อานิสงส์เอฟทีเอขยายตัว : ส่งยอดขอตรวจคุณสมบัติของสินค้า เพื่อขอใช้สิทธิพิเศษฯ พุ่งกระฉูด

ข่าวทั่วไป Monday February 28, 2011 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--คต. การทำความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่เพิ่มมากขึ้นทำให้มีผู้ขอรับการตรวจสอบรับรองคุณสมบัติถิ่นกำเนิดสินค้าส่งออกเกินความคาดหมาย นางสาวผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากการที่กรมการค้าต่างประเทศได้ให้บริการตรวจรับรองคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดสินค้าให้กับผู้ผลิต ผู้ส่งออก เพื่อนำไปประกอบการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ที่จะขอใช้สิทธิพิเศษในการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีศุลกากรจากประเทศคู่ค้า ภายใต้ระบบสิทธิพิเศษต่างๆ ได้แก่ ระบบการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป (GSP) ข้อตกลงการค้าสินค้าภายใต้เขตการค้าเสรีของอาเซียน (ATIGA-AFTA) ระบบการแลกเปลี่ยนสิทธิพิเศษระหว่างประเทศกำลังพัฒนา (GSTP) และภายใต้ข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ที่ไทยและอาเซียนทำกับประเทศต่างๆ นั้น ในปี ๒๕๕๓ ที่ผ่านมา ปรากฎว่า มีผู้ผลิต ผู้ส่งออกได้ขอรับบริการตรวจรับรองคุณสมบัติด้านถิ่นกำเนิดของสินค้าส่งออก เพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งเป็นผลมาจากการขยายการทำ FTA กับประเทศต่างๆ ที่มีผลบังคับใช้ในปี ๒๕๕๓ได้แก่ อาเซียน-เกาหลี อาเซียน-อินเดีย และอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ โดยกรมการค้าต่างประเทศได้ออกใบรับรองผลการตรวจคุณสมบัติฯ จำนวนทั้งสิ้น ๗๐,๙๖๓ ฉบับ เพิ่มขึ้นจากปี ๒๕๕๒ ซึ่งมีจำนวน ๕๔,๑๗๔ ฉบับ ถึงร้อยละ ๓๐.๙ แยกเป็นการออกใบรับรองตามระบบสิทธิพิเศษต่างๆ คือ ATIGA จำนวน ๒๕,๖๑๖ ฉบับ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ ๓๖.๑ FTA จำนวน ๒๔,๗๙๖ ฉบับ หรือร้อยละ ๓๔.๙ GSP จำนวน ๑๙,๗๒๙ ฉบับ หรือร้อยละ ๒๗.๘ และ GSTP จำนวน ๘๒๒ ฉบับ หรือร้อยละ ๑.๒ รองอธิบดี กล่าวเพิ่มเติมว่า สินค้าสำคัญที่มีการยื่นขอตรวจคุณสมบัติฯ ได้แก่ ชิ้นส่วนยานยนต์ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ตู้เย็นและอุปกรณ์ทำความเย็น ส่วนประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ สายไฟและสายเคเบิ้ล เครื่องประดับทำด้วยโลหะมีค่า ของทำด้วยเหล็กและเหล็กกล้า สิ่งทอและเสื้อผ้าสำเร็จรูป ผลิตภัณฑ์พลาสติก ยางและของทำด้วยยาง เฟอร์นิเจอร์และส่วนประกอบ เครื่องหนังและผลิตภัณฑ์ เป็นต้น ผู้ผลิต ผู้ส่งออกและผู้ที่สนใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมและขอรับบริการตรวจรับรองคุณสมบัติฯ ดังกล่าว ได้ที่ กลุ่มตรวจสอบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า สำนักบริหารการนำเข้า กรมการค้าต่างประเทศ โทร ๐-๒๕๔๗-๔๘๐๙ , ๐-๒๕๔๗-๕๐๙๐ หรือสายด่วนกรมการค้าต่างประเทศ ๑๓๘๕

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ