สมาคมประกันวินาศภัย พร้อมรับมือการยกเลิกสติ๊กเกอร์ เร่งประชาสัมพันธ์ มุ่งเป้าสร้างการรับรู้ และแนะวิธีปฏิบัติให้ประชาชน

ข่าวทั่วไป Monday May 21, 2007 16:12 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ค.--สมาคมประกันวินาศภัย
สมาคมประกันวินาศภัย ยืนยันความพร้อมเตรียมแผนรับมือการยกเลิกสติ๊กเกอร์ เร่งประชาสัมพันธ์ มุ่งเป้าสร้างการรับรู้ให้เกิดขึ้นกับประชาชน ผู้เอาประกันภัย ให้มีความรู้ ความเข้าใจ และให้คำแนะนำอย่างถูกต้องในวิธีการของผู้ใช้รถ เกี่ยวกับการทำประกันภัย พ.ร.บ. ตลอด จนการแก้ปัญหาเรื่องการแสดงหลักฐานการมีประกันภัยต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้ผู้ใช้รถ (ผู้เอาประกันภัย) เห็นความสำคัญเรื่องสิทธิของตน และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย
นายสุจินต์ หวั่งหลี นายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวว่าตามที่พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ได้ถูกแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย จากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 ยกเลิกเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ (Sticker) โดยมีผลใช้บังคับแล้วตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา และให้กรมการขนส่งทางบก มีอำนาจหน้าที่ต้องตรวจสอบให้มีการทำประกันภัยรถตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 ก่อน จึงรับจดทะเบียนรถยนต์หรือชำระภาษีรถยนต์ประจำปีได้ พร้อมทั้งได้กำหนดมาตรการรองรับหลักการในการยกเลิก “เครื่องหมาย” โดยกำหนดให้เจ้าของรถหรือผู้ใช้รถมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาหลักฐานแสดงการมีประกันความเสียหาย พร้อมที่จะแสดงต่อเจ้าพนักงานทุกครั้งที่ใช้รถ เว้นแต่รถคันดังกล่าวได้มีการจดทะเบียนหรือต่อภาษีรถประจำปีเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นการปฏิบัติแทนการติดเครื่องหมายไว้ที่รถตามกฎหมายปัจจุบัน กล่าวคือ เมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้เจ้าของรถจึงไม่ต้องนำเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ (Sticker) ไปติดแสดงที่หน้ารถอีกต่อไป
นายสุขเทพ จันทร์ศรีชวาลา อุปนายกสมาคมประกันวินาศภัย กล่าวยืนยันความพร้อมของธุรกิจต่อการเปลี่ยนแปลง พ.ร.บ. ในครั้งนี้ว่า สมาคมประกันวินาศภัย ได้เตรียมแผนรองรับในเรื่องดังกล่าว โดยวางแผนการประชาสัมพันธ์ทั้งในระยะสั้น (เร่งด่วน) และระยะยาว เพื่อสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับการยกเลิกเครื่องหมายฯ ตลอดจนชี้แจงวิธีการปฏิบัติในการทำประกันภัย พ.ร.บ. โดยทำการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ และยังได้ขอความร่วมมือจากบริษัทสมาชิกในการชี้แจงให้ลูกค้าทราบว่า การยกเลิกเครื่องหมายฯ หรือ สติ๊กเกอร์นี้เป็นการยกเลิกเรื่องเอกสารเท่านั้น แต่ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายที่กำหนดให้เจ้าของรถทุกคันจะต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. และไม่ได้ลดความคุ้มครองหรือลดความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด
นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ร่วมกับกรมการประกันภัย โรงพยาบาล/สถานพยาบาล และบริษัทกลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด พัฒนาระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (E-Claim System) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชนผู้ประสบภัยจากรถให้ได้ รับประโยชน์อย่างเต็มที่ ซึ่งได้มีการลงนามบันทึกความเข้าใจ เรื่องการใช้ระบบการจ่ายค่าสินไหมทดแทนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ร่วมกับโรงพยาบาล จำนวน 1,353 แห่ง เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2550 ที่ผ่านมา
นายนพดล เรืองจินดา ประธานคณะอนุกรรมการประกันภัยยานยนต์ กล่าวถึงแนวทางและการปฏิบัติของประชาชนหรือผู้ที่เป็นเจ้าของรถ จากการที่มีการยกเลิกเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถตาม พ.ร.บ. ฉบับใหม่ว่า ประชาชนหรือผู้ที่เป็นเจ้าของรถควรปฏิบัติเกี่ยวกับการทำประกันภัย พ.ร.บ. ดังนี้
1. ช่องทางการติดต่อขอซื้อประกันภัย
สามารถติดต่อซื้อประกันภัยรถยนต์ ตาม พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ กับบริษัทประกันวินาศภัย หรือตัวแทน /นายหน้าประกันภัย ตามช่องทางปกติที่เคยปฏิบัติได้เหมือนเดิม พร้อมนี้ เพื่อความสะดวกสำหรับผู้เอาประกันภัยเอง จึงขอความร่วมมือให้ผู้เอาประกันภัยซื้อกรมธรรม์ประกัน ภัยให้วันสิ้นอายุกรมธรรม์ประกันภัย ตรงกับวันสิ้นอายุภาษีรถประจำปี เพื่อจะได้จดจำง่ายและสะดวกในการต่อทะเบียนภาษีกับกรมการขนส่งทางบก ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้นายทะเบียนของกรมการขนส่งทางบกจะต้องมีการตรวจสอบว่ารถมีประกันภัยหรือไม่ก่อนรับจดทะเบียน
2. เอกสาร/หลักฐานการมีประกันภัย พ.ร.บ.ที่ผู้ใช้รถ (ผู้เอาประกันภัย) ต้องมี
บริษัทประกันวินาศภัย ยังคงมีหน้าที่ออกหลักฐานแห่งสัญญาเรียกว่า “กรมธรรม์ประกันภัย” ให้แก่ผู้เอาประกันภัยเพื่อใช้เป็นหลักฐานว่าได้มีการทำประกันภัยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถฯ ดังนั้น ประชาชนผู้เอาประกันภัยก็ควรจะเก็บกรมธรรม์ประกันภัยนี้ไว้ในรถ หากมีการขอตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจก็สามารถแสดงได้
3. ทำอย่างไรเมื่อมีผู้ประสบภัยจากรถ
เมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ผู้เห็นเหตุการณ์ควรนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล หรือสถาน พยาบาลที่ใกล้และสะดวกที่สุด เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว โดยแจ้งกับเจ้าหน้าที่ว่า ผู้บาดเจ็บได้รับอุบัติเหตุจากรถ และผู้ขับขี่รถหรือผู้อยู่ในเหตุการณ์ควรตรวจสอบในลิ้นชักรถว่ามีกรมธรรม์ประกันภัย พ.ร.บ. อยู่กับบริษัทอะไร เลขที่กรมธรรม์ประกันภัยเลขที่อะไร เพื่อแจ้งโรงพยาบาลและบริษัทได้ถูกต้อง ซึ่งในขณะนี้ภาคธุรกิจประกันภัย ได้มีการพัฒนาระบบการเรียกร้องค่าเสียหายเบื้องต้นเป็นระบบ E-Claim เพื่อสะดวกที่จะให้โรงพยาบาลเรียกร้องค่ารักษาพยาบาลจากบริษัทประกันภัยได้โดยตรง ช่วยให้ผู้ประสบภัยไม่ต้องกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล
นางนวลพรรณ ล่ำซำ ประธานคณะอนุกรรมการประกันภัยสัมพันธ์ กล่าวว่า เนื่องจากในขณะนี้ ยังมีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัย จากรถ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2550 โดยเฉพาะเรื่องการยกเลิกเครื่องหมายแสดงว่ามีการประกันความเสียหายสำหรับผู้ประสบภัยจากรถ ซึ่งเป็นการยกเลิกเรื่องเอกสารเท่านั้น แต่ไม่ได้ยกเลิกกฎหมายที่กำหนด ให้เจ้าของรถทุกคันจะต้องจัดให้มีการประกันภัย พ.ร.บ. และไม่ได้ลดความคุ้มครองหรือลดความสะดวกในการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนจากบริษัทประกันภัยแต่อย่างใด ดังนั้นสมาคมฯ จึงได้วางแผนประชาสัมพันธ์ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยเป็นโครงการเร่งด่วน เน้นการประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อต่างๆ เช่น โทรทัศน์ วิทยุ และกิจกรรมรณรงค์ต่างๆ อย่างทั่วถึง ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อสร้างการรับ รู้ให้เกิดขึ้นกับประชาชน ผู้เอาประกันภัย ให้มีความรู้ ความเข้าใจ พร้อมให้คำแนะนำอย่างถูกต้องในวิธีการของผู้ใช้รถ เกี่ยวกับการทำประกันภัย พ.ร.บ. ตลอดจนการแก้ปัญหาในเรื่องการแสดงหลักฐานการมีประกันต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์ให้ผู้ใช้รถ (ผู้เอาประกันภัย) ได้เห็นความสำคัญในเรื่องสิทธิของตน และให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปฏิบัติตามกฎหมาย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ