กรุงเทพฯ--28 ก.พ.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศคงอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารออมสิน (GSB) ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (BAAC) และธนาคารอาคารสงเคราะห์ (GHB) ที่ระดับ ‘2’
ฟิทช์มองว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ธนาคารทั้ง 3 แห่งจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยในกรณีที่มีความจำเป็น โดยพิจารณาการสนับสนุนจากรัฐบาลที่ระบุไว้ในพระราชบัญญัติการจัดตั้งธนาคาร สัดส่วนการถือหุ้นทั้งหมดโดยรัฐบาล (BAAC ถือหุ้นโดยรัฐบาลไทยในสัดส่วน 99.8%) และบทบาทที่สำคัญของธนาคารต่อนโยบายภาครัฐ ธนาคารทั้ง 3 แห่งมีบทบาทในการดำเนินงานที่สำคัญต่อระบบสถาบันการเงินในประเทศไทย โดยเน้นให้การช่วยเหลือและสนับสนุนทางการเงินแก่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการรวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ ในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารทั้ง 3 แห่งได้ขยายพอร์ทสินเชื่ออย่างต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนนโยบายภาครัฐ
ถึงแม้ว่าธนาคารทั้ง 3 แห่งจะมีแหล่งเงินทุนในรูปแบบของการระดมเงินฝาก แต่ในอดีตที่ผ่านมารัฐบาลได้ให้การสนับสนุนในรูปของการเพิ่มทุนและการค้ำประกันหนี้ของธนาคาร ฟิทช์มองว่าการสนับสนุนดังกล่าวในกรณีที่มีความจำเป็นโดยทั่วไปจะต้องได้รับมติเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี แต่อย่างไรก็ตามรัฐบาลมีการติดตามดูแลสถานะทางการเงินของธนาคารทั้ง 3 แห่งอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าสามารถให้การสนับสนุนทางการเงินได้อย่างทันท่วงที
การปรับขึ้นของอันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารถูกจำกัดโดยอันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของรัฐบาลไทยที่ BBB แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนการถือหุ้นหรือการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างมีนัยสำคัญ อาจส่งผลกระทบต่ออันดับเครดิตสนับสนุนของธนาคารทั้งสามแห่งได้
GSB (มีสินทรัพย์รวม 1.32 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553) เป็นสถาบันการเงินที่ส่งเสริมการออมหลักของรัฐบาล ผลการดำเนินงานของ GSB ในช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2553 ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 14.5 พันล้านบาท (เพิ่มขึ้น 26% จากช่วงเก้าเดือนแรกของปี 2552) เนื่องจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่สูงขึ้นจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงตั้งแต่ปี 2552 โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลซึ่งส่วนใหญ่เป็นข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจและสินเชื่อรัฐวิสาหกิจ ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (Net interest margin) ทรงตัวอยู่ที่ระดับ 2.9% โดยส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับภาครัฐที่มีผลตอบแทนต่ำ แม้ว่าสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ GSB เพิ่มขึ้นเป็น 18.5 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (จาก 17.3 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2552) แต่อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 1.9% ของสินเชื่อรวม อย่างไรก็ตามอัตราส่วนดังกล่าวอาจปรับตัวเพิ่มขึ้นเนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อในระดับสูงและบทบาทของธนาคารในการสนับสนุนนโยบายรัฐบาล การสำรองหนี้สงสัยจะสูญของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 26.4 พันล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 หรือคิดเป็นอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ที่ 143% อัตราส่วนของส่วนผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของ GSB แม้ว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่องจากการเติบโตของสินเชื่อ ยังคงอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 8.4% (ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553)
BAAC มีสินทรัพย์รวม 761.6 พันล้านบาท ณ สิ้นครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2553 (ปีงบการเงินสิ้นสุดเดือนมีนาคม 2554) เป็นผู้ให้บริการด้านการเงินแก่ภาคการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย สำหรับช่วงครึ่งแรกของปี 2553 ธนาคารมีผลการดำเนินงานที่ค่อนข้างแข็งแกร่ง โดยมีกำไรสุทธิ 4.3 พันล้านบาท (เทียบกับ 4 พันล้านบาท ในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2552) โดยส่วนใหญ่เป็นผลมาจากรายได้ดอกเบี้ยจากสินเชื่อโครงการรัฐที่สูงขึ้นและการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิปรับตัวลดลงเป็น 4.0% ในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2553 เทียบกับ สิ้นปีงบการเงิน 2552 ที่ 4.8% เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของสินเชื่อที่ลดลง สำหรับช่วงครึ่งหลังของปีงบการเงิน 2553 ผลการดำเนินงานของ BAAC คาดว่าจะทรงตัวอยู่ในระดับใกล้เคียงกับผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2553 ณ สิ้นครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2553 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของ BAAC ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างสูงเป็น 62.4 พันล้านบาท หรือ 11.2% ของสินเชื่อรวม (เทียบกับ 42.5 พันล้านบาท หรือ 8.3% ณ สิ้นปีงบการเงินปี 2552) เนื่องจากเกษตรกรได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้งและการระบาดของศัตรูพืช ปัญหาน้ำท่วมในช่วงครึ่งหลังของปีงบการเงิน 2553 อาจส่งผลกระทบในเชิงลบมากยิ่งขึ้นต่อเกษตรกรและอาจส่งผลให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามการเพิ่มมาตรการในการช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลแก่เกษตรกรที่ประสบปัญหาและแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นน่าจะช่วยให้คุณภาพสินทรัพย์ของ BAAC อยู่ในระดับคงที่ อัตราส่วนส่วนของผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของ BAAC อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งที่ 10.2% ณ สิ้นครึ่งแรกของปีงบการเงิน 2553 แต่อย่างไรก็ตามสินเชื่อภาคการเกษตรของธนาคารเป็นสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูง ดังนั้นธนาคารจึงควรรักษาอัตราส่วนเงินทุนให้อยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง
GHB (มีสินทรัพย์รวม 678.9 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2553) เป็นผู้ให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยรายใหญ่ที่สุดในประเทศไทย โดยส่วนใหญ่เป็นการให้บริการสินเชื่อที่อยู่อาศัยแก่ผู้มีรายได้น้อยและข้าราชการรวมถึงพนักงานรัฐวิสาหกิจ โดยธนาคารมีส่วนแบ่งการตลาดสำหรับตลาดสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยที่ประมาณ 35% GHB มีผลการดำเนินงานโดยรวมในปี 2553 ที่ปรับตัวดีขึ้น โดยมีกำไรสุทธิตามงบการเงินยังไม่ได้ตรวจสอบอยู่ที่ 6.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 26.3% จากปีก่อน เนื่องจากต้นทุนทางการเงินและการตั้งค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ลดลง ถึงแม้ว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อจะอยู่ในระดับต่ำกว่า 2% สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคารยังคงอยู่ในระดับที่สูง แม้ว่าได้มีการปรับตัวลดลงเล็กน้อย โดย ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงเป็น 76.5 พันล้านบาท (11.6% ของสินเชื่อรวม) จาก 80.7 พันล้านบาท (12.4% ของสินเชื่อรวม) ณ สิ้นปี 2552 ธนาคารมีอัตราส่วนสำรองหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 63.7% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (54.4% ณ สิ้นปี 2552) อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้โดยรวมคาดว่าจะลดลงในปี 2554 เนื่องจากธนาคารมีแผนการจำหน่ายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้มูลค่า 5 — 7 พันล้านบาท อัตราส่วนของส่วนผู้ถือหุ้นต่อสินทรัพย์รวมของธนาคารอยู่ในระดับต่ำที่ 5.6% ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 อย่างไรก็ตามพอร์ทสินเชื่อที่อยู่อาศัยของ GHB เป็นสินเชื่อที่มีน้ำหนักความเสี่ยงต่ำกว่า