เด็กไทยวัยประถมศึกษา สุดยอดนักแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ “ด้วยความรักในคณิตศาสตร์ สู่แรงบันดาลใจต่อยอดการเรียนรู้”

ข่าวทั่วไป Monday February 28, 2011 11:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--สสวท. จบไปแล้วด้วยความชื่นมื่นกับพิธีมอบรางวัลให้แก่ผู้ได้รับรางวัลในโครงการประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา ประจำปี พ.ศ. 2553 เมื่อวันอาทิตย์ที่ 13 กุมภาพันธ์ 2554 ณ โรงแรมวินเซอร์ สวีท กรุงเทพมหานคร จัดโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) และบริษัทเอ็ดดูพาร์คจำกัดการประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ ระดับประถมศึกษา มีนักเรียนที่ได้รับรางวัลเหรียญทอง เหรียญเงิน และเหรียญทองแดง ป. 3 — ป.6 รวมจำนวน 72 คน และนักเรียนที่ได้รับรางวัลชมเชย รวมจำนวน 304 คน โครงการนี้ได้คัดเลือกข้อสอบจากประเทศเกาหลีใต้ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานหลักสูตรคณิตศาสตร์ แล้วนำมาประเมินความสามารถรายบุคคลโดยละเอียด “เจาะลึก” เพื่อประเมินความสามารถด้านเนื้อหาเกี่ยวกับจำนวนและการดำเนินการ การวัด พีชคณิต เรขาคณิต การวิเคราะห์ข้อมูลและสถิติ ทักษะกระบวนการทางคณิตศาสตร์ ประเมินระดับพฤติกรรมการเรียนรู้ ความจำ ความเข้าใจ การนำไปใช้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ หลังจากการประเมินจะมีการนำข้อมูลไปวิเคราะห์ทั้งรายบุคคล ภาพรวมของแต่ละโรงเรียน เขตการศึกษา จังหวัด ภาค และภาพรวมระดับประเทศ เพื่อให้โรงเรียนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำข้อมูลที่ได้ไปวางแผนในเชิงนโยบาย แก้ปัญหาการเรียนรู้คณิตศาสตร์ของนักเรียนได้ตรงจุด นายไชยยศ จิรเมธากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ประธานในงาน กล่าวว่า “ดีใจที่ได้เห็นตัวเลขผู้เข้าร่วมการสอบประเมินความสามารถในการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ จำนวนเก้าหมื่นสี่พันกว่าคน ได้เห็นความร่วมมือเป็นอย่างดีของโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ นับว่าเยาวชนที่มีความสามารถเหล่านี้เป็นความหวังของประเทศ เพราะนักวิจัยบ้านเรายังขาดแคลน และจำเป็นที่จะต้องสร้างเยาวชนในสายวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์อีกจำนวนมาก” รมช. ศธ. กล่าวต่อไปว่า “กระบวนการเรียนรู้ทางคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์เป็นการพัฒนาโครงสร้างทางสมอง ให้เด็ก ๆ ได้รู้จัดคิด รู้จักใช้ชีวิต อย่างเป็นระบบ กระบวนการเหล่านี้สร้างได้ และหวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะได้รับการสนับสนุนจากทุกฝ่ายให้มีการพัฒนาต่อยอดขึ้นไปเรื่อย ๆจนได้ทั้งเหรียญทองจากการรแข่งขันและเหรียญทองจากการใช้ชีวิตจริง”เด็กชายณวัสส์ เอ็งอุทัยวัฒน์ หรือ น้องทาม (Time) โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เจ้าของเหรียญทองระดับชั้น ป. 3 เล่าว่า ได้ทราบข่าวการสอบครั้งนี้มาจากคุณครู เพราะโรงเรียนเป็นศูนย์สอบ เพื่อน ๆ ก็สอบกันเยอะข้อสอบไม่ค่อยยาก ทำข้อสอบได้ทุกข้อเลย ชอบเรียนวิทยาศาสตร์กับคณิตศาสตร์ เพราะคุณครูสอนดี ดีใจที่ได้รับรางวัลนี้ ช่วงเวลาที่ผ่านมา น้องทามเล่าว่า ไม่ได้ไปเรียนพิเศษกับใครที่ไหน แต่คุณแม่จะเป็นคนสอนการบ้าน รวมทั้งช่วยหาซื้อหนังสือที่ตนเองสนใจมาให้ทำโจทย์ ทุกวันหลังเลิกเรียน และเรียนได้เกรด 4 ทุกวิชา เด็กหญิงกมลลักษณ์ วัฒนาพิทักษ์กุล หรือ น้องเอ้ โรงเรียนเซนต์โยเซฟคอนแวนต์ เจ้าของเหรียญทอง ระดับชั้น ป. 4 เล่าว่า ตอน ป. 2 เพื่อนชวนให้สอบเข้าโครงการพัฒนาอัจฉริยภาพทางคณิตศาสตร์ ของ สสวท. ได้เหรียญทองแดง ตอนนั้น จึงเริ่มรู้ว่าว่าชอบคณิตศาสตร์ และได้ฝึกฝนพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พอขึ้น ป. 3 สอบในโครงการดังกล่าวอีกครั้ง ได้เหรียญทอง และได้อันดับ 1 ของประเทศ หลังจากนั้นจึงเริ่มเข้าร่วมการแข่งขันโครงการต่าง ๆ ในวิชาคณิตศาสตร์และได้รางวัลมาทุกสนามการแข่งขันเลยทีเดียว น้องเอ้บอกว่า “เราสามารถนำคณิตศาสตร์ มาเป็นแนวทางในการใช้ชีวิต พยายามทำความเข้าใจ และหมั่นฝึกฝนไปเรื่อย ๆ ก็จะทำได้ โดยตัวน้องเอ้นั้น จะซื้อหนังสือมาฝึกทำโจทย์ ลงสนามแข่งขันต่าง ๆเพื่อพัฒนาตัวเอง ถ้าไม่เข้าใจก็ไปถามคุณครู จากการเข้าร่วมโครงการนี้จะทำให้เรารู้ว่าเรายังบกพร่องตรงไหน ต้องพัฒนาในส่วนใด ก็จะได้นำไปแก้ไขและพัฒนาตัวเองต่อไป” เด็กชายกฤษฎิ์ บุญศิริเศรษฐ หรือ ต้นกล้า โรงเรียนสาธิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของเหรียญทอง ระดับชั้น ป. 5 เล่าว่า ก่อนสอบได้เตรียมตัวโดยฝึกทำข้อสอบตอนเย็นหลังทำการบ้านเสร็จ โดยคุณแม่เป็นคนสอนการบ้าน ก่อนหน้านี้ น้องต้นกล้า เคยผ่านเวทีสอบแข่งขันทางคณิตศาสตร์มาแล้วหลายเวที เนื่องจากชอบเรียนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ก็ได้ทดลองจึงชอบ คณิตศาสตร์เรียนแล้วสนุกชอบและถนัดทางทฤษฎีจำนวน เพราะมีสิ่งที่น่าสนใขซ่อนอยู่เยอะ “โตขึ้น อยากเป็นนักคณิตศาสตร์ และจะพัฒนาความรู้ทางคณิตศาสตร์ของตนให้ลึกซึ้งต่อยอดไปเรื่อยๆ”นางเพ็ญประภา บุญศิริเศรษฐ คุณแม่ของน้องต้นกล้า เล่าให้เราฟังว่า ครอบครัวเริ่มสังเกตเห็นแววว่าบุตรชายมีความสนใจทางคณิตศาสตร์มาตั้งแต่ 2 ขวบ เนื่องจากต้นกล้าชอบตัวเลขนับเลขได้เร็ว อะไรที่เป็นระบบจะเรียนรู้ได้ไว ช่างถาม ช่างสังเกต ส่วนใหญ่ต้นกล้าจะเรียนรู้ทักษะคณิตศาสตร์ จากการเล่นเกมฝึกทักษะต่าง ๆ เพราะสนุก จึงได้ให้เวลากับการเล่มเกมเหล่านี้บ่อย ๆ คุณแม่น้องต้นกล้า บอกว่า สิ่งที่ช่วยให้น้องต้นกล้ามีความสามารถสูงทางคณิตศาสตร์ เนื่องจาก ตัวน้องต้นกล้าที่เริ่มสนใจเองก่อน จากนั้นเมื่อผุ้ปกครองรู้ว่าลูกสนใจ ก็สนับสนุน เช่น พยายามอธิบายสิ่งที่ลูกอยากรู้เวลาไปร้านหนังสือ เห็นว่าลูกสนใจอยากได้หนังสือ หรือเกมฝึกทักษะอะไรก็จะซื้อให้ และโรงเรียนก็ให้การสนับสนุน สิ่งสำคัญ คือ “ตัวเด็กจะต้องสนใจ และเกิดแรงบันดาลใจด้วยตัวเองก่อน จึงจะนำไปสู่พัฒนาศักยภาพที่ต่อเนื่อง มีความสุข และบังเกิดผล” แต่ทั้ง 3 ส่วน คือ เด็ก-พ่อแม่-โรงเรียนต้องร่วมมือไปในทางเดียวกัน จึงจะประสบความสำเร็จได้ ท้ายสุด รมช. ไชยยศ จิรเมธากร ได้ฝากทิ้งท้ายเชิญชวนให้ผู้ปกครองส่งลูกหลานเข้ามาร่วมทดสอบเพื่อนำไปสู่พัฒนาการการเรียนรู้คณิตศาสตร์แก่บุตรหลานอย่างเป็นระบบ และปีต่อๆ ไปจะกระจายการสอบให้แพร่หลายกว้างขวางมากขึ้น และอาจจัดสอบเพิ่มเติมในระดับชั้น ป. 1 และ ป. 2 ด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ