ฟิทช์คงอันดับเครดิตภายในประเทศและให้อันดับเครดิต ‘A+(tha)’ แก่หุ้นกู้ชุดใหม่ของ บมจ ปูนซิเมนต์ไทย

ข่าวทั่วไป Thursday February 22, 2007 16:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด ประกาศคงอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) ระยะยาวและอันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) ที่ ‘A+(tha)’ และ ‘F1(tha)’ ตามลำดับ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ การประกาศคงอันดับเครดิตในครั้งนี้ได้ครอบคลุมถึงอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิของ SCC ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอน และในขณะเดียวกัน ฟิทช์จัดอันดับเครดิตแก่หุ้นกู้ไม่มีหลักประกันไม่ด้อยสิทธิชุดใหม่ของ SCC (ครั้งที่ 1/2550) ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 1.5 หมื่นล้านบาท ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2554 ที่ระดับ ‘A+(tha)’ โดยเงินที่ได้รับจากหุ้นกู้ชุดใหม่จะนำมาใช้ชำระคืนหุ้นกู้ที่ถึงกำหนดชำระและนำไปลงทุนในโครงการต่างๆ
อันดับเครดิตของ SCC สะท้อนถึงการที่บริษัทมีการกระจายตัวของรายได้ที่ดี ความเป็นผู้นำทางด้านส่วนแบ่งการตลาดในธุรกิจหลักและการที่บริษัทมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักอย่างดีในกลุ่มลูกค้าในประเทศ รวมถึงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดจากการดำเนินงานที่ค่อนข้างแข็งแกร่งและการที่บริษัทที่มีเป้าหมายที่จะคงอัตราส่วนหนี้สินให้อยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำในระยะยาว นอกจากนี้ การที่ SCC มีความสามารถในการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ในประเทศที่สูงยังเป็นปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการชำระหนี้และความคล่องตัวทางกางเงินของบริษัทอีกด้วย อย่างไรก็ตาม SCC ต้องเผชิญกับส่วนต่างกำไรที่ลดลง อันเป็นผลมาจากต้นทุนด้านพลังงานที่สูงขึ้นและยังมีผลกระทบจากการที่บริษัทประกอบกิจการในอุตสาหกรรมที่มีอุปทานส่วนเกินจำนวนมากและมีการแข่งขันที่รุนแรง SCC ได้ประกาศปรับแผนการลงทุนระหว่างปี 2550 ถึงปี 2553 เพิ่มขึ้น 20% มาอยู่ที่ระดับ 9.1 หมื่นล้านบาท โดยส่วนที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่เกิดจากการเพิ่มจำนวนเงินลงทุนในโรงงานโอเลฟินส์แห่งที่สองและโครงการปิโตรเคมีปลายน้ำ โครงการสร้างโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์แห่งใหม่ในประเทศเวียดนามและโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของธุรกิจปูนซีเมนต์จากการที่บริษัทมีแผนการลงทุนขนาดใหญ่ สถานะทางการเงินของ SCC มีแนวโน้มที่จะลดความแข็งแกร่งลงในช่วงสองปีข้างหน้า อย่างไรก็ตาม บริษัทน่าจะยังสามารถรักษาอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (Net Debt-to-EBITDAR) ให้อยู่ภายในเป้าหมายระยะยาวที่ระดับ 2.5 เท่าได้ ปัจจัยความเสี่ยงอื่นของบริษัทยังรวมถึงความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากการดำเนินงาน (Execution Risk) ที่สืบเนื่องมาจากการลงทุนใหม่และความเสี่ยงที่เกิดจากการที่ SCC มีการค้ำประกันหนี้ให้แก่บริษัทร่วม ถึงแม้ว่าภาระค้ำประกันดังกล่าวได้ลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากความพยายามอย่างต่อเนื่องของบริษัทในการลดระดับหนี้สินลง โดย SCC ได้ขายเงินลงทุนในธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักออกไป
ในปี 2549 SCC มียอดขายรวมสุทธิ 2.58 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 18% เทียบกับปีก่อนหน้า และมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่า (EBITDAR) (ก่อนเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม) 4.59 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.7% เทียบกับปีก่อนหน้า โดยเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของราคาผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีและการรวมผลประกอบการของบริษัท ไทยพลาสติกและเคมีภัณฑ์ จำกัด (มหาชน) (TPC) เข้าไว้ในงบการเงินรวมของบริษัท รวมถึงยอดขายที่เติบโตขึ้นของธุรกิจซีเมนต์และธุรกิจกระดาษ เมื่อรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม บริษัทมี EBITDAR เพิ่มขึ้นเป็น 5.32 หมื่นล้านบาท ในปี 2549 เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า อย่างไรก็ตาม SCC มีอัตราส่วนการทำกำไรที่ลดลงในปี 2549 เนื่องมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนพลังงานของกลุ่มซีเมนต์และการรวมผลประกอบการของ TPC ซึ่งมีอัตราส่วนการทำกำไรที่ต่ำกว่า SCC มีอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อม ค่าตัดจำหน่ายและค่าเช่าต่อยอดขาย (EBITDAR Margins) ลดลงมาอยู่ที่ 18% ในปี 2549 จาก 20% ในปี 2548
ถึงแม้หนี้สินสุทธิจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.03 แสนล้านบาทในปี 2549 จาก 1.01 แสนล้านบาทในปี 2548 แต่อัตราส่วน Net Debt-to-EBITDAR ของ SCC กลับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ระดับ 2.2 เท่า ณ สิ้นปี 2549 จากระดับ 2.3 เท่า ณ สิ้นปี 2548 อันเป็นผลจาก EBITDAR ที่แข็งแกร่งเมื่อรวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม อัตราส่วน Net Debt-to-EBITDAR ของบริษัทได้ปรับลดลงมาที่ระดับ 1.9 เท่า ณ สิ้นปี 2549 จากระดับ 2.0 เท่า ณ สิ้นปี 2548 แม้ว่าแผนการลงทุนที่สูงอาจทำให้สถานะทางการเงินของ SCC มีแนวโน้มที่ลดความแข็งแกร่งลง โดยเฉพาะในช่วงภาวะการดำเนินงานที่อาจทำให้ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทลดลง ฐานของ EBITDAR ที่คาดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นจากการเพิ่มกำลังการผลิตน่าจะช่วยลดความเสี่ยงทางการเงินของบริษัทลงได้ในระยะยาว
แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพสะท้อนถึงการกระจายตัวของรายได้ของบริษัท ความเป็นผู้นำในธุรกิจหลัก ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดและระดับของเงินปันผลรับจากบริษัทร่วมที่ดีซึ่งน่าจะช่วยให้บริษัทสามารถรักษาระดับของอัตราส่วนหนี้สินในระดับที่ค่อนข้างต่ำได้
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: วสันต์ ผลเจริญ, โสมสิริ ชฎาวัฒน์, Vincent Milton + 662 655 4755

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ