือ 1.การออกแบบโปสเตอร์ 2.หนังโฆษณา และ 3.การออกแบบสกรีนลายเสื้อยืด โดยทุกผลงานจะต้องมีเนื้อหาที่รณรงค์การใช้กระดาษจากไม้ปลูก และสามารถกระตุ้นให้ผู้ที่ได้รับสื่อตระหนักถึงการใช้กระดาษอย่างถูกต้อง และเข้าใจได้ว่า มีกระดาษที่ผลิตจากไม้ปลูกของเกษตรกร เป็นทางเลือกใหม่ในการดูแลสิ่งแวดล้อม
การมาร่วมกิจกรรมของผู้เข้าประกวดในครั้งนี้ นอกจากจะนำข้อมูลที่ได้รับไปปรับใช้หรือนำไปเป็นแนวคิดในการผลิตสื่อที่จะส่งเข้าประกวดแล้ว ผู้เข้าร่วมกิจกรรมยังจะได้สัมผัสไม้ปลูกของเกษตรกร ที่สามารถนำมาผลิตกระดาษได้ โดยไม่ต้องใช้ไม้จากป่าอีกต่อไป อย่างไรก็ตามกระดาษที่ผลิตได้จากทั่วโลกถึงร้อยละ 71 ก็ยังต้องใช้ไม้จากป่าธรรมชาติ ดังนั้น ขอให้เราทุกคนรู้จักการใช้กระดาษอย่างคุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุด และร่วมกันเลือกใช้กระดาษที่ผลิตจากไม้ปลูกกันเถอะ เพื่อลดปริมาณการตัดป่าไม้ของโลก แถมยังช่วยสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรของไทยอีกด้วย
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ บริษัท คิธ แอนด์ คินฯ จำกัด
คุณมารยาท จำปาทุม
โทร. 02 663 3226 ต่อ 64 หรือ (085-839-1133)
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net