กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ระบุประเทศไทยมีรอยเลื่อนที่ทรงพลังในการเคลื่อนตัวรวม 13 จุด พาดผ่าน 22 จังหวัด โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันตก พร้อมแนะประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงภัยยึดติดอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์กับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา ในขณะเกิดเหตุให้หลบบริเวณใต้โต๊ะหรือจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง ไม่อยู่ใต้คานหรือใกล้เสา อยู่ให้ห่างจากประตู หน้าต่างที่เป็นกระจกและเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่สามารถล้มลงมาได้
นายวิบูลย์ สงวนพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้ตั้งอยู่บนศูนย์กลางการเกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่โดยตรง แต่มีรอยเลื่อนที่มีพลังในการเคลื่อนตัวรวม 13 จุด พาดผ่าน 22 จังหวัด แยกเป็น ภาคเหนือ 11 จังหวัด ภาคใต้ 6 จังหวัด ภาคตะวันตก 3 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ดังนี้ รอยเลื่อน แม่จันและแม่อิง พาดผ่านเชียงราย เชียงใหม่ รอยเลื่อนแม่ฮ่องสอน พาดผ่านแม่ฮ่องสอน ตาก รอยเลื่อนเมย พาดผ่านตาก กำแพงเพชร รอยเลื่อนแม่ทา พาดผ่านเชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย รอยเลื่อนเถิน พาดผ่านลำปาง แพร่ รอยเลื่อนพะเยา พาดผ่านลำปาง เชียงราย พะเยา รอยเลื่อนปัว พาดผ่านน่าน รอยเลื่อนอุตรดิตถ์ พาดผ่านอุตรดิตถ์ รอยเลื่อนเจดีย์สามองค์ พาดผ่านกาญจนบุรี ราชบุรี รอยเลื่อนศรีสวัสดิ์ พาดผ่านกาญจนบุรี อุทัยธานี รอยเลื่อนท่าแขก พาดผ่านหนองคาย นครพนม รอยเลื่อนระนอง พาดผ่านประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง พังงา รอยเลื่อนคลองมะรุ่ย พาดผ่านสุราษฎร์ธานี กระบี่ พังงา อีกทั้งในช่วงหลายปีที่ผ่านมาประเทศเพื่อนบ้านของไทยเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงบ่อยครั้งมากขึ้น ซึ่งโดยรอบประเทศไทยมีแนวรอยเลื่อนที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ รวม 3 จุด ได้แก่ รอยเลื่อนสะแกง พาดผ่านตอนกลางประเทศพม่า รอยเลื่อนซุนดา อยู่บริเวณหมู่เกาะนิโคบาร์ ประเทศอินโดนีเซีย รอยเลื่อนฟิลิปปินส์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกของประเทศฟิลิปปินส์
นายวิบูลย์ กล่าวต่อไปว่า เพื่อความปลอดภัย ขอแนะประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เตรียมพร้อมรับมือและเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนอย่างปลอดภัยจากแผ่นดินไหว ดังนี้ ก่อนเกิดเหตุ ตรวจสอบบ้านเรือนและเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านให้อยู่ในสภาพมั่นคงแข็งแรง ยึดติดอุปกรณ์และเฟอร์นิเจอร์ต่างๆ กับพื้นหรือผนังบ้านอย่างแน่นหนา ไม่วางสิ่งของที่มีน้ำหนักมากไว้บนหลังตู้หรือที่สูง ระหว่างเกิดเหตุ กรณีอยู่ในอาคาร ให้หาที่หลบกำบังในบริเวณที่ปลอดภัย พร้อมใช้มือกำบังศีรษะและลำคอ โดยหมอบบริเวณใต้โต๊ะ เก้าอี้ที่แข็งแรง ไม่มีสิ่งของหล่นใส่ หรือในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง ไม่อยู่ใต้คานหรือใกล้เสา อยู่ให้ห่างจากประตู หน้าต่างที่เป็นกระจกและเฟอร์นิเจอร์ขนาดใหญ่ที่สามารถล้มลงมาได้ ห้ามวิ่งหนีออกจากอาคารโดยใช้ลิฟต์หรือบันไดหนีไฟ เพราะอาจได้รับอันตรายจากสิ่งของที่ร่วงหล่นจากแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะหากกระแสไฟฟ้าดับ จะติดค้าง อยู่ในลิฟต์ ทำให้ขาดอากาศหายใจเสียชีวิต กรณีกำลังขับรถ ให้หยุดรถในบริเวณที่ปลอดภัยและรอจนกว่าเหตุแผ่นดินไหวสงบค่อยขับรถต่อ ห้ามหยุดรถบริเวณใต้สะพาน ทางด่วน ป้ายโฆษณาและต้นไม้ขนาดใหญ่ เพราะเสี่ยงต่อการถูกล้มทับ กรณีอยู่บริเวณชายทะเล หากสังเกตเห็นน้ำทะเลลดระดับอย่างรวดเร็ว ให้รีบหนีขึ้นที่สูงหรือออกห่างจากชายฝั่งทะเลให้มากที่สุด เพราะอาจเกิดสึนามิ ถ้าอยู่ในเรือ ให้นำเรือออกสู่กลางทะเล และรอจนกว่าสถานการณ์สงบ จึงค่อยนำเรือกลับเข้าฝั่ง หลังเกิดเหตุ รีบออกจากอาคารโดยเร็วที่สุด ไม่กลับเข้าไปในอาคารที่ได้รับความเสียหาย เพราะหากเกิดอาฟเตอร์ช็อค อาคารอาจพังถล่มลงมา อย่าหลงเชื่อข่าวลือ ให้ติดตามรับฟังสถานการณ์ พร้อมปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด ตลอดจนหลีกเลี่ยงการก่อประกายไฟ เพราะอาจมีแก๊สรั่วไหลในพื้นที่ใกล้เคียง ทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้