กราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯ พิธีฉลองเสาชิงช้า

ข่าวทั่วไป Monday June 18, 2007 14:53 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 มิ.ย.--กทม.
กทม. เตรียมจัดงานใหญ่ 2 วัน 2 คืน ฉลองเสาชิงช้ายิ่งใหญ่ โดยกราบบังคมทูลเชิญเสด็จฯมาในพิธี พร้อมชม “โขนสร้างกรุงเทพฯ” จัดกิจกรรมเน้นถ่ายทอดประวัติศาสตร์ความสำคัญของเสาชิงช้าให้คนรุ่นหลังผ่านนิทรรศการ ภาพถ่ายเก่าแก่ การแสดงศิลปวัฒนธรรม แสดงสีแสง และมหรสพเฉลิมฉลอง พร้อมจัดทำของที่ระลึกมากมาย อาทิ เสาชิงช้าจำลอง แสตมป์ พระเสาชิงช้า
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร แถลงข่าว การจัดงานฉลองเสาชิงช้า พ.ศ. 2550 โดยมีนายพิชัย ไชยพจน์พานิช รองปลัดกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญภัทโร ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมแถลงข่าว ณ ห้องรัตนโกสิทร์ ศาลาว่าการ กทม.
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า ตามที่กรุงเทพมหานครได้ดำเนินการบูรณปฏิสังขรณ์เสาชิงช้า ซึ่งเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ โดยมีการซ่อมแซมชั่วคราว ตั้งแต่ ปี 2548 เป็นต้นมา จากนั้นได้สืบค้นหาไม้สักที่ถูกต้องตามคุณลักษณะ เป็นไม้มงคล ลำต้นตั้งตรง แข็งแรง เนื้อไม้ไม่เป็นโพรง จำนวน 6 ต้น จากจังหวัดแพร่
มาใช้ในการทำเสาชิงช้าและส่วนประกอบเสาชิงช้าใหม่ ซึ่งเสาหลักทั้งสองข้างมีอายุกว่า 100 ปี สำหรับการทำไม้และงานศิลปกรรมแกะสลักไม้อยู่ภายใต้การออกแบบและควบคุมดูแลของสำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร จนกระทั่งได้เสาชิงช้าใหม่ ซึ่งขณะนี้ติดตั้งแล้วเสร็จ พร้อมประกอบพิธีกรรมทางพุทธศาสนาและพิธีบวงสรวงทางพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคลเรียบร้อยแล้ว โดยการดำเนินงานได้จัดทำอย่างถูกต้องตามหลักวิธีปฏิบัติแห่งราชประเพณีนิยม ประวัติศาสตร์ และรูปแบบดั้งเดิม พร้อมทั้งได้นำความกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบฝ่าละอองธุลีพระบาท ทุกขั้นตอน
เสาชิงช้าเป็นโบราณสถานที่เกี่ยวข้องกับราชประเพณีและบรมราชวงศ์จักรีมายาวนานแต่ครั้งสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ประกอบกับการบูรณปฏิสังขรณ์โดยการเปลี่ยนเสาชิงช้าใหม่ในครั้งนี้ ได้ดำเนินการแล้วเสร็จในปีมหามงคลที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเจริญพระชนมพรรษา 80 พรรษา กรุงเทพมหานครจึงได้เตรียมการจัดงานฉลองเสาชิงช้า พ.ศ.2550 โดยขอพระราชทานกราบบังคมทูลเชิญเสด็จพระราชดำเนินในพิธีฉลองเสาชิงช้า ซึ่งสำนักราชเลขาธิการได้มีหนังสือตอบกลับมาว่า ทรงพระกรุณาทราบฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้ว ทรงรับเชิญเสด็จฯ มาในพิธีฉลองเสาชิงช้า ส่วนกำหนดวันและเวลานั้น เมื่อทรงกำหนดแล้วจะแจ้งให้ทราบต่อไป
กิจกรรมในงานฉลองเสาชิงช้า
สำหรับการจัดงานฉลองเสาชิงช้านั้น จะจัดขึ้นบริเวณเสาชิงช้า ลานคนเมือง ประกอบด้วยกิจกรรมบันเทิงเชิงวัฒนธรรม ที่เน้นให้ประชาชนได้รับความรู้ถึงประวัติศาสตร์อันน่าภาคภูมิใจและความสำคัญของการมีเสาชิงช้าสืบทอดมาตั้งแต่รัชสมัยของปฐมกษัตริย์ รัชกาลที่ 1 จนถึงรัชสมัยของพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ยาวนานกว่า 220 ปี โดยการจัดกิจกรรมแบ่งออกเป็น 5 ส่วน คือ นิทรรศการเล่าเรื่องราวย้อนอดีตเมืองบางกอก การเสวนาโดยผู้มีความรู้เกี่ยวกับกรุงเทพฯ และย่านเสาชิงช้า การประกวดภาพถ่ายในหัวข้อ “ย้อนรอย...ย่านเสาชิงช้า” การแสดงมหรสพเฉลิมฉลอง ซึ่งเน้นการถ่ายทอดศิลปวัฒนธรรมไทยในยุครัตนโกสินทร์ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงปัจจุบัน เช่น การแสดงสีเสียงและสื่อผสมตำนานเสาชิงช้า ลิเก ลำตัด ละครชาตรี วงมโหรี โขน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการจำลองตลาดเก่า จำหน่ายอาหารดีเมืองบางกอก การบริการรถรางชมเมืองและนำไหว้พระวัดสุทัศน์ฯ
งานฉลองเสาชิงช้าจะจัดขึ้นสองวัน วันแรกของงานถือเป็นวันสุกดิบจะมีนิทรรศการ และการแสดงมหรสพต่างๆ ส่วนวันที่สองคือ วันฉลอง จะมีทั้งพิธีพุทธคือการทำบุญตักบาตร และพิธีพราหมณ์ คือการชุมนุมเทวดาและพิธีบวงสรวง ซึ่งจะเป็นวันที่เสด็จพระราชดำเนินมาในพิธี และทอดพระเนตรการแสดง “โขนสร้างกรุงเทพฯ” โดยกทม. จะเชิญคณะทูตานุทูตจากประเทศต่างๆ มาร่วมรับเสด็จฯ และร่วมเฉลิมฉลองด้วย
จัดทำของที่ระลึกงานฉลองเสาชิงช้า
การฉลองเสาชิงช้าใหม่ เป็นวาระพิเศษซึ่งถือเป็นหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่สำคัญของชาติ กรุงเทพมหานครจึงได้จัดทำของที่ระลึกสำหรับการฉลองในครั้งนี้ ประกอบด้วย หนังสือที่ระลึกในงานฉลองเสาชิงช้า ซึ่งบอกเล่าความสำคัญและความเป็นมาของเสาชิงช้าตั้งแต่อดีตจนถึงเสาชิงช้าต้นปัจจุบัน เสาชิงช้าจำลอง ทำจากไม้สักทองอายุกว่า 100 ปี เป็นไม้ต้นเดียวกับที่นำมาทำเสาชิงช้า จำลองย่อส่วนมากจากเสาชิงช้าจริง อัตราส่วน 1:25 แก่สลักกระจังด้วยมือ และ1:50 และสลักด้วยเลเซอร์ แสตมป์ที่ระลึก บอกเล่าเรื่องราวของเสาชิงช้าด้วยภาพ เหรียญที่ระลึก ทำจากเนื้ออัลปาก้า ด้านหน้าเป็นรูปเสาชิงช้า ด้านหลังเป็นตราสัญลักษณ์กรุงเทพมหานคร พระเสาชิงช้า ในรูปของพระศรีศากยมุนี และพระตรีมูรติ ซึ่งจัดสร้างจากมวลสารเสาชิงช้าต้นเก่า และเสาชิงช้าใหม่ รวมทั้งมวลสารศักดิ์สิทธิอื่นๆ อีกมากมาย พร้อมทั้งจะทำพิธีปลุกน้ำมนต์นครฐานสูตรรัตนโกสินทร์ 225 ปี เพื่อแจกจ่ายให้แก่ผู้มาร่วมในงานฉลอง นอกจากนี้ กรุงเทพมหานครกำลังจัดทำ จดหมายเหตุเสาชิงช้า ที่รวบรวมประวัติความเป็นมาของเสาชิงช้า ตำนานความเชื่อตามคติของพราหมณ์ ภาพประกอบพร้อมคำบรรยายขั้นตอนการบูรณปฏิสังขรณ์ โดยละเอียด ไว้ให้ชนรุ่นหลังได้ศึกษาค้นคว้าอีกด้วย
โครงการปลูกต้นไม้สักมงคล สานสัมพันธ์เสาชิงช้า รวมใจไทยเป็นหนึ่ง
ในส่วนของต้นสักทองที่มาทำเสาชิงช้านั้น ถือเป็นไม้มงคลที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์อย่างยิ่ง กรุงเทพมหานครจึงมีโครงการปลูกต้นกล้าไม้สัก จำนวน 1 ล้านต้น เพื่อให้ประชาชนและหน่วยงานทั่วทุกภาคของประเทศได้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สายพันธุ์นี้ไว้ ซึ่งไม้สักนั้นถือเป็นหนึ่งใน 9 ของไม้มงคล “สัก” หมายถึงความมีศักดิ์มีศรี ความมีเกียรติ การปลูกไม้สักมงคลในครั้งนี้จะเป็นการรวมใจของคนไทยทั่วประเทศสร้างความสมานฉันท์และความรักสามัคคีในการทำกิจกรรมร่วมกัน อีกทั้งเป็นการเพิ่มพื้นที่สีเขียวสู่แผ่นดินไทยอีกด้วย
การขยายกล้าไม้สักให้ได้จำนวน 1 ล้านต้น นั้น กรุงเทพมหานครได้รับความร่วมมือจากหลายหน่วยงานในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (tissue culture) เช่น ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยี หรือไบโอเทค กรมป่าไม้ องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เป็นต้น ทั้งนี้ สามารถจะตรวจสอบได้ว่ากล้าที่นำไปปลูกนั้นเป็นสายพันธุ์เสาชิงช้าจริง เพราะไบโอเทคได้จัดทำเอกลักษณ์ทางพันธุกรรม (DNA) ไว้แล้ว ส่วนการเพาะกล้าขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว จะเชิญสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมในโอกาสต่อไป
“การมีเสาชิงช้าใหม่ในครั้งนี้จะเป็นประวัติศาสตร์ในรอบ 100 ปี กรุงเทพมหานครจึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทยได้ร่วมกันเฉลิมฉลอง และมีส่วนร่วมในประวัติศาสตร์ของชาติครั้งนี้ เพื่อความเป็นสิริมงคลโดยทั่วกัน” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ