กรุงเทพฯ--21 มิ.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
บริษัท ฟิทช์ เรทติ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด จัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) หุ้นกู้ประเภทไม่มีหลักประกันและไม่ด้อยสิทธิชุดที่ 1/2550 ครบกำหนดไถ่ถอนปี 2553 ของบริษัท เอ็ม บี เค จำกัด (มหาชน) (MBK) มูลค่าไม่เกิน 3.0 พันล้านบาท ที่ระดับ ‘A-(tha)’ (A ลบ (tha)) เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะนำไปใช้ในการขยายธุรกิจหลักของบริษัท
อันดับเครดิตสะท้อนถึงสถานะและชื่อเสียงทางการตลาดของบริษัทที่มั่นคงในธุรกิจศูนย์การค้า และธุรกิจโรงแรมในกรุงเทพฯ ความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมีเสถียรภาพจากการดำเนินธุรกิจศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ รวมถึงกระแสเงินสดที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุนในโครงการใหม่ จุดแข็งของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ ได้แก่ ทำเลที่ตั้งและชื่อเสียงที่ดีของศูนย์การค้า จำนวนผู้เข้าใช้บริการศูนย์การค้าที่มาก ฐานผู้เช่าพื้นที่ในศูนย์การค้าที่หลากหลาย รวมถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่แตกต่างจากศูนย์การค้าอื่นที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ใกล้เคียง ซึ่งปัจจัยบวกเหล่านี้ช่วยส่งเสริมความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งของศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ (คิดเป็นสัดส่วนประมาณสองในสามของกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า (EBITDAR) ของกลุ่ม) และช่วยลดทอนผลกระทบจากการแข่งขันที่มากขึ้นในธุรกิจศูนย์การค้า ในช่วงสามปีที่ผ่านมา EBITDAR ของบริษัทค่อนข้างมั่นคงอยู่ในระดับประมาณ 1.3 พันล้านบาท ถึง 1.5 พันล้านบาท
อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงสถานะทางการเงินที่ค่อนข้างแข็งแกร่งของ MBK โดยบริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา ค่าตัดจำหน่าย และค่าเช่า ย้อนหลัง 12 เดือน (Net Debt/LTM EBITDAR) อยู่ที่ 2.0 เท่า ณ สิ้นงวดเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2550 เทียบกับ 2.1 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2549 (สิ้นสุดเดือนมิถุนายน 2549) และ 3.0 เท่า ณ สิ้นปีงบการเงิน 2548 ถึงแม้บริษัทจะมีหนี้สินระยะสั้นอยู่ในระดับสูง (ประมาณ 78% ของหนี้สินทั้งหมด ณ สิ้นงวดเก้าเดือนแรกของปีงบการเงิน 2550) บริษัทน่าจะสามารถรักษาสภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่สามารถบริหารจัดการได้ โดยมีปัจจัยสนับสนุนมาจากเงินสดในมือจำนวน 176 ล้านบาท ณ สิ้นเดือนมีนาคม 2550 และการที่บริษัทมีความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดที่แข็งแกร่งและมั่นคงจากธุรกิจหลัก รวมถึงความสามารถของบริษัทในการระดมทุนผ่านตลาดทุนในประเทศ
ในเดือนพฤษภาคม 2550 คณะกรรมการบริษัทของ MBK ได้มีมติเห็นชอบให้บริษัทเข้าทำการต่อสัญญากับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นผู้ให้เช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างซึ่งเป็นที่ตั้งของโครงการพัฒนาที่ดินบริเวณสี่แยกปทุมวัน อันประกอบไปด้วย ศูนย์การค้า เอ็ม บี เค เซ็นเตอร์ เอ็ม บี เค ทาวเวอร์ และโรงแรมปทุมวัน ปริ๊นเซส ต่อไปอีกเป็นเวลา 20 ปีนับจากวันที่สัญญาเช่าเดิมจะหมดอายุลงในปี 2556 ค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างภายใต้เงื่อนไขสัญญาเช่าใหม่จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลักคือ 1) ค่าเช่าจ่ายล่วงหน้า (Upfront Payment) เป็นเงินจำนวน 2.6 พันล้านบาท ซึ่งสามารถแบ่งชำระได้เป็น 4 งวดในช่วง 18 เดือนนับจากวันที่ทำสัญญา และ 2) ค่าเช่ารายปี (Annual Rental Fee) คิดเป็นจำนวนเงินรวมทั้งสิ้น 2.28 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งจ่าย 20 งวดเริ่มตั้งแต่ปี 2556 ถึงปี 2575 นอกจากนี้ MBK ยังมีข้อผูกมัดในเงื่อนไขสัญญาใหม่กับผู้ให้เช่าว่าจะมีการจ่ายส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) เพิ่มเติมในอัตรา 5% ของรายได้ที่เกินกว่าประมาณการที่ทางผู้ให้เช่าได้ประเมินไว้ โดยคิดจากฐานรายได้รวมของโครงการรวมทุก 5 ปี และบริษัทยังตกลงที่จะตั้งงบประมาณเพื่อใช้ในการซ่อมบำรุงอาคารศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงแรมที่ตั้งอยู่บนที่ดินที่ให้เช่าจำนวน 1.2 พันล้านบาทภายในปี 2561
เงินที่ได้จากการออกหุ้นกู้ในครั้งนี้ส่วนใหญ่จะนำไปใช้เพื่อชำระเงินค่าเช่าล่วงหน้าภายใต้เงื่อนไขของสัญญาเช่าใหม่ ในขณะที่บริษัทคาดว่าน่าจะสามารถใช้กระแสเงินสดจากการดำเนินงานในการชำระค่าเช่ารายปีได้ การต่อสัญญาเช่าใหม่นี้น่าจะทำให้อัตราส่วน Net Debt/EBITDAR ของบริษัทปรับเพิ่มสูงขึ้นจากค่าเฉลี่ยในระยะยาวที่ 3.0 เท่าเป็นการชั่วคราวในช่วงสองถึงสามปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามที่ฟิทช์ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
ปัจจัยเสี่ยงที่อาจลดทอนความแข็งแกร่งของอันดับเครดิตของ MBK ได้แก่ การที่ธุรกิจหลักของบริษัทมีความผันผวนต่อวัฏจักรเศรษฐกิจและเหตุการณ์ที่อาจส่งผลกระทบในทางลบต่อภาคธุรกิจท่องเที่ยว รวมถึงการที่บริษัทมีเงินลงทุนในการลงทุนที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจหลักอยู่ในระดับที่สูง โดยบริษัทได้ถือครองหุ้นในบริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP) ในระดับที่สูง
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
ติดต่อ: โสมสิริ ชฎาวัฒน์, วสันต์ ผลเจริญ, Vincent Milton +662 655 4755
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน