กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--คูดี
สำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออกเดินหน้าจัด DEmark Award ครั้งที่ 4 เฟ้นหาสินค้าไทยมีอัตลักษณ์ตั้งเป้ายกระดับเป็นสินค้าไทยปั้นแบรนด์ Demark เน้นคุณภาพสู้ตลาดโลกแบบยั่งยืน
สำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกเดินหน้าสานต่อพันธกิจกระตุ้นพัฒนาศักยภาพนักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตสินค้าไทย เตรียมระดมนักออกแบบ ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการ และผู้ผลิตไทยรุ่นใหม่เข้าร่วมขับเคี่ยวบนเวที DEmark Award 2011 เสริมทัพด้วยเวิร์คช็อปเข้มข้นเน้นบูรณาการทุกด้าน พร้อมประกาศเตรียมขับเคลื่อนสินค้าไทยมีอัตลักษณ์โดดเด่นด้วยการออกแบบร่วมชิงส่วนแบ่งตลาดโลก ภายใต้สัญลักษณ์สินค้า DEmark
ก้าวสู่ปีที่ 4 ของโครงการประกวดสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีประจำปี 2554 หรือ Design Excellent Award 2011 (DEmark 2011) เวทีเพื่อนักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตสินค้าที่มีการสร้างสรรค์ด้านการออกแบบ ที่จัดขึ้นโดยสำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกและกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ ยังคงตอกย้ำวิสัยทัศน์ในการมุ่งมั่นการพัฒนาศักยภาพการออกแบบสินค้าไทย ตามแนวคิดที่ว่าสินค้าที่มีการออกแบบดีสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มและเป็นที่ต้องการของตลาดโลก ด้วยการส่งเสริมกิจกรรมเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ไทย เพื่อเป็นการวางรากฐานในการดำเนินธุรกิจสินค้าส่งออกอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน
ม.ล.คฑาทอง ทองใหญ่ ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า จากการที่กระทรวงพาณิชย์ให้ความสำคัญในเรื่องเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และสนับสนุนให้ผู้ผลิตไทยหันมาให้ความสำคัญกับการใช้ความสร้างสรรค์ในกระบวนการผลิตสินค้าด้วยการออกแบบว่าเป็นนโยบายสำคัญที่ควรเร่งผลักดัน เพื่อเร่งกระตุ้นให้สินค้าไทยมีโอกาสเติบโตและสร้างมูลค่าในตลาดโลก เพราะเนื่องจากแนวทางการแข่งขันในตลาดโลกในปัจจุบันจะเน้นเรื่องคุณภาพการออกแบบสินค้าและรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์ โดยในการวัดผลการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย (จีดีพี) ในปี 2553 ที่ผ่านมา มีการเติบโตเศรษฐกิจในสัดส่วนเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10-12 จึงแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยยังมีโอกาสทางการตลาดสำหรับกลุ่มสินค้าที่เน้นด้านการออกแบบและคุณภาพอีกมาก
ดังนั้น โครงการรางวัลสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี DEmark จึงถือเป็นโครงการที่มีส่วนช่วยยกระดับสินค้าไทยที่มีการออกแบบดีให้เป็นที่ยอมรับแพร่หลายในตลาดโลก ด้วยการพัฒนาศักยภาพนักออกแบบผลิตภัณฑ์และผู้ผลิตสินค้าไทยให้มีทิศทางที่ดีขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจากการดำเนินโครงการรางวัล DEmark อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา ทั้งกลุ่มผู้ผลิต ผู้ส่งออก ผู้ประกอบการและนักออกแบบผลิตภัณฑ์ไทยได้ให้ความสนและตอบรับส่งผลงานเข้าร่วมโครงการเป็นจำนวนมากและมีอัตราผู้เข้าสมัครมากขึ้นในแต่ละปี อีกทั้งผู้ที่ได้รับรางวัล DEmark ยังเข้าร่วมแข่งขันและได้รับรางวัล Good Design Award 2010 (G-Mark) ณ ประเทศญี่ปุ่นมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน
“สำหรับในปีนี้ถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการจัดโครงการฯ ซึ่งจะมีความเข้มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเน้นตั้งแต่การคัดสรรผลงานที่มีความโดดเด่นมีเอกลักษณ์ของตัวเองแท้จริง เพื่อให้ประเทศไทยมีสินค้าออกแบบดีและแตกต่างสู่ตลาดโลกมากขึ้น ขณะเดียวกัน กรมส่งเสริมการส่งออกยังให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์โครงการและสินค้าที่ได้รับรางวัล DEmark ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับสากลมากยิ่งขึ้นสำหรับการโครงการ DEmark 2011 นี้”
โดยการจัดกิจกรรมที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ ได้แก่ การจัดสัมมนา เรื่อง “การสร้างนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าสู่สากล” ในวันพฤหัสบดีที่ 24 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา 9.30 — 15.30 น. ณ คอนเวนชั่นฮออล์ โรงแรมเลอ เมอริเดียน จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งจะเป็นการประชาสัมพันธ์รางวัลให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นในส่วนภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้ผู้ประกอบการและนักออกแบบในระดับภูมิภาคได้มีโอกาสเห็นแบบอย่างของกลยุทธ์การพัฒนาสินค้าจนได้รับการยอมรับในระดับสากลอย่างใกล้ชิด โดยได้รับเกียรติจากเจ้าของผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark รวมทั้งวิทยากรผู้เชี่ยวชาญชาวญี่ปุ่นซึ่งเป็นกรรมการตัดสินรางวัล G-mark ร่วมเป็นวิทยากรในการสัมมนา และอีกกิจกรรมหนึ่งที่สำคัญของการจัดโครงการฯ ในปีนี้ คือ การจัดแสดงนิทรรศการแสดงผลงานที่ได้รับรางวัล DEmark ในปีนี้ ณ เมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-20 เมษายน 2554 ณ บริเวณภายนอกงานแสดงสินค้า (Fuori Saloni ) บนพื้นที่ประมาณ 250 ตรม.ในช่วงงาน SALONE DEI MOBILI ครั้งที่ 50 (มิลานแฟร์) ซึ่งเป็นงานที่มีชื่อเสียงที่สุดด้านการนำเสนอสินค้าที่เน้นการออกแบบและความคิดสร้างสรรค์จากทั่วโลก
นอกจากนี้ สำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก ยังมีการจัดกิจกรรมเพิ่มทักษะความรู้และประสบการณ์ในด้านการทำตลาดและการมีบูรณาการให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการเพื่อเป็นการเสริมศักยภาพในด้านธุรกิจให้ควบคู่กันไปด้วย โดยผู้ประกอบการและนักออกแบบไทยที่เข้าร่วมโครงการฯ ทั้ง 5 ประเภทของกลุ่มสินค้าที่ประกวด ได้แก่ สินค้ากลุ่มเฟอร์นิเจอร์ (Furniture/ Household Items) สินค้ากลุ่มไลฟ์สไตล์ (Gift & Decorative Items) สินค้ากลุ่มแฟชั่น (Fashion/Jewelry/textile) สินค้ากลุ่มอุตสาหกรรม (Home Appliances/Equipment and Facilities for Office) สินค้ากลุ่มบรรจุภัณฑ์ (Food packaging/Health & Beauty Products Packaging) จะได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเข้าร่วมโครงการในครั้งนี้
ม.ล.คฑาทอง กล่าวต่อว่า ในด้านการผลักดันตราสินค้าภายใต้สัญลักษณ์ Demark ซึ่งสำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก มุ่งหวังที่จะสร้างให้เป็นเครื่องหมายรับรองสินค้า DEmark ให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย เพื่อยกระดับและสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าไทยให้เทียบเท่าสินค้าที่มีการออกแบบดีจากนานาชาติ โดยจะมอบให้แก่ผู้ที่ได้รับรางวัล DEmark ใช้เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบ สำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก จึงมีแนวทางและการให้ความสำคัญในการประชาสัมพันธ์ตรา DEmark จากประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลาย เป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น และเริ่มได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ
โดยอีกช่องทางประชาสัมพันธ์ช่องทางหนึ่งที่สำคัญคือการได้รับความร่วมมือจากองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) และสมาคมส่งเสริมการออกแบบของอุตสาหกรรมแห่งประเทศญี่ปุ่น Japan Industrial Design Promotion Organization (JIDPO) ในการให้ความร่วมมือเผยแพร่โครงการมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีแรกของการจัดโครงการฯ จนถึงปัจจุบัน
นอกเหนือจากการให้เกียรติในการร่วมกำหนดทิศทางการพิจารณารางวัล DEmark ของไทย และสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญมาร่วมเป็นกรรมการตัดสินแล้ว ยังสนับสนุนผู้ที่ได้รับรางวัล DEmark ผ่านเข้ารอบที่สองของการตัดสินรางวัล Good Design Award (G-mark) ที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีในการประชาสัมพันธ์รางวัล DEmark จากประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักและยอมรับอย่างแพร่หลายในระดับสากล และยังช่วยผลักดันสินค้าที่มีการออกแบบดีจากประเทศไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลกมากยิ่งขึ้น
ซึ่งนอกเหนือจากการได้รับเครื่องหมายตราสัญลักษณ์ DEmark เพื่อใช้เป็นเครื่องหมายรับรองผลงานที่โดดเด่นด้านการออกแบบจากทางโครงการแล้ว ผู้ที่ได้รับรางวัลยังจะได้รับรางวัลและสิทธิประโยชน์อื่นๆ อาทิ สิทธิผ่านเข้ารอบสองของการสมัครเข้ารับคัดเลือก รางวัล Good Design Award 2010 (G-Mark) ณ ประเทศญี่ปุ่นทันที รวมทั้งการร่วมโรดโชว์เพื่อแสดงผลงานทั้งในและต่างประเทศ และในทุกปีที่ผู้ได้คะแนนสูงสุด 3 อันดับแรกของแต่ละกลุ่มสินค้าจะได้เข้ารับรางวัลกับนายกรัฐมนตรีในงาน Prime Minister’s Export Award
โครงการประกวดสินค้าไทยที่มีการออกแบบดี ประจำปี 2554 หรือ Design Excellent Award 2011 (DEmark 2011) จะเปิดรับสมัครผลงานของนักออกแบบ ผู้ผลิต ผู้ส่งออก และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่มีความสนใจร่วมส่งผลงานเข้าประกวดได้แล้วตั้งแต่วันนี้จนถึง 30 เมษายนศกนี้ และปีนี้จะมีนิทรรศการจัดแสดงผลงานที่เข้าร่วมประกวดทุกชิ้น ณ หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 3-9 มิถุนายน 2554 และจะมีการตัดสินผลงานและทำการประกาศผลมอบรางวัลในช่วงเดือนสิงหาคม-ตุลาคม 2554 โดยในปีนี้สำนักส่งเสริมมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออกได้ตั้งเป้าจำนวนสินค้าที่สมัครเข้าร่วมโครงการจำนวนกว่า 321 รายการ ผู้ที่สนใจสามารถขอรับใบ สมัครและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก หรือดาวโหลดใบสมัครผ่านทางเวบไซต์ www.demarkaward.net สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 0-2621-7398 ต่อ 13, 15
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
กลุ่มงานพัฒนาการออกแบบและสร้างมูลค่าเพิ่ม
สำนักส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการส่งออก กรมส่งเสริมการส่งออก
คุณธิปติ ภัทรนาวิก
ม.ล.ภาสกร อาภากร
โทร 0-2507-8290,0-2507-8268
ที่ปรึกษางานประชาสัมพันธ์
บริษัท คูดี จำกัด
ศาตนันท์ สว่างเนตร (โอ๋)
นิมมิดา วรนิธิศ (แหม่ม)
ภวิตา ระวะนาวิก (เอ๊ะ)